ผู้อพยพชาวเมียนมาต้องแบกรับต้นทุนราคาแพง เพื่อลี้ภัยมาไทย

เพื่อหนีภัยสงคราม-ความยากแค้น ผู้อพยพเมียนมากว่าหมื่นคน ต้องเผชิญความเสี่ยงนานับประการ ตลอดเส้นทางลอบข้ามแดนเข้าไทย
เคียนา ดันแคน และภิมุข รักขนาม สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.09.13
ผู้อพยพชาวเมียนมาต้องแบกรับต้นทุนราคาแพง เพื่อลี้ภัยมาไทย เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันประเทศ 2 นาย เดินตรวจตราบนสะพานมอญ เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม ในตัวเมืองสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี วันที่ 17 สิงหาคม 2567
เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย

เมื่อ จินเมียวยู (Zin Myo Yu) ควักเงินก้อนหนึ่งเป็นค่าลักลอบเดินทางเข้าไทยโดยใช้เส้นทางจากรัฐมอญของเมียนมา เธอเข้าใจดีว่าค่าตอบแทนสุดงามที่จะได้รับจากอาชีพสาวโรงงานในฝั่งไทยนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงมหาศาล

“คนไม่มีเงิน คือไม่มีจริง ๆ ถ้าถูกโกงก็คือตามนั้น [เงิน]หายหมด มันเป็นปัญหาเพียงหนึ่งเดียวนับตั้งแต่นั้น” เธอกล่าว

หญิงสาวนามว่า จินเมียวยู จ่ายเงินค่านายหน้าจำนวน 20,000 บาท (590 เหรียญสหรัฐ) เพื่อแลกกับการเดินทางเข้าไทย เธอนอนอยู่บนรถที่แล่นไปตามท้องถนนหลายวันก่อนจะถึงจุดหมายปลายทางบริเวณชายแดนไทย-เมียนมาอย่างปลอดภัย หลังจากนั้นเธอจึงเริ่มลงหลักปักฐานในพื้นที่ใกล้เคียง

แม้เธอจะประสบความยากลำบากมากมายกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง แต่เธอรู้ดีว่า ผู้อพยพคนอื่น ๆ อาจต้องผจญความเสี่ยงและภัยอันตรายหนักหนายิ่งกว่า

“ก่อนหน้านี้ ตำรวจจะเปิดดูกล่องและหีบห่อทุกอย่างที่อยู่บนรถ ถ้าหากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจเจอก็จะถูกส่งกลับ” เธอเล่าถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจบริเวณชายแดนไทยคอยตรวจสอบยานพาหนะเข้า-ออก เพื่อดูว่ามีการลักลอบขนคนข้ามฝั่งมาหรือไม่

“แต่ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพวกรถบรรทุกด้วยการเอาแท่งโลหะแหลม ๆ ทิ่มเข้าไป” 

จินเมียวยู อธิบายถึงวิธีการลักลอบข้ามเขตแดน ซึ่งบางครั้งจะใช้วิธีให้คน 6 คน อัดกันอยู่ในลังไม้ท้ายรถบรรทุก จากนั้นจึงลักลอบเดินทางเข้ามายังไทย

“ถ้ารถบรรทุกคันนั้นโดนตรวจ คุณก็อาจจะถูกแทงได้ คุณพระ ไม่อยากจะนึกภาพเลย”

pic 2.jpeg
ในช่วงปีที่ผ่านมามีชาวเมียนมากว่าร้อยราย เสียชีวิตบนทางหลวงหมายเลข 323 เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ระหว่างการลักลอบเข้าเมือง ภาพถนนช่วงดังกล่าวถ่ายใกล้กับด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี วันที่ 17 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

ความเสี่ยงสูงลิบจากการลักลอบข้ามแดน

การเดินทางข้ามแดนเพื่อมาแสวงหาชีวิตใหม่ในไทย ถือเป็นสิ่งชาวเมียนมาใฝ่หามาโดยตลอด แต่การรัฐประหารเมื่อปี 2564 ที่ตามมาด้วยการประท้วงของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย อันนำไปสู่สงครามกลางเมือง ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานระลอกใหญ่ของชาวเมียนมาสู่ดินแดนไทย แม้ว่ารัฐบาลทหารเมียนมาและทางการไทยได้พยายามหยุดยั้งการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพแล้วก็ตาม

ไม่มีใครทราบจำนวนของชาวเมียนมาที่พยายามหลบหนีเข้าสู่เขตไทยผ่านบริเวณชายแดนซึ่งมีความยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร (1,500 ไมล์) แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิและแรงงานระบุว่ามีอย่างน้อยหลักหมื่นคน พวกเขาต้องการหลบหนีชีวิตภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร สงคราม การบังคับเกณฑ์ทหาร และเศรษฐกิจที่พังทลาย

