แรงงานเมียนมาผิดกม. กว่าแสนคนถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศ

ภิมุข รักขนาม และเรดิโอฟรีเอเชีย เมียนมา
2024.08.30
แรงงานเมียนมาผิดกม. กว่าแสนคนถูกทางการไทยส่งตัวกลับประเทศ ชาวเมียนมาถูกจับกุมในข้อหาเข้าประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย หลังเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กระทรวงแรงงานไทยระบุ ทางการไทยควบคุมและส่งตัวพลเมืองชาวเมียนมากว่า 144,000 รายกลับประเทศต้นทางในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยให้ข้อมูลว่าการปราบปรามครั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะขจัด “แรงงานที่กำลังหางานทำ” ที่ใช้สงครามภายในประเทศเป็นข้ออ้างให้ตนเองเข้ามาหาโอกาสในประเทศไทย

กระทรวงแรงงานเผยในปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แรงงานชาวเมียนมาคือประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ถูกควบคุมตัวไว้ภายใต้ปฏิบัติการ “เจอ จับ ปรับ ผลักดัน" แรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งออกมาในเดือนมิถุนายน ครอบคลุมการออกตรวจสอบธุรกิจ และสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีแรงงานลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมายกระจุกตัวอยู่กว่า 15,000 แห่ง

แรงงานเมียนมาถือเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ประชากรเมียนมากว่าสองล้านรายได้รับการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายในหลายภาคเศรษฐกิจ ทั้งเกษตรกรรม ประมง หรือภาคบริการ แต่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานระบุว่า ยังมีแรงงานเมียนมาอีกจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย พร้อมความหวังที่จะหางานทำ

ทว่า นั่นไม่ใช่เหตุผลเพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งปัจจัยเบื้องหลังที่ชาวเมียนมาพากันเดินทางข้ามแดนมายังประเทศไทย คือการที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อเสริมสร้างกำลังพลให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลทหารกำลังเพลี่ยงพล้ำให้กับกลุ่มกบฏหลายฝ่ายที่หวังล้มอำนาจเผด็จการทหาร หลังจากที่กองทัพทำรัฐประหารเมื่อสามปีที่ผ่านมา

พล.ต.ท. อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียว่าทางการไทยจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับใครก็ตามที่เดินทางเข้าประเทศมาอย่างผิดกฎหมาย และเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่ “ใช้โอกาสนี้เข้ามาแสวงหางาน” ในประเทศไทยโดยใช้ความขัดแย้งในบ้านเมืองของตนเองเป็นข้ออ้าง

“สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาโดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือข้ามชายแดนมาแบบผิดกฎหมาย เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากส่งตัวพวกเขากลับ ซึ่งเราสามารถแยกเหล่าผู้อพยพและผู้ลี้ภัยทางการเมืองออกจากบรรดาผู้ที่เข้ามาเพื่อแสวงหางานทำในไทยได้” เขาระบุ

“ทว่าหากสถานการณ์ยังไม่ปลอดภัย เราก็จำเป็นที่จะต้องเลื่อนกระบวนการออกไป”

แต่เขาไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสถานการณ์เรื่องการบังคับพลเมืองเกณฑ์ทหารในเมียนมาถือเป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปลอดภัยหรือไม่

ถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนแรงงานต่างชาติ แต่ทางการไทยก็ตัดสินใจยกระดับการควบคุมให้เข้มงวดขึ้น เช่น การปิดศูนย์จัดหางานที่แรงงานเหล่านี้สามารถขอเดินเรื่องเอกสารรับรองบุคคลเพื่ออยู่อาศัยและทำงานในประเทศไทยต่อไป กระบวนการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนการมอบอำนาจที่เหนือกว่าให้รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถกำหนดชะตากรรมของพลเมืองประเทศตนเอง ผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยได้

น่าเชื่อถือมากกว่า

อู โม โจ ประธานองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานชาวเมียนมา (Joint Action Committee for Burmese Affairs - JACBA) ชี้ว่า ตามกฎของกระทรวงแรงงาน ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทางจะถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าประเทศไทยเป็นเวลา 2 ปี และพวกเขายังต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกรัฐบาลเมียนมาบังคับให้เกณฑ์ทหารเมื่อเดินทางถึงประเทศ

“ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับจะถูกบังคับให้เข้ากองทัพทหาร ทำให้พวกเขาวิตกกังวล” เขาให้ข้อมูล

เหล่าญาติของผู้ที่ถูกบังคับเกณฑ์ทหารแจ้งว่า หลังจากที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดระนอง เจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาบังคับให้ผู้ถูกส่งตัวกลับกว่าหลายสิบคน ให้ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพเพื่อรับใช้รัฐบาลหลังจากที่ถูกส่งตัวกลับ

“เราบอกไม่ได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เนื่องจากผู้ที่ถูกส่งตัวกลับประเทศถูกบังคับขู่เข็ญให้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร” โม โจเอ่ย

ทางฝั่งของกลุ่มธุรกิจ ผู้จ้างงานชาวไทยรายหนึ่งรู้สึกตกใจกับการปราบปรามในครั้งนี้

“เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเราเป็นอย่างมาก เพราะหากแรงงานเหล่านี้ถูกส่งตัวกลับไปและไม่สามารถกลับมาทำงานได้ เราจะหาแรงงานจากที่ไหนมาทดแทน” ผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมในแถบชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรีเผย เขาเป็นผู้ที่จ้างแรงงานเมียนมาที่ไม่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นระยะเวลาหลายปี

“ เราจ่ายค่าจ้างให้พวกเขาเท่ากับแรงงานชาวไทยเลย เราไม่ได้จ้างพวกเขาเพราะเป็นแรงงานราคาถูก แต่เพราะว่าพวกเขาพึ่งพาได้มากกว่า”

กระทรวงแรงงานไทยไม่ให้ความเห็นใด ๆ ต่อสถานการณ์ดังกล่าวหลังจากที่เรดิโอฟรีเอเชียติดต่อไป

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะสามารถลงทะเบียนแรงงานชาวเมียนมาได้กว่า 2 ล้านรายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่คาดว่ามีกลุ่มแรงงานจากเมียนมากถึง 7 ล้านรายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และกระทรวงแรงงานยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากประชากรชาวเมียนมากว่า 144,261 รายที่ถูกปราบปราม ยังมีพลเมืองชาวกัมพูชาอีก 29,448 ราย ชาวลาว 12,258 ราย ชาวเวียดนาม 117 รายและพลเมืองประเทศอื่น ๆ อีก 6,196 ราย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง