หลายฝ่ายกังขาหลังประเทศไทยยื่นมือช่วยเหลือเมียนมา
2024.07.31
อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
รัฐบาลพลัดถิ่นในเมียนมาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแสดงออกทั้งความรู้สึกซาบซึ้งระคนสงสัย หลังจากที่ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคเงินสนับสนุนหลายล้านบาทเพื่อช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์ทางมนุษยธรรมในเมียนมา
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 57 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยจะช่วยบริจาคเงินทั้งหมด 9 ล้านบาท (ราว 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ
ทว่า จอ ซอ โฆษก รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ National Unity Government (NUG) ออกความเห็นว่า แม้พวกเขาจะรู้สึกซาบซึ้งในท่าทีการช่วยเหลือของประเทศไทยเป็นอย่างมาก แต่การที่รัฐบาลไทยประสานความร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมาเพียงฝ่ายเดียวนั้น ไม่อาจจะสร้างความมั่นใจได้ว่า ความช่วยเหลือจะถูกส่งถึงมือประชากรเมียนมาที่กำลังเดือดร้อนอย่างแท้จริงได้อย่างตลอดรอดฝั่ง
“ตอนนี้ชาวเมียนมาผู้พลัดถิ่นส่วนใหญ่ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกควบคุมของฝ่ายต่อต้าน ไม่ใช่ฝ่ายของทางการทหารเมียนมา ดังนั้นการที่รัฐบาลไทยประสานงานกับรัฐบาลเมียนมาจะเปิดโอกาสเพียงแค่ให้ทางการถ่ายรูปไว้โชว์เท่านั้น แต่ความช่วยเหลือไม่ได้ถูกส่งไปให้กับพลเมืองเมียนมาในพื้นที่ที่กำลังสิ้นหวังอย่างแท้จริง” เขาให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชีย เมื่อวันพุธที่ผ่านมา
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน (ASEAN) ดำเนินการช่วยเหลือเมียนมาในฐานะสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมืองนองเลือดที่เกิดจากการทำรัฐประหารปี 2564 มาโดยตลอด ทั้งยังกดดันทุกฝ่ายให้ยอมรับแผนการที่จะยุติความรุนแรง และเริ่มเปิดเวทีเจรจาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาไม่มีท่าทีว่าจะสนใจแผนการนี้แต่อย่างใด ซ้ำร้าย การสู้รบระหว่างกองทัพทหารและชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในเมียนมา ก็ทวีความรุนแรงขึ้นในปีนี้ เห็นได้จากจำนวนพลเมืองเมียนมาพลัดถิ่นที่มีเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านราย ตามข้อมูลของสหประชาชาติ
นับตั้งแต่ที่อาเซียนจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมทางฝั่งตะวันออกของเมียนมาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติได้กำกับดูแลการส่งมอบสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์จำนวน 4,000 ชุด จากประเทศไทยไปยังรัฐคะยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
อาเซียนระบุในแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติยังได้แจกจ่ายอาหารและสิ่งของเพื่อสุขอนามัยมูลค่าเกือบ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 71 ล้านบาท) ให้กับชาวบ้านในเขตสะกาย และเขตมะเกว รวมไปถึงทางใต้ของรัฐฉานและรัฐมอญ
ในระยะแรกเริ่ม ประเทศไทยส่งความช่วยเหลือผ่านทางชายแดนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของเมียนมาภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพทหารเมียนมา จากนั้นจึงส่งความช่วยเหลือเข้าไปในภูมิภาคด้านในซึ่งอยู่ในพื้นที่ลึกกว่า โดยเจ้าหน้าที่ของทางการไทยหลายรายในเวลานั้นปฏิเสธที่จะร่วมถกเถียงว่าการส่งความช่วยเหลือนี้หยุดอยู่ ณ อาณาเขตของใคร แต่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเชื่อว่า การบริจาคทั้งหลายไปไม่ถึงมือของพลเมืองชาวเมียนมา กลุ่มเป้าหมายที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก และเป็นเหยื่อของสงครามความขัดแย้งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด
ปณิธาน วัฒนายากร นักวิเคราะห์การเมืองและอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็คิดเห็นในทำนองเดียวกัน
เขาให้สัมภาษณ์กับเรดิโอฟรีเอเชียว่า แนวทางของประเทศไทยในการประสานความร่วมมือกับเมียนมาไม่ได้มีความชัดเจนเท่าในอดีต รวมไปถึงศักยภาพในการใช้ระเบียงมนุษยธรรมให้เป็นประโยชน์ด้วย เห็นได้จากการดำเนินการส่งความช่วยเหลือไปยังเมียนมาเริ่มมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากอำนาจในการควบคุมเขตแดนถูกเปลี่ยนแปลงระหว่างที่สงครามดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
“เริ่มมีพื้นที่ที่ถูกจัดการโดยผู้ที่มีศักยภาพในการส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้มากขึ้น เช่น กลุ่มของกะเหรี่ยงหรือกลุ่มอื่น ๆ ในขณะที่บทบาทของไทยกลับเปลี่ยนแปลงมาเป็นแนวทางรอดูท่าทีไปก่อนมากขึ้น ไม่เหมือนกับวิธีการบริหารจัดการในอดีต”
พื้นที่บางส่วนในภาคตะวันตกของเมียนมาประสบกับภาวะการขาดแคลนอาหารและการดูแลสุขอนามัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากกองทัพทหารเมียนมาใช้กลยุทธ์ปิดล้อมในการต่อสู้กับกองกำลังกบฏอาระกัน ที่เข้ายึดอย่างน้อย 9 เมือง ในรัฐยะไข่ และอีก 1 เมือง ในรัฐชิน ที่เป็นรัฐข้างเคียงได้สำเร็จ