เจ้าหน้าที่การทูตเมียนมา พบเจ้าหน้าที่ไทย-อินโดนีเซีย ครั้งแรกหลังรัฐประหาร

อินโดฯบอก เมียนมาต้องฟังคนเมียนมา และได้พูดกับสมาชิกรัฐสภาเมียนมา
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ รอนนา เนอร์มาลา
2021.02.24
กรุงเทพฯ และจาการ์ตา
เจ้าหน้าที่การทูตเมียนมา พบเจ้าหน้าที่ไทย-อินโดนีเซีย ครั้งแรกหลังรัฐประหาร นางเร็ดโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย (คนซ้าย) คุยกับนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ขณะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศไทย นั่งฟัง ในระหว่างการพบกันที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศดอนเมือง ในกรุงเทพฯ วันที่ 24 ก.พ. 2564
ภาพจาก กระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย/รอยเตอร์

รัฐบาลทหารเมียนมาต้องฟังเสียงประชาชนของตนเอง รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียบอกแก่ รมว.ต่างประเทศเมียนมา ในกรุงเทพฯ เมื่อวันพุธ ขณะมีการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรก ระหว่างสมาชิกระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมากับรัฐบาลต่างประเทศ นับตั้งแต่เหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

นางเร็ดโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายวันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา พบกันในเวลาสั้น ๆ ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศดอนเมือง หลังจากที่เธอต้องเลื่อนแผนการเดินทางเยือนเมียนมาออกไป เธอบอกในงานแถลงข่าวสื่อมวลชนทางออนไลน์ หลังการพบกันดังกล่าว

นางเร็ดโนกล่าวว่า เธอบอกแก่นายวันนะ หม่อง ลวิน ว่า “ความต้องการของประชาชนชาวเมียนมาต้องได้รับการรับฟัง” และเรียกร้องให้เกิด “กระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นประชาธิปไตยและรับฟังเสียงของทุกฝ่าย”

“[เรา]จำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ โดยใช้วิธีสนทนากัน ปรองดองกัน และสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” เธอกล่าว “ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนชาวเมียนมา เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด” เธอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย อย่าใช้ความรุนแรง และขอให้รัฐบาลทหารอนุญาตให้ “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปถึงผู้ถูกกักขังและให้มีการเยี่ยมผู้ถูกกักขัง”

นางเร็ดโนกล่าวว่า เธอยังได้จัดการพูดคุยหารือ “อย่างเข้มข้น” กับคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (Committee of Representing Pyidaungsu Hluttaw หรือ CRPH) รัฐสภาเงาที่ตั้งขึ้นโดยสมาชิกนิติบัญญัติของพม่า ที่ได้รับการเลือกตั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งรัฐบาลทหารอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น 

รมว.ต่างประเทศของเมียนมายังเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ในการประชุมภายในเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันพุธด้วย

“เราในฐานะมิตรประเทศก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน ก็สุดแล้วแต่จะเป็นอย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ บอกแก่ผู้สื่อข่าวหลังการประชุมนั้น

“ทั้งนี้เราก็เป็นกำลังใจ ในฐานะประเทศหนึ่งในอาเซียน ที่ต้องทำให้เกิดความร่วมมือ รวมทั้งส่งกำลังใจให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แผนเยือนเมียนมา ถูกเลื่อนออกไป

อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมฯ ได้พยายามผลักดันทางการทูต เพื่อให้บรรดาประเทศเพื่อนบ้าน มีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น ในการจัดการเกี่ยวกับเหตุรัฐประหารในเมียนมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นางเร็ดโนได้เดินทางไปเยือนบรูไน ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และสิงคโปร์

เธอมีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนเมียนมาในวันพฤหัสบดี โดยการเยือนครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของเจ้าหน้าที่การทูตต่างประเทศ นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหาร แต่การเยือนดังกล่าวต้องถูกเลื่อนออกไป เธอกล่าว “การเลื่อนครั้งนี้ไม่ได้ลดทอนความตั้งใจที่จะเริ่มสื่อสารกับทุกฝ่ายในเมียนมา รวมทั้งกับรัฐบาลทหารของเมียนมา และ CRPH” นางเร็ดโนกล่าวเมื่อวันพุธ 

นายเตอกู ไฟซาสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า เวลาดังกล่าว “ไม่เหมาะ” สำหรับการเยือนในเมียนมา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวพันธมิตรแห่งชาติอนาคต (Future Nation Alliance) ไม่เห็นด้วยกับการเยือนที่กำหนดไว้ดังกล่าว โดยบอกว่า “เท่ากับเป็นการยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมา” โดยเริ่ม “การสื่อสารอย่างเป็นทางการกับผู้กระทำการรัฐประหาร”

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพทหารเมียนมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และจับกุมตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือน และบุคคลอื่น ๆ กองทัพประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างว่า เพื่อจัดการกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ที่มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ นางอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย ตามรายงานจากเจ้าหน้าที่นับคะแนนการเลือกตั้ง 

นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหาร ชาวเมียนมาได้ออกมาเคลื่อนไหวขัดขืนและชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหาร การชุมนุมดังกล่าวยังคงมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ประกาศเคอร์ฟิว และมีการสังหารผู้คนอย่างน้อยสามคน โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงที่พยายามปราบปรามการประท้วง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง