นายกเตรียมจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่น เพิ่มอีก 35 ล้านโดส
2021.04.21
กรุงเทพฯ และปัตตานี
ในวันพุธนี้ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านเฟซบุ๊ก เผยว่าคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ข้อยุติจัดหาวัคซีน COVID-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่ม 35 ล้านโดส โดยในจำนวนดังกล