ปัจจุบัน กองทัพเมียนมาเพิ่มมาตรการคุมเข้มการเดินทางออกนอกประเทศของคนหนุ่มสาว ปิดจุดผ่านแดน และเพิ่มความเข้มงวดด้านกระบวนการเคลื่อนย้ายแรงงาน มาตรการเหล่านี้ทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากแสวงหาวิธีการข้ามเขตแดนโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ซึ่งห่างไกลจากสายตาของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทั้งสองประเทศ

ตลอดแนวป่าเขาอันกว้างใหญ่ที่โอบล้อมพื้นที่ทางตะวันออกของเมียนมาบริเวณรัฐมอญและรัฐกะเหรี่ยง พรมแดนธรรมชาติเหล่านี้ช่วยบดบังให้คนที่ต้องการหาช่องทางข้ามเขตแดนมายังจังหวัดในภาคตะวันตกของไทยจากสายตาของเจ้าหน้าที่ได้

pic 3.jpeg
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถที่บริเวณจุดตรวจแห่งหนึ่งใน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

กระนั้น การเดินทางเหล่านั้นมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายแสนสาหัสและมีราคาที่ซ่อนอยู่ อาทิ อุบัติเหตุจากการเดินทางโดยรถ เรือ หรือการเดินเท้า ที่เกิดขึ้นบ่อยเป็นปกติ รวมถึงการถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บ 

สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นโดยไม่มีการรายงานและถูกละเลยจากเจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัครซึ่งกำลังติดตามการอพยพของชาวเมียนมาให้ข้อมูลกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือของเบนาร์นิวส์

ค่าใช้จ่ายสำหรับการลักลอบข้ามแดนอาจสูงถึง 30,000 บาท (900 เหรียญสหรัฐ) บางคนถึงกับต้องนำบ้านและที่ดินไปจำนองเพื่อแลกเงินสดมาเป็นค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ผู้อพยพจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องพบหายนะเป็นจุดจบ ระหว่างการเดินทางสู่ชีวิตใหม่ในไทย 

ค่าผ่านทางที่ต้องจ่ายด้วยชีวิต

นายขวัญชัย ถิระศิลป์ อาสาสมัครจากมูลนิธิกู้ภัยกาญจนบุรี ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลที่ เขาทำงานในฐานะผู้ปฏิบัติการกู้ชีพเบื้องต้น บนเส้นทางทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 (ถนนแสงชูโต) ซึ่งเป็นทางหลวงเส้นหลักที่ทอดยาวไปตลอดพื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี และเป็นเส้นลักลอบผ่านแดนเข้าสู่ประเทศไทยที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่ผู้อพยพชาวเมียนมา

นายขวัญชัยเล่าว่า นายหน้าที่รับเงินจากผู้อพยพเพื่อนำทางผู้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทย โดยใช้เส้นทางในป่าเป็นที่กำบัง มักซ่อนพวกเขาไว้ท้ายรถบรรทุก จากนั้นจึงขับรถบรรทุกเหล่านั้นข้ามมายังเขตไทย บ่อยครั้งที่นายหน้าเหล่านี้คือสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ

เขากล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่บนถนนเส้นนี้ เขาพบเห็นอุบัติเหตุที่ “น่าสะพรึงกลัว” หลายเหตุการณ์ เนื่องจากคนขับรถบรรทุกมักใช้ความเร็วบนถนนที่คดเคี้ยว เพื่อหลบหนีสายตรวจลาดตระเวนและหลีกเลี่ยงจุดตรวจตามแนวชายแดน

map.png

นายขวัญชัยคาดว่า เฉพาะในเขตพื้นที่ที่เขารับผิดชอบ มีผู้อพยพชาวเมียนมาอย่างน้อย 100 ราย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบขนคนเข้าเมืองในช่วงปีที่ผ่านมา

“ปกติแล้วคนเมียนมาข้ามฝั่งมาไทยทั้งครอบครัว บางครั้งเราพบว่าหลายคนตายหรือบาดเจ็บในช่วงเวลาเดียวกัน ครั้งหนึ่งผมเจอว่ามี 5 คนคอขาดในอุบัติเหตุเดียวกัน” เขากล่าว

“เมื่อเดือนที่แล้ว เกิดเหตุเรือล่มในอ่างเก็บน้ำเขาแหลม มีผู้อพยพ 6 หรือ 7 คนตาย ร่างของพวกเขาลอยขึ้นมาทีละคน ๆ”

แต่ถึงกระนั้น กระแสการหางานในไทยของชาวเมียนมากลับไม่มีท่าทีว่าจะลดลง

pic 5.jpeg
ป่าทึบในอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี พื้นที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ป่าไม้เผยว่า สามารถจับกุมกลุ่มลักลอบขนผู้อพยพชาวเมียนมาข้ามพรมแดน และควบคุมตัวส่งให้ตำรวจได้บ่อยครั้ง วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

