กลุ่มต้านรัฐบาลทหารข้องใจ ไทยช่วยสำรวจจำนวนประชากรเพื่อเลือกตั้งในเมียนมา
2024.08.12
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาวิพากษ์วิจารณ์ความน่าจะเป็นที่ไทยจะช่วยทำสำมะโนประชากร เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้สัญญาไว้ แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ดูเหมือนจะเป็นการเลือกตั้งหลอก ๆ ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายแห่งรัฐ
สื่อฝ่ายรัฐบาลทหารเมียนมารายงานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ในกรุงเนปิดอว์ นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ได้หารือกับนายโก โก ประธานคณะกรรมการเลือกตั้งของเมียนมา และนายมิน จาย รัฐมนตรีกระทรวงตรวจคนเข้าเมืองและประชากรของเมียนมา ถึงความเป็นไปได้ที่ไทยจะให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการทำสำมะโนประชากร ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม และการเลือกตั้งในปีหน้า
เมื่อต้นปี 2564 รัฐบาลทหารเมียนมาได้ขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดยนางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และจำคุกเธอพร้อมเพื่อนร่วมพรรคและผู้สนับสนุนพรรคอีกหลายร้อยคน พร้อมกับยุบพรรคของเธอ และสั่งห้ามพรรคอื่น ๆ เข้าร่วมกิจกรรมการเมือง
รัฐบาลทหารเมียนมาได้สัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า ตราบใดที่นางอองซาน ซูจี นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากยังถูกจำคุกอยู่ การเลือกตั้งนี้จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด
โฆษกรัฐบาลเงาฝ่ายพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยนักการเมืองจากพรรคของนางอองซาน ซูจี ได้บอกกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ประชาคมระหว่างประเทศ รวมทั้งไทย ควรมุ่งความสนใจไปที่การฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และเสถียรภาพ มากกว่าที่จะให้การสนับสนุนแผน “อันไม่ชอบธรรม” ของรัฐบาลทหารเมียนมา
“ผมขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ยุติการสนับสนุนและช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมาที่ต่อต้านเจตจำนงของประชาชนอย่างไร้ความชอบธรรม” นายจอ ซอ โฆษกสำนักประธานาธิบดีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ NUG (National Unity Government) กล่าว
“ถึงเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศควรร่วมสนับสนุนพลเมืองเมียนมา รวมถึงการต่อต้านของพลเมืองเมียนมาต่อกองทัพเผด็จการ และเตรียมความพร้อมสำหรับยุคหลังรัฐบาลทหาร” เขากล่าว
สถานทูตไทยในเมียนมาและกระทรวงการต่างประเทศไทยไม่ตอบคิดเห็น
ประเทศไทยอยู่ในฐานะที่สำคัญที่สุดที่สามารถเพิ่มความกดดันให้คู่ขัดแย้งในเมียนมาร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติ
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาที่ยาวที่สุด และเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาจำนวนหลายแสนคนที่หนีความขัดแย้งในเมียนมา ดังนั้น การเห็นเมียนมาฟื้นฟูเสถียรภาพภายในประเทศจึงเป็นประโยชน์กับไทยโดยเฉพาะ
แม้ไทยและบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพยายามให้สองฝ่ายในเมียนมายุติความขัดแย้งอย่างสันติ แต่การสู้รบในเมียนมาก็ยังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากกองกำลังทหารพ่ายแพ้การสู้รบกับกองกำลังต่อต้านในหลายพื้นที่ของประเทศ
‘เพิ่มการโจมตี’
นายจอ ซอ กล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมาขาดความสามารถในการทำ “สำมะโนประชากรที่มีประโยชน์” และประชาคมระหว่างประเทศควรมุ่งความสนใจไปที่ความพยายามด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาอื่น ๆ มากกว่า
รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้งที่แน่ชัด แต่อย่างเร็วที่สุดคงจะเป็นต้นปีหน้า รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายในหกเดือน หลังจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ได้มีการขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นปี 2564 ออกไปอีกหกเดือน
พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เคยกล่าวว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2568 แต่ยอมรับว่าการลงคะแนนเสียงในบางพื้นที่อาจไม่สามารถทำได้ หากขาด “สันติภาพและเสถียรภาพ”
ข้อมูลจากโครงการติดตามสันติภาพในเมียนมา (Myanmar Peace Monitor) ระบุว่า ขณะนี้ กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้ควบคุมเมืองต่าง ๆ จำนวน 73 เมือง ทั่วเมียนมา
ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองรายหนึ่งที่ใกล้ชิดกับ กองทัพอาระกัน หนึ่งในกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของเมียนมา ได้กล่าวว่าการทำสำมะโนประชากรและการเลือกตั้งไม่น่าจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร และยังบอกด้วยว่า ความพยายามของรัฐบาลทหารในการจัดการเลือกตั้ง น่าจะทำให้การสู้รบรุนแรงยิ่งขึ้น
“เป็นไปได้มากที่กองทัพรัฐบาลทหาร จะเพิ่มการโจมตีในพื้นที่นอกการควบคุมของตน โดยเฉพาะน่าจะพุ่งเป้าโจมตีเหล่าพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ” นักสังเกตการณ์ทางการเมืองผู้นั้นกล่าว โดยไม่เปิดเผยนาม เนื่องจากเป็นประเด็นความอ่อนไหว
ขณะนี้ กองทัพอาระกันยึดเมืองได้ 9 แห่ง ในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมา และดินแดนในรัฐชินที่อยู่ติดกัน
“ประเทศเพื่อนบ้านควรออกมาบอก SAC ว่าจำเป็นต้องหยุดการโจมตีพลเรือน และเริ่มการพูดคุยกับกลุ่มต่อต้านเพื่อแสวงสันติ และเมื่อนั้นการเลือกตั้งที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้” เขากล่าวถึง กองทัพทหารเมียนมา ซึ่งมีชื่อทางการว่า State Administration Council (สภาบริหารแห่งรัฐ)