ม. 112 เป็นเหตุ ศาล รธน. สั่งยุบก้าวไกล

ดับอนาคตทางการเมือง พิธา-ชัยธวัช และกก. บริหาร 10 ปี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.07
กรุงเทพฯ
ม. 112 เป็นเหตุ ศาล รธน. สั่งยุบก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะตัวแทนพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก่อนฟังการอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรค ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ วันที่ 7 สิงหาคม 2567
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในบ่ายวันพุธนี้ให้ยุบพรรคก้าวไกลอย่างเป็นเอกฉันท์ จากการที่พรรคใช้การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 ทั้งยังตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ซึ่งรวมถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค และนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคด้วย 

“ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้องตามที่กฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ แม้นักวิชาการสาขาต่าง ๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศ ต่างก็มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในประเทศแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใด ๆ ย่อมมีมารยาททางการทูตที่พึงปฏิบัติต่อกัน” ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัย

ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลได้นำนโยบายแก้ไข ม. 112 มาใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และได้รับคะแนนกว่า 14 ล้านเสียง ทำให้ก้าวไกลมี สส. มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง 151 คน จาก สส. ในสภาทั้งหมด 500 คน แต่ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัยคำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษ ร้องให้วินิจฉัยว่า การที่พรรคใช้ประเด็นแก้ไข ม. 112 มาหาเสียงเลือกตั้งเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

“พฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้งเป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ผู้ถูกร้องมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำให้อ่อนแอลง อันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด” ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ 

ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การหาเสียงด้วยการรณรงค์แก้ไข ม. 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ห้ามไม่ให้รณรงค์ หรือแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าวอีกในอนาคต ทำให้วันที่ 18 มีนาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่เกิดขึ้น

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลง ณ ที่ทำการพรรคหลังทราบคำวินิจฉัย ระบุว่า ผลคำวินิจฉัยวันนี้มีผลกระทบกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่าแค่พรรคก้าวไกลถูกยุบ

“คำวินิจฉัยในวันนี้ ส่งผลอย่างสำคัญเป็นการวางบรรทัดฐานในการตีความรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่อันตราย สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อหลักการสำคัญและคุณค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของพวกเราในอนาคต ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ในระยะยาวระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของพวกเรากลายพันธุ์ไปเป็นระบอบอื่นได้” นายชัยธวัช กล่าว

SPT08836.jpg
ประชาชนและผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ร่วมกิจกรรมและรับฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำการพรรคก้าวไกล อาคารอนาคตใหม่ กรุงเทพฯ วันที่ 7 สิงหาคม 2567 (สุภัทตรา โพล้งกล่ำ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์)

ศาลรัฐธรรมนูญยังได้ตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึง 31 มกราคม 2567 เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งผู้ที่ถูกตัดสิทธิประกอบด้วย 1. นายพิธา (สส. บัญชีรายชื่อ) 2. นายชัยธวัช (สส. บัญชีรายชื่อ) 3. น.ส. ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ 4. นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล 5. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา (สส. พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร) 6. นายสมชาย ฝั่งชลจิตร 7. นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล 8. นายอภิชาต ศิริสุนทร (สส. บัญชีรายชื่อ) 9. น.ส. เบญจา แสงจันทร์ (สส. บัญชีรายชื่อ) 10. นายสุเทพ อู่อ้น(สส. บัญชีรายชื่อ) และ 11. นายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ 

ขณะที่ นายพิธา ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าพรรคที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ระบุ หลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะยังคงทำงานการเมืองในฐานะพลเมือง 

“ถึงแม้ผมจะต้องอำลาในฐานะนักการเมือง ในฐานะผู้แทนราษฎร และการเดินทางบทนั้นของผมก็จบลง แต่ผมจะเริ่มต้นในการทำการเมืองในฐานะพลเมืองคนนึง เราจะก้าวข้ามมันไป เราเอาความคับแค้นใจ โมโห พลังงานที่มันมีอยู่ตอนนี้เราจะไม่ปล่อยให้มันกัดกินพวกเรา เราจะผลักมันและไประเบิดมันในคูหาทุกการเลือกตั้งต่อจากนี้ไป” นายพิธา ระบุ

ปัจจุบัน ก้าวไกลมี สส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและเขตรวมกัน 147 คน หลังจากนี้ สส. ของพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 143 คน จำเป็นต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน ตามเงื่อนไขของ มาตรา 101(10) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีการเปิดเผยว่า สส. เหล่านี้จะย้ายไปอยู่พรรคใดบ้าง แต่มีการเปิดเผยว่า พรรคใหม่จะเปิดตัวในวันที่ 9 สิงหาคมนี้

แรงกระเพื่อมยุบพรรค

“ฟังเหตุผลที่ศาลอธิบายออกมาแล้วมันรู้สึกไม่เป็นเหตุเป็นผล เราผิดหวัง สิ้นหวังกับคำอธิบาย และหงุดหงิด ความจริงเราไม่เหลือศรัทธากับกระบวนการยุติธรรมตั้งนานแล้ว การตัดสินแบบนี้ไม่ได้เพิ่มความสิ้นหวังให้เรา เพราะมันหมดไปตั้งนานแล้ว เมื่อเห็นแนวทางการตัดสินก่อนหน้านี้ ที่คล้ายว่าถ้าเป็นก้าวไกล อนาคตใหม่ยังไงก็ผิด” นายอัครวุฒิ พุ่มเชื้อ พนักงานบริษัทอายุ 39 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี สส. 80 คน จากกรณีที่เห็นว่า การที่พรรคกู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไปใช้ดำเนินกิจกรรมของพรรคในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี สมาชิกพรรคอนาคตใหม่จำนวนหนึ่งจึงออกมาอยู่กับพรรคก้าวไกล 

นายดีโพรซ มูเชนา ผู้อำนวยการอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำวินิจฉัยที่ไร้ความชอบธรรม 

“การยุบพรรคการเมืองเพียงเพราะเสนอให้ปฏิรูปกฎหมาย ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการสมาคม เป็นการละเมิดต่อสมาชิกรัฐสภาซึ่งเพียงแต่เสนอกฎหมายตามหน้าที่เท่านั้น การคุกคามอย่างต่อเนื่องของทางการไทยต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน เป็นภาพสะท้อนถึงความย้อนแย้งอย่างสิ้นเชิงกับคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยประกาศเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำโลกด้านสิทธิมนุษยชน” นายดีโพรซ กล่าวในแถลงการณ์

หลังการเลือกตั้งพฤษภาคม 2566 ก้าวไกลซึ่งได้ สส. มากที่สุด 151 คน ประกาศรวมเสียง สส. กับอีกเจ็ดพรรค 312 เสียง เสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ด้วยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ทำให้นายพิธาไม่ได้รับความเห็นชอบ และต้องส่งไม้ต่อการจัดตั้งรัฐบาลให้กับเพื่อไทย ซึ่งมี สส. เป็นอันดับสอง 141 คน เพราะพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อ้างว่า ร่วมงานกับพรรคที่เสนอแก้ไข ม. 112 ไม่ได้

ในอดีตประเทศไทยมีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วหลายครั้ง ในปี 2550 พรรคไทยรักไทยซึ่งมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าพรรค ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ ด้วยเห็นว่าพรรคกระทำการที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้สมาชิกบางส่วนย้ายไปก่อตั้งพรรคพลังประชาชน และถูกยุบอีกครั้ง จนเกิดพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน 

ขณะที่ พรรคชาติไทย ก็ถูกยุบด้วยข้อหาใกล้เคียงกัน ก่อนสมาชิกพรรคได้ก่อตั้งพรรคใหม่ชื่อ ชาติไทยพัฒนา พรรคไทยรักษาชาติ เคยถูกตัดสินยุบพรรคจากการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยหากนับตั้งแต่ปี 2550 มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบมาแล้วอย่างน้อย 17 พรรค

000_36BW23P.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลกอดลูกร่ำไห้หลังรับรู้คำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกลในกรุงเทพฯ วันที่ 7 สิงหาคม 2567 (ชนากานต์ เหล่าสารคาม/เอเอฟพี)

ด้านนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองการยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ว่า คำตัดสินวันนี้จะทำร้ายสังคมไทยไปอีกนาน ทำร้ายคนที่เป็นลูกหลาน ซึ่งรวมถึงลูกหลานของบรรดาคนที่ตัดสินคดี

“ประเด็นสำคัญคือ ม. 112 ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีฝ่ายนิติบัญญัติเสนอให้มีการถกเถียงกัน ก็ควรจะถกเถียงกันได้ ไม่ใช่การปิดปากว่าใครที่บังอาจแตะต้อง ม. 112 ก็จะถูกยุบพรรคไป อันนี้เป็นการกระทำที่เป็นปัญหาอย่างมาก” รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ผมไม่ได้เรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องไปยืนอยู่ข้างพรรคก้าวไกล แต่การที่คำวินิจฉัยในครั้งนี้จะทำให้ผู้คนยอมรับ ควรต้องวางอยู่บนหลักวิชาทางกฎหมาย และรวมถึงการตัดสินที่สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่ควรทำ” รศ. สมชาย ระบุ

ลิดรอนสิทธิ์ชาวไทยและบั่นทอนประชาธิปไตย

แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน

"คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคน ที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย"

"การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วถึงเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถาบันระดับชาติที่เข้มแข็ง สหรัฐฯ ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด แต่ในฐานะพันธมิตรและมิตรใกล้ชิดที่มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นยาวนาน เราเรียกร้องให้ไทยดำเนินการเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องประชาธิปไตย รวมถึงเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออก" แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ

ในปี 2563 การยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนรุ่นใหม่ มีการชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง กระทั่งกรกฎาคม 2563 เกิดการชุมนุมเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นำมาสู่การดำเนินคดี ม. 112 กับผู้ร่วมชุมนุม และผู้ที่แสดงความเห็นบนโลกออนไลน์

“การยุบพรรค ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนพรรคที่เชียร์อยู่แล้ว เพราะเราเชียร์เขาที่อุดมการณ์ การตัดสินใจ การแสดงออกต่อเรื่องต่าง ๆ ถ้าพรรคใดที่ยังแบกอุดมการณ์แบบนี้ต่อไปเราก็จะเชียร์ แต่เราก็เชื่อว่า ไม่ใช่โหวตเตอร์ของก้าวไกลทุกคนที่จะตามไปเชียร์พรรคที่ถูกตั้งขึ้นใหม่จากเชื้อของก้าวไกล เพราะถ้าเขาเลือกเพราะพรรคมีนโยบายแก้ ม. 112 แต่พรรคใหม่ไม่แตะต้อง ม. 112 ก็อาจจะมีคนคิดว่าไม่ต้องตามไปซัพพอร์ต” นายอัครวุฒิ ระบุ 

วรรณา แต้มทอง ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง