ภาคประชาสังคมเรียกร้อง ปตท. หยุดจ่ายเงินรัฐวิสาหกิจเมียนมา
2021.05.25
กรุงเทพฯ
ปรับปรุงข้อมูล 2:45 PM EST 2020-05-28
ในวันอังคารนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้เสนอรายงานการสนับสนุนกองทัพเมียนมาของบริษัท ปตท. สผ. ผ่านทางการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งอยู่ในการควบคุมของกองทัพ โดยเรียกร้องให้ รัฐบาลต่างประเทศควรปิดกั้นการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหารเมียนมา เช่นเดียวกับ 76 เอ็นจีโอทั้งไทยและต่างชาติ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง ปตท. ขอให้หยุดส่งเงินให้กองทัพเมียนมา โดยระบุว่ารายได้ดังกล่าวอยู่ในการควบคุมของกองทัพ อาจนำไปสู่การส่งเสริมการปรายปรามประชาชน ด้านนักวิชาการชี้ปตท.ควรจะตอบสนองข้อเสนอของภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและสอดคล้องกับนานาประเทศที่กำลังคว่ำบาตรเมียนมา
เชนาร์ เบาช์เนอร์ นักวิจัยภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในรายงานว่า การขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับรัฐบาลเมียนมา ในขณะที่กองทัพดำเนินการปราบปรามประชาชนอย่างนองเลือดนั้น แสดงให้เห็นว่า ปตท. ไม่ได้แสดงความเคารพต่อชีวิตและเสรีภาพของประชาชนในเมียนมา แม้แต่น้อย พร้อมเรียกร้องให้ ปตท. เคารพการคว่ำบาตรของนานาชาติและตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปราบปรามประชาชนในครั้งนี้
“การลงทุนของปตท. ในเมียนมาได้ให้เงินแก่กองทัพเมียนมาหลายร้อยล้านดอลลาร์ รัฐบาลต่าง ๆ รวมถึงบรรษัทข้ามชาติไม่ควรให้การสนับสนุนทางอ้อมในลักษณะนี้ เพื่อคว่ำบาตรต่อรัฐบาลของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย และเพื่อไม่ให้กองทัพได้ประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายประชาชน” เชนาร์ ระบุในรายงาน
ขณะที่คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch) 76 องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาสังคมด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ทั้งไทย เมียนมา และนานาชาติร่วมลงชื่อ ได้เผยจดหมายเปิดผนึก ซึ่งส่งถึง ปตท. และ ปตท.สผ. (บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด) เพื่อให้ระงับและงดส่งจ่ายเงินจากก๊าซธรรมชาติให้กับกองทัพเมียนมา เพื่อยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา
จดหมายดังกล่าวเรียกร้องให้ ปตท. งดจ่ายเงินให้กับบริษัทรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องน้ำมันและก๊าซของเมียนมาในขณะนี้ เพราะแม้ว่าโดยหลักการแล้วบริษัทนี้จะเป็นของรัฐบาลเมียนมา แต่การควบคุมอำนาจในการบริหารหน่วยงานแบบเบ็ดเสร็จของคณะรัฐประหารเมียนมา ทำให้บริษัทรัฐวิสาหกิจ ซึ่งควรจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นเจ้าของนั้น ไม่อาจรับประกันได้อีกต่อไปว่า รายได้จาก ปตท. ในฐานะผู้ซื้อตามสัญญา จะถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อกิจการพลเรือนและผลประโยชน์ต่อประชาชนชาวเมียนมาอย่างแท้จริง
“ในปี 2017-2018 ปตท. จ่ายเงินกว่า 615 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับบริษัท Myanmar Oil and Gas Enterprise (MOGE) โดยภาพรวมแล้ว รายได้จากก๊าซคาดว่าจะมีส่วนช่วยในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเมียนมาถึง 50% และ ปตท. ให้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของผู้ก่อการรัฐประหาร โดยจัดเก็บจากบริษัท ปตท. สผ. เฉพาะโครงการซอติก้าเพียงแห่งเดียวในฐานะผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโครงการสัญชาติไทยได้กว่า 41.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ” ส่วนหนึ่งในจดหมายระบุ
นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร ผู้ประสานงานคณะทำงาน ETOs Watch กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ข้อเรียกร้องหลักของเราไม่ได้ต้องการให้ ปตท. หยุดส่งเงินให้กับรัฐบาลเมียนมา แต่ต้องการให้นำเงินรายได้ที่อาจจะไปถึงรัฐบาลเผด็จการในตอนนี้ ให้ไปฝากไว้ในบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาหรือบัญชีที่ได้รับการปกป้อง (protected account)
“คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) เคยร้องขอเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ารายได้เหล่านี้ จะไม่ถูกเปลี่ยนเป็นท่อน้ำเลี้ยง หรือเป็นอาวุธ ที่ถูกใช้โดยกองทัพของเมียนมา และเงินส่วนนี้จะถูกจ่ายให้กับรัฐบาลเมียนมาต่อเมื่อรัฐบาลถูกเลือกตั้งโดยประชาชนอีกครั้ง” นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร กล่าว
ที่ผ่านมาคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวเมียนมา เคยส่งหนังสือไปยังกลุ่มธุรกิจหรือรัฐวิสาหกิจจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศโดยเฉพาะในกิจการการลงทุนด้านการค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อขอให้ระงับการลงทุนในการทำธุรกิจร่วมกับกองทัพเมียนมาในทันที พร้อมขอให้นำรายได้ที่ต้องจ่ายไปยังบริษัท MOGE ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐประหารกองทัพเมียนมาไปไว้ยังบัญชีที่ได้รับการปกป้อง เพราะเกรงว่ารายได้จากการประกอบธุรกิจนี้จะเป็นเงินที่ป้อนเข้าสู่กองทัพเมียนมาโดยตรง
อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ได้สอบถามไปยัง นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ถึงข้อคิดเห็นต่อแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่าจะให้ ปตท. เป็นผู้ชี้แจง ขณะที่ได้ติดต่อไปยังบริษัทปตท. ทางโทรศัพท์ ช่องทางสอบถามข้อมูลเว็บไซต์ และข้อความบนแฟนเพจเฟซบุ๊กแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
นายมานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า เอกสารขององค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา (Justice for Myanmar) ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564
“หลังเกิดการรัฐประหาร ได้มีการเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติที่เป็นผู้พัฒนาและเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ระงับการลงทุนออกไปชั่วคราว แม้แต่พนักงานของบริษัท MOGE เอง ก็ยังออกมาประท้วง แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการรัฐประหารและการสังหารประชาชนของกองทัพเมียนมา การที่บริษัทของไทย ยังคงสนับสนุนความมั่งคั่งของกองทัพเมียนมา จะเป็นการขัดต่อหลักการด้านสิทธิมนุษยชน และหลักมนุษยธรรม ขัดต่อเจตนารมณ์ตามที่บริษัทได้ประกาศนโยบาย” ส่วนหนึ่งจากโพสต์ของนายมานพ
พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างในเมียนมา ต้องยอมรับว่า ทั้งเอกชนและรัฐบาลไทย มีส่วนเกี่ยวข้องหากมีการทำธุรกิจเกี่ยวข้องกัน
“ประเด็น ปตท. ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นรัฐวิสาหกิจไทย ดังนั้นจึงบอกได้ว่าเอกชนและรัฐไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ และทำให้คนต้องหลบหนีมายังประเทศไทย แม้ไทยเองก็มองว่าเป็นภาระก็ตาม” พรสุข กล่าว
นักวิชาการเมียนมาชี้ปตท. ควรพิจารณาข้อเสนอของภาคประชาชน
นายซาไล บาวี นักวิชาการรัฐศาสตร์ชาวเมียนมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ประเด็นการสนับสนุนของปตท.นั้นมองได้สองลักษณะคือ มองในด้านมนุษยธรรม และมองในแง่ธุรกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
“ทั้งไทยและเมียนมาต่างก็พึ่งพากันและกัน ไทยพึ่งพาแรงงานข้ามชาติเมียนมามาโดยตลอด ขณะที่เมียนมาก็พึ่งพาการลงทุนของไทยอยู่ไม่น้อย เรื่องนี้จึงยากที่จะอยู่ดี ๆ ให้หยุดการจ่ายเงิน ซึ่งนำไปสู่การสนับสนุนกองทัพเมียนมา และคิดว่า ปตท. เองก็ไม่ได้เห็นเรื่องการใช้เงินของกองทัพเป็นสาระสำคัญ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะนานาประเทศต่างคว่ำบาตรเมียนมาอยู่ในขณะนี้ ปตท. เองก็ไม่ควรตกขบวนและกลายเป็นชนวนของความขัดแย้ง” นายซาไล กล่าว
“ปตท. ควรจะพิจารณาข้อเสนอ แม้จะไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ก็มีหลายวิธีที่จะทำให้ภาคประชาสังคมรู้สึกว่าได้รับการตอบสนองจากข้อเรียกร้อง และหากปตท. ตอบรับข้อเสนอและหยุดจ่ายเงินจริง จะส่งผลกระทบกับกองทัพเมียนมาเป็นอย่างมาก เพราะกองทัพจะมีรายได้หายไปอย่างมหาศาล นั่นหมายถึงอาวุธต่าง ๆ ที่จะถูกนำมาใช้ปราบปรามประชาชนก็จะหายไปด้วย” นายซาไล กล่าวเพิ่มเติม