ผู้ลี้ภัยเมียนมารุ่นใหม่แสวงหาโอกาสในไทย

จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.03.14
กรุงเทพฯ
ผู้ลี้ภัยเมียนมารุ่นใหม่แสวงหาโอกาสในไทย แรงงานชาวเมียนมาชุมนุมต่อต้านรัฐประหารเนื่องในวันแรงงานในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565
รอยเตอร์

นักบัญชีชาวเมียนมา คิน ติ๊ด หยี ทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจในนครย่างกุ้ง ในช่วงเวลาราวยี่สิบปีที่ผ่านมา นอกเหนือไปจากงานสอนวิชาบัญชีทางออนไลน์และลงทุนด้านการเกษตรในพม่า โดยก่อนเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564  คิน ติ๊ดทำงานในบริษัทบัญชีข้ามชาติระดับโลกที่มีสำนักงานอยู่ที่นครย่างกุ้ง

“ตอนที่มีการประกาศว่าเกิดรัฐประหาร ฉันกำลังนอนหลับอยู่ แล้วแม่ก็มาบอกว่าเกิดอะไร พอได้ยินแล้วรู้สึกแปลกใจมาก” คิน ติ๊ดกล่าวกับเบนาร์นิวส์

แต่ไม่นานหลังจากนั้น คิน ติ๊ด ตั้งตัวกับความเปลี่ยนแปลงในประเทศของเธอได้ โดยเพียงสองเดือนหลังรัฐประหาร เธอและครอบครัวได้ตัดสินใจย้ายมายังประเทศไทย

“หลังจากเดือนมีนาคม 2564 สถานการณ์แย่ลงมาก ฉันถามที่ออฟฟิศแล้วทางออฟฟิศบอกว่าสามารถช่วยให้ฉันย้ายไปประเทศสิงคโปร์ได้ แต่ถ้าฉันย้ายไปสิงคโปร์ ฉันก็คงดูแลครอบครัวไม่ได้ เพราะค่าครองชีพที่นั่นสูง ฉันเลยตัดสินใจย้ายมาเมืองไทยและยื่นใบลาออกให้ที่ทำงาน”

ปัจจุบัน คิน ติ๊ด ทำงานอยู่ในบริษัทข้ามชาติในกรุงเทพฯ ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านบัญชี และไม่มีแผนการที่จะย้ายกลับไปเมียนมาอีกแล้ว

คิน ติ๊ดเป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ชาวเมียนมาซึ่งต้องย้ายมายังประเทศไทยหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งนำมาสู่การสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยและทหารพม่า และการปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งโดยมากเป็นนักกิจกรรมและคนรุ่นใหม่อย่างรุนแรง ส่งผลให้คนนับล้านต้องพลัดถิ่นที่อยู่ และมีผู้เสียชีวิตกว่า 50,000 ราย รวมไปถึงพลเมืองราว 8,000 ราย ตามข้อมูลขององค์กร Armed Conflict Location and Event Data Project

“ตัวเลขจำนวนของผู้ลี้ภัยชาวพม่าในเมืองไทยไม่นิ่ง เนื่องจาก “บางคนอยู่ในเมืองไทยตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร บางคนมาหลังรัฐประหาร และบางคนก็บินไปกลับเมืองไทย-พม่า” คิน ติ๊ดกล่าว

รายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 มีชาวเมียนมาจำนวนราว 13,000 ราย เดินทางเข้าประเทศไทยต่อเดือนเพื่อพำนักอยู่อาศัยระยะยาว

คิน ติ๊ดเองได้สูญเสียความหวังที่มีให้กับประเทศเมียนมาไปแล้ว

“ก่อนหน้ารัฐประหาร ฉันมีความเชื่อมั่นในประเทศพม่าและคนเมียนมา และฉันอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสังคมเมียนมาและมีส่วนทำให้ประเทศดีขึ้น แต่พอเกิดรัฐประหาร ฉันรู้สึกหลงทางสับสน”

ย้ายประเทศ

นอกเหนือจากงานประจำ คิน ติ๊ดทำธุรกิจร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ และได้ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ เอาไว้บ้าง เธอมีความหวังกับชีวิตใหม่ในเมืองไทยที่เดินทางมาอยู่พร้อมมารดา ลุง พี่ชายและครอบครัวของพี่ชาย

“วัฒนธรรมไทยไม่ค่อยแตกต่างมากและค่าครองชีพก็โอเค จะเริ่มต้นทำธุรกิจที่นี่ก็ไม่ยาก”

อรรวี แตงมีแสง หรือแนทตี้ บล็อกเกอร์ชาวไทยซึ่งเคยอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา ระหว่างปี 2554 ถึง 2557 และเคยทำงานด้านการตลาดและการสื่อสารในเมืองย่างกุ้ง กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งในเมียนมาในปี 2558 ซึ่งส่งผลให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) ที่นำโดย นางอองซานซูจีขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศ ประเทศเมียนมาได้เปิดรับการลงทุนจากนานาชาติซึ่งนำพาซึ่งโอกาสอย่างมากมายมาสู่ชาวพม่า

“ตอนนี้มีนักเรียน นักศึกษา ชนชั้นกลางและชนชั้นกลางระดับสูงของเมียนมาเริ่มหาลู่ทางในการออกมา รวมไปถึงกลุ่มคนทำงาน หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มหาโอกาสทำธุรกิจในเมืองไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ”

ในเดือนกุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Colliers Thailand ได้กล่าวถึงการซื้อหาที่อยู่อาศัยของชาวพม่าในเมืองไทย ทั้งกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น โดยลูกค้าชาวพม่าโดยมากมักเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงที่เพิ่งมีครอบครัวและอายุ 35 ปีขึ้นไปตามรายงานดังกล่าว

คนที่หนีออกมา

แนทตี้กล่าวว่า คนกลุ่มรุ่นใหม่และกลุ่มชนชั้นกลางพม่ามีแนวโน้มเดินทางออกมาเมืองไทยมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ เนื่องมาจากการประกาศบังคับการเกณฑ์ทหารโดยรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งจะบังคับใช้กับผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป

“ความขัดแย้งหลังรัฐประหารคือ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารกับคนรุ่นใหม่ ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงถูกตามล่า” แนทตี้กล่าว

240313-th-mn-migrants-jitsiree 3.JPG

ร้านขายเสื้อผ้าสไตล์เมียนมาในย่านพระโขนง โดยเจ้าของร้านชาวเมียนมาชื่อ ยี วิน ย้ายมายังประเทศไทยก่อนหน้ารัฐประหารปี 2564 ในเมียนมา วันที่ 13 มีนาคม 2567 (วิศรุต วีระโสภณ/Thai News Pix/เบนาร์นิวส์)

ผศ.ดร. เทียน เลรามัญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยพายัพในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากมีการประกาศการเกณฑ์ทหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่ามีใบสมัครจากนักศึกษาเมียนมาที่มหาวิทยาลัยมากขึ้น

“ปกติจะเปิดเทอมเดือนสิงหาคมก็จะได้รับใบสมัครช่วงก่อนเปิดเทอม แต่ปีนี้เห็นใบสมัครเข้ามาตั้งแต่ต้นปี” ผศ.ดร. เทียนกล่าว

“ปกติแล้วก่อนรัฐประหารปี 2564 นักศึกษาเมียนมาเมื่อศึกษาจบจะเดินทางกลับประเทศ แต่ตอนนี้มีแนวโน้มที่เขาจะหางานทำในประเทศไทยหรือประเทศที่สามเพิ่มมากขึ้น”

ความหวังใหม่

ซูซู เป็นนักศึกษาพม่าวัย 20 ปี จากเมืองพะโค ปัจจุบันอาศัยอยู่ในจังหวัดตากตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ตามมาอยู่กับพี่สาวหนึ่งคนที่ย้ายมาก่อนหน้า

ซูซูกำลังเรียน GED เพื่อเทียบวุฒิระดับมัธยมศึกษา ก่อนเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซูซูกล่าวว่า ตอนเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรก เธอรู้สึกกลัวแต่ก็มีความจำเป็น

“หนูกับพี่สาวอีกคนหนึ่งเดินทางจากพะโคมาที่เมียวดี พอมาถึงก็มีเอเย่นต์พาข้ามแม่น้ำเมยมายังจังหวัดตาก” ซูซูกล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านล่ามทางวิดีโอคอล โดยใช้ชื่อเพียงชื่อเดียวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

เมื่อเกิดรัฐประหาร พี่สาวสองคนของซูซู ซึ่งทำงานเป็นพยาบาลและครู ได้เข้าร่วมขบวนการอารยะขัดขืน ซึ่งเป็นการนัดหยุดงานทั่วประเทศของข้าราชการและกลุ่มแพทย์และพยาบาลในเมียนมา หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มไม่ปลอดภัย ทั้งสามพี่น้องจึงได้ทยอยกันเดินทางมายังประเทศไทย โดยทิ้งแม่และคนรู้จักทุกคนไว้ที่เมียนมา

“เพื่อนที่อยู่เมียนมาก่อนมีรัฐประหารเคยมีความฝันเกี่ยวกับอนาคต แต่หลังรัฐประหาร ไม่มีโอกาส ความปลอดภัย และความยุติธรรม หนูอยากกลับไปพม่าในวันหนึ่ง แต่ดูแล้วไม่มีอะไรดีขึ้น” ซูซูกล่าว

240313-th-mn-migrants-jitsiree 4.jpg

ชาวเมียนมาในประเทศไทยชุมนุมประท้วงหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 (รอยเตอร์)

ในขณะที่สถานการณ์การสู้รบในประเทศพม่าล่วงเข้าปีที่สี่ ประเทศไทยได้พยายามเสนอข้อริเริ่ม เช่น การจัดตั้งระเบียงด้านมนุษยธรรมในจังหวัดตาก เพื่อส่งอาหารและยารักษาโรคไปยังเมียนมา

รัฐสภาไทยได้จัดการสัมมนาเพื่อหาทางออกให้กับสถานการณ์ในเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ แต่มีรายงานว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่พอใจ และได้ออกแถลงการณ์ว่า การจัดงานดังกล่าวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดกล่าวในงานดังกล่าว แต่กลับยกเลิกก่อนงานจะเริ่มต้น

“การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่ใช่แค่การส่งของไปช่วย แต่เป็นการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นด้วย มีคนทำงานในอาชีพต่าง ๆ เช่น พยาบาล ครูหรือนักข่าว ซึ่งต้องหนีมาเมืองไทยโดยไม่มีเอกสาร เราควรต้องให้ความช่วยเหลือเช่นกัน” แนทตี้กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง