กองกำลังต่อต้านฯ ผลักดันทหารเมียนมากว่า 600 คน ออกจากเมืองชายแดนเมียนมา-ไทย
2024.04.08
กระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุเมื่อวันจันทร์ว่า กองทัพทหารเมียนมาขอความช่วยเหลืออพยพทหารและครอบครัวผ่านชายแดนไทย หลังถูกกลุ่มต่อต้านโจมตีจนต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ชายแดนเมืองเมียวดี
กระทรวงการต่างประเทศไทย ระบุว่า “ภายหลังได้รับคำขอดังกล่าว และคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วน และมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องอพยพบุคลากรของเมียนมา พร้อมครอบครัว ไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอของฝ่ายเมียนมา ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม”
รายงานของสื่อไทยระบุว่า มีบุคลากรประมาณ 617 ราย ประกอบด้วยทหาร 410 นาย และครอบครัว 207 ราย ที่ขอความช่วยเหลือในการอพยพ
นักธุรกิจท้องถิ่นรายหนึ่งกล่าวว่า ตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา กองกำลังผสมฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดตากของไทย ได้ปิดที่ทำการของรัฐบาลทหารในพื้นที่เมืองเมียวดีที่เป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ
“ที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ด้วย ด่านตรวจคนเข้าเมืองยังมีการออกเอกสารการเข้าเมืองเป็นหนังสือผ่านแดนตามปกติ” เขากล่าว โดยขอไม่ระบุชื่อของตนเองเนื่องจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย “แต่กลับไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สำนักงานฝ่ายความมั่นคงทหาร และสำนักงานสอบสวนพิเศษที่สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 แต่อย่างใด”
สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 เป็นสะพานเมืองชายแดนที่เชื่อมต่อระหว่าง อ.แม่สอดของไทยกับเมืองเมียวดีของเมียนมา โดยรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมาเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่เปิดทำการอีกครั้งเมื่อปี 2566 หลังปิดยาวถึงสามปี
นับตั้งแต่ที่กระทรวงการต่างประเทศไทยออกแถลงชี้แจงดังกล่าว ทางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอื่น ๆ ที่ต่อต้านรัฐประหาร หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน และกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ยังไม่มีการออกแถลงการณ์ใด ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าควบคุมเมืองเมียวดี
โดยทางกลุ่มต่อต้านออกแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ ว่าได้เข้าควบคุมหมู่บ้านทินกันยีหน่อง ในเมืองเมียวดี ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดน 12 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อปี 2566 ทางกลุ่มเข้ายึดภูเขาที่สามารถมองเห็นเมียวดีและเข้าควบคุมทางหลวงสายเอเชียของเมืองเมื่อเดือนธันวาคมในปีเดียวกัน
รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ถึงแม้การเข้ายึดพื้นที่ต่าง ๆ ตามแนวชายแดนของกลุ่มต่อต้านอาจส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง แต่ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาเองก็ยังคงเป็นผู้ควบคุมเส้นทางการค้าและฐานที่มั่นทางทหารที่สำคัญอยู่
“ตอนนี้ กลุ่มต่อต้านมีอำนาจเหนือสภาบริหารแห่งรัฐในพื้นที่และจะกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ทรงอิทธิพลที่นี่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทัพเมียนมาจะพ่ายแพ้ในการปกป้องเมืองเมียวดี แต่กลุ่มต่อต้านยังไม่ได้เข้าควบคุมค่ายทหารแห่งอื่นในรัฐกะเหรี่ยง และศูนย์บัญชาการกองทัพภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่เมืองมะละแหม่ง”
ช่วยเหลือทุกฝ่าย
กระทรวงการต่างประเทศไทยรายงานว่า มีเที่ยวบิน 1 เที่ยวบิน จากเมียนมามาลงที่ท่าอากาศยานแม่สอดเมื่อวันอาทิตย์ โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่า มีเจ้าหน้าที่ขึ้นเครื่องหรืออพยพตามคำขอทุกคนหรือไม่ เพียงแต่กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาแจ้งยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือสำหรับวันจันทร์และอังคารแล้ว
พร้อมกับกล่าวว่า ในวันอังคาร จะมีการประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อ “ประเมินสถานการณ์” และ“กำหนดแนวทางการดำเนินการของไทยต่อไป”
หน่วยเฉพาะกิจราชมนูของไทย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา จ.ตาก ย้ำจุดยืนความเป็นกลางของประเทศไทยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมา
พ.อ. ณัฐกร เรือนติ๊บ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ให้สัมภาษณ์เรดิโอฟรีเอเชียว่า ประเทศไทยปฏิบัติตามหลักการด้านมนุษยธรรม โดยจะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ว่าจะฝ่ายกองทัพพม่าหรือกองกำลังชาติพันธุ์ แต่เราจะให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น” พร้อมกับกล่าวด้วยว่า “ทหาร ไม่ว่าจะอยู่โดยไม่คำนึงถึงความเกี่ยวข้องทางการเมือง จะถูกปลดอาวุธ พร้อมความช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน และส่งกลับประเทศบ้านเกิด
“ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มใดทางการเมือง เราจะยึดอาวุธของทหารทุกคน พร้อมกับให้ความช่วยเหลือขั้นพื้นฐานและส่งตัวกลับไปยังประเทศของตนในภายหลัง”
เรดิโอฟรีเอเชียติดต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อขอความเห็น แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการทางการเมือง วิเคราะห์ว่า การที่กองทัพชาติพันธุ์มีอำนาจควบคุมชายแดนมากขึ้นนั้น ทางการไทยจะต้องประเมินถึงแนวทางการปฏิบัติงานของตนในแม่สอดใหม่
“ใครคุมสะพาน คนนั้นคุมคนเข้าเมือง” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าว พร้อมเสริมว่า กลุ่มใหม่อาจมีความยืดหยุ่นมากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร “ดังนั้น ทางการไทยจะต้องเจรจากับกลุ่มใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้มีการข้ามพรมแดนผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น”