“การลักลอบขนคนเข้าเมืองผ่าน จ.กาญจนบุรี มีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่า นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเมียนมาทำรัฐประหาร และการออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารปีนี้ยิ่งเป็นการราดน้ำมันลงกองไฟให้สถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองยิ่งรุนแรง” นายขวัญชัย ระบุ

โซลินออง (Soe Lin Aung) นักเคลื่อนไหวที่ทำงานในองค์กรเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางและการติดตามผู้อพยพตามแนวชายแดนให้ข้อมูลว่า เมื่อผู้อพยพเดินทางถึงไทย การติดตามตัวพวกเขาจะทำได้ยากขึ้น 

โซลินออง ผู้ขอใช้นามแฝงเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย ให้ข้อมูลโดยอ้างอิงจากสองกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้น กรณีแรกเกี่ยวข้องกับผู้ชายและผู้หญิงอีกหนึ่งรายที่เดินทางมาถึงไทย แต่กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถติดต่อพวกเขาได้

“เราหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมพวกเขาถึงหายตัวไป” เขากล่าว “กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางที่พวกเขาต้องการก็ถือเป็นการเดินทางที่ยาวนาน และเรายังยืนยันไม่ได้ว่ามีอีกกี่คนที่ประสบเหตุเช่นนี้ในอดีต”

pic 6.jpeg
นายขวัญชัย ถิระศิลป์ อาสาสมัครจากมูลนิธิกู้ภัยกาญจนบุรี (ซ้าย) เข้าประจำจุดรวมพลของเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

อีกหนึ่งภัยอันตรายสำหรับผู้อพยพที่ลักลอบเข้าเมือง ที่ต้องใช้เส้นทางยาวไกลตามแนวป่าและใช้เวลาเดินทางผ่านป่าเขานานนับเดือน ก็คือโรคมาลาเรีย โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ 

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเผยว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เพิ่มขึ้นจนทำสถิติสูงสุดในรอบทศวรรษ โดยจากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยระบุว่า มีชาวต่างชาติจำนวน 870 ราย ติดเชื้อมาลาเรียในรอบ 8 เดือนของปีนี้ เทียบกันกับระยะเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว พบชาวต่างชาติป่วยเป็นโรคมาลาเรีย 720 ราย 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชื่อว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ลงรายละเอียดว่า ชาวต่างชาติที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียมีสัญชาติใดบ้าง แต่แพทย์เจ้าของคลินิกใกล้กับจุดผ่านแดนด่านเจดีย์สามองค์ ระบุว่า คนไข้ที่มารักษากับเขาถือสัญชาติเมียนมา ท่ามกลางการระบาดของโรคมาลาเรียที่มีจำนวนสูงขึ้น ทั้งนี้แพทย์รายดังกล่าวเชื่อว่า หลายคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรียไม่ได้มาเข้ารับการรักษา

“ผมคิดว่ามี [ผู้ป่วย]จำนวนมาก บางคนอาจจะรักษาโดยการซื้อยามากินเอง” นายแพทย์ศักดา เนเต็ก กล่าว

pic 7.jpeg
เจ้าหน้าที่เผยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้อพยพชาวเมียนมาจมน้ำเสียชีวิตถึง 6 ราย ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม จ.กาญจนบุรี วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

ผู้อพยพขยับลงใต้หาเส้นทางที่ปลอดภัยกว่า

แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและสาเหตุอื่น ๆ ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี จะมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้น แต่ตำรวจไทยกลับปฏิเสธว่า ไม่พบแรงงานข้ามชาติเปลี่ยนเส้นทางข้ามแดนลงใต้ห่างออกไปจากจุดข้ามแดนด่านเจดีย์สามองค์ ที่อำเภอสังขละบุรี 

“เราไม่พบปัญหา ยังไม่มีแรงงานข้ามชาติคนไหนเดินทางข้ามไกลขนาดนั้น ระยะทางมันไกลมากถ้านับจาก อ.สังขละบุรี” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งในอำเภอไทรโยค จ.กาญจนบุรี กล่าว

อย่างไรก็ดี โซลินออง อาสาสมัครและนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ระบุว่า การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารในรัฐกะเหรี่ยงในปีนี้ ส่งผลให้ผู้อพยพหลีกเลี่ยงการข้ามเขตแดนบริเวณจุดผ่านแดนหลักของทั้งสองประเทศ (ด่านแม่สาย จ.ตาก และด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี) ลงมายังพื้นที่ทางตอนใต้ของ จ.กาญจนบุรี 

pic 8.jpeg
จุดตรวจของทหารเมียนมาบริเวณใกล้กับจุดผ่านแดนด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี วันที่ 18 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

กลุ่มเครือข่ายของโซลินอองให้ความช่วยเหลือด้านเส้นทางข้ามเขตแดนอย่างไม่เป็นทางการ โดยใช้เส้นทางบริเวณชายแดนทางฝั่งเมียนมาซึ่งควบคุมโดยกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร

“เราเปิดช่องทางนี้เพราะแรงงานข้ามชาติที่พบเจอกับประสบการณ์ยากลำบากต่างกันไป” เขากล่าว “บ้านเรือนพวกเขาอาจจะถูกกองทัพเมียนมาเผาทำลาย จนทำให้ครอบครัวต้องพลัดพราก บ้านแตกสาแหรกขาด”

หลังจากบันทึกข้อมูลของผู้อพยพที่เดินทางมาถึงฝั่งไทยแล้ว นักเคลื่อนไหวผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบจะให้คำแนะนำด้านความปลอดภัยแก่ผู้อพยพ

“ไม่ว่าอย่างไร พวกเขาก็จะข้ามชายแดนมาแน่นอน พวกเราจึงให้ความช่วยเหลือและเป็นผู้เปิดประตูให้แก่พวกเขา”

เมื่อข้ามเขตมายังไทยแล้ว ผู้อพยพต้องเดินทางต่ออีกกว่า 350 กิโลเมตร (220 ไมล์) เพื่อเข้าสู่ศูนย์กลางของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงเมืองอุตสาหกรรมอย่าง จ.สมุทรสาคร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่ง ทั้งสองเมืองนี้คือ แหล่งหางานในด้านภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการประมง

โซลินอองกล่าวว่า ตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา ชาวเมียนมากว่า 60,000 คน เดินทางมายังไทยผ่านช่องทางเดียว เขาและองค์กรต้นสังกัดหวังว่า การเก็บรวบรวมข้อมูลจะช่วยสร้างความเป็นระเบียบและความปลอดภัยให้แก่การหลั่งไหลเข้ามาของชาวเมียนมา

“ระหว่างทางมีความยากลำบากมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิง พวกเขาอาจถูกลักพาตัวหรือถูกข่มขืนโดยกลุ่มนายหน้า กลุ่มนายหน้าทั้งโกงและหลอกลวงคน” เขากล่าว เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มนายหน้าลักลอบขนคนเข้าเมืองได้ทอดทิ้งกลุ่มผู้อพยพหลังเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะกลัวความผิดตามกฎหมาย

pic 9.jpeg
จุดผ่านแดนด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้ปิดชั่วคราว วันที่ 17 สิงหาคม 2567 (เคียนา ดันแคน/เรดิโอฟรีเอเชีย)

โซลินอองบันทึกชื่อและข้อมูลติดต่อของผู้อพยพที่เดินทางมาถึง รวมถึงบันทึกข้อมูลนายหน้าที่นำพวกเขาข้ามมายังไทย องค์กรของโซลินอองให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวเมียนมามากกว่า 350 คน จากแก๊งค้ามนุษย์ที่มีจุดมุ่งหมายจัดหาแรงงานให้กับแก๊งหลอกลวงทางออนไลน์หรือแก๊งคอลเซนเตอร์ โดยแก๊งคอลเซนเตอร์เหล่านี้มีแหล่งซ่องสุมอยู่บริเวณชายแดนเมียนมา และ สปป.ลาว นอกจากนี้ โซลินอองยังระบุว่า เขาให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวเมียนมาให้สามารถติดต่อกับครอบครัวซึ่งอาศัยอยู่ในไทยได้อีกครั้ง

สำหรับจินเมียวยูแล้ว เส้นทางการอพยพเข้ามาในไทยนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก จนเธอรู้สึกว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เธอเกือบจะยอมแพ้และกลับไปยังที่ที่เธอจากมา แต่เมื่อคิดต่อไปก็พบว่าการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิด อาจลำบากไม่แพ้กับการเดินต่อไปข้างหน้า เธอจึงต้องกัดฟันสู้

จินเมียวยู รู้สึกดีใจที่เธอผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ สามีของเธอได้งานด้านการปรับแต่งภูมิทัศน์และการก่อสร้าง เจ้านายของสามีเธอก็ใจดี และที่สำคัญกว่านั้น ลูกสาวตัวน้อยของเธอซึ่งมีอายุเพียงไม่กี่สัปดาห์จะเติบโตขึ้นมาโดยได้รับสิทธิอย่างเต็มที่ในประเทศไทย

“เธอเกิดที่นี่ เธอเลยได้สัญชาติไทย แม้ว่าตัวเราเองจะไม่ได้สัญชาติ แต่สำหรับลูกแล้ว นี่ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ที่นี่ เธอจะมีโอกาสมากมาย แต่ที่นั่น เธอไม่มี” จินเมียวยู หมายถึงเมียนมาซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ “ลูกโอเค ฉันโอเค พวกเราจะอยู่ที่นี่”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง