เศรษฐาเชื่อ ก้าวไกลเคารพคำวินิจฉัยศาล ไม่มีความวุ่นวาย

รุจน์ ชื่นบาน และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.08
กรุงเทพฯ
เศรษฐาเชื่อ ก้าวไกลเคารพคำวินิจฉัยศาล ไม่มีความวุ่นวาย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวต่อหน้าอดีต สส. พรรคก้าวไกล หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาในคดียุบพรรคก้าวไกล ในกรุงเทพฯ วันที่ 7 สิงหาคม 2567
ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชนในวันพฤหัสบดีนี้ว่า เชื่อมั่นว่าพรรคก้าวไกลจะเคารพคำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สร้างความวุ่นวาย ด้านนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้เร่งดำเนินการเอาผิด อดีต สส. พรรคก้าวไกล 44 คน ที่เคยเสนอแก้ไข ม. 112 เมื่อปี 2564 

“คงไม่ใช่ความตั้งใจของพรรคก้าวไกล ที่จะใช้ความวุ่นวาย หรือปลุกระดม ผมว่าเป็นการแสดงจุดยืน แล้วก็เป็นการประกาศว่า เขาเดินหน้าตามการเมืองต่อไป ก็ขอให้กำลังใจในการที่จะทำอะไรต่อไป ผมก็ได้มีการพูดคุยกับทางความมั่นคงแล้วก็ไม่มีข่าวอะไรมา เรื่องการปลุกระดมไม่มีหรอก ผมมั่นใจว่า ทางพรรคก้าวไกลก็เคารพการตัดสินใจของศาล” นายเศรษฐา กล่าว 

การเปิดเผยของนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันพุธให้ยุบพรรคก้าวไกล จากการที่พรรคใช้การแก้ไข ม. 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2566 ทั้งยังตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ซึ่งหลังจากมีคำวินิจฉัย แกนนำพรรคก้าวไกลได้ปราศรัยที่หน้าอาคารพรรค ท่ามกลางการให้กำลังใจของผู้สนับสนุนหลายร้อยคน

“พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งเป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์” ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุในคำวินิจฉัย

ร้องลงดาบ 44 ก้าวไกล

ในวันเดียว นายเรืองไกร เปิดเผยว่า ได้ส่งไปรษณีย์ด่วนถึง ป.ป.ช. ให้เร่งนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาเพื่อประกอบการตรวจสอบว่า การที่ สส. พรรคก้าวไกล 44 คน เสนอให้มีการแก้ไข ม. 112 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 มีความผิดหรือไม่ 

“การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล 44 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด” นายเรืองไกร ระบุ

นายเรืองไกร ระบุว่า หาก ป.ป.ช. วินิจฉัยแล้วเสร็จให้รีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญต่อไปว่า สส. ก้าวไกล 44 คนนี้ มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือไม่

AP24220336699259.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มาชุมนุมกัน ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล แสดงท่าทีเศร้าเสียใจภายหลังรับทราบคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล วันที่ 7 สิงหาคม 2567 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ต่อการร้องดังกล่าว นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงว่า ขณะนี้ ป.ป.ช. มีมติไต่สวน ส.ส. พรรคก้าวไกลทั้ง 44 คนเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกลในวันพุธ หน่วยงานรัฐ และองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ หลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงเรื่องดังกล่าว 

“คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพการแสดงออก” นายแมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุ

นอกจากสหรัฐฯ แล้วยังมี สหภาพยุโรป อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ ที่ออกแถลงการณ์ประณามผลคำวินิจฉัยในครั้งนี้ด้วย เช่นเดียวกับองค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรทส์วอทช์ 

“การยุบพรรคก้าวไกล ทำลายกลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ และสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อการฟื้นฟูประชาธิปไตย โดยไม่แยแสความกังวลของมิตรประเทศ และสหประชาชาติเกี่ยวกับพันธะด้านสิทธิมนุษยชนของไทยตามกติกาสากล นี่คือกระบวนการล้มผลการเลือกตั้งปี 66 ที่ พรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุด ซึ่งเริ่มจากขัดขวางไม่ให้ตั้งรัฐบาล มาจนถึงการยุบพรรคครั้งนี้” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุ

ต่อแถลงการณ์ของนานาชาติ นายกรัฐมนตรีชี้ว่า เป็นความหวังดีที่ต่างชาติมอบให้ แต่ไทยเองก็มีแนวทางจัดการปัญหาแบบของไทย

“เรื่องของการออกมาคัดค้านอะไรเนี่ยมันไม่มีความหมายอะไรหรอก เรามีวิธีการที่จะพัฒนาเรื่องของการเมือง เรื่องระบอบประชาธิปไตยของเราให้เป็นไปตามขั้นตอนที่มันถูกต้อง อะไรที่เราไม่เห็นด้วยเราก็ต้องแก้กฎหมายกันไปตามวิถีของรัฐสภาอยู่แล้ว ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนเข้าใจตรงนี้ เราทุกคนไม่มีใครยอมให้ประเทศอื่นมาก้าวไกลเรื่องอธิปไตยของเราหรอก เขาเป็นประเทศพี่ใหญ่ (สหรัฐฯ) เขาก็มีความเป็นห่วง เป็นความปรารถนาดี ส่วนเราก็มีวิธีการเดินของเรา” นายเศรษฐา ระบุ 

ปมร้อนแก้ ม. 112

ในการเลือกตั้งปี 2566 ก้าวไกลนำนโยบายแก้ไข ม. 112 มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และได้รับคะแนนกว่า 14 ล้านเสียง ทำให้ก้าวไกลมี สส. มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 151 คน และประกาศรวมเสียง สส. กับอีกเจ็ดพรรค 312 เสียง เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี 

แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้นายพิธาไม่ได้รับความเห็นชอบ และต้องส่งไม้ต่อการตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ซึ่งมี สส. เป็นอันดับสอง 141 คน ซึ่งต่อมาทำให้ก้าวไกลกลายเป็นฝ่ายค้าน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อ้างว่า ร่วมงานกับพรรคที่เสนอแก้ไข ม.112 ไม่ได้

“การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาย่อมเป็นสิ่งที่กระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และประณามการตัดสินใจที่จะยุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ว่า เป็นการกระทำที่ยอมรับมิได้ และเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน” นายธีรภพ เต็งประวัติ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แถลงที่สกายวอล์ค ปทุมวัน ในเย็นวันเดียวกันกับที่พรรคก้าวไกลถูกยุบ 

000_8YV6FP.jpg
ผู้ชุมนุมหญิงถูกตำรวจควบคุมตัวไประหว่างการประท้วงกฎหมายหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ วันที่ 16 มกราคม 2564 (แจ็ค เทเลอร์/เอเอฟพี)

ม. 112 ระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุก” ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 แต่เดิมมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี และถูกแก้ไขโทษจำคุกเป็นตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ในกฎหมายอาญาฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2519 

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า หลังการรัฐประหาร ปี 2549 จนถึงปี 2552 การดำเนินคดี ม. 112 และข้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ต่อประชาชน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีคดีที่เข้าสู่ศาลชั้นต้น 334 คดี

ในห้วงเวลาเดียวกัน คณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ชี้ว่า ม. 112 เป็นกฎหมายที่มีโทษไม่ได้สัดส่วนกับความผิด จึงได้เสนอให้แก้ไข ม. 112 ต่อมาปี 2555 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) รวบรวมรายชื่อประชาชน 30,383 คน เสนอร่างแก้ไข ม. 112 ต่อรัฐสภา อย่างไรก็ตามรัฐสภาปฏิเสธที่จะรับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

หลังการรัฐประหาร คสช. มีการดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลจำนวนมาก iLaw ระบุว่า ตั้งแต่ ปี 2557-2562 มีคนถูกตั้งข้อหา ม. 112 อย่างน้อย 98 คน ซึ่งนักวิชาการเห็นว่า ม. 112 ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำหรับจัดการผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล

“รัฐประหาร คสช. เป็นการรักษาสถานะทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเดิม คือรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ เพื่อเอื้อประโยชน์ชนชั้นนำ ม. 112 ก็กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของคณาธิปไตยเล่นงานฝั่งตรงข้าม จัดการกับผู้เห็นต่าง รัฐบาลหลังเลือกตั้งเนื้อแท้แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่สืบทอดกันมา” ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุ

ในวันพฤหัสบดีนี้ นิสิตนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางส่วนได้ประท้วงโดยการไม่เข้าเรียนวิชากระบวนการยุติธรรมฯ ซึ่งมี ศ.(พิเศษ) ดร. จิรนิติ หะวานนท์ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลเป็นผู้สอน เช่นเดียวกับนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยที่แถลงการณ์ประณามคำวินิจฉัยดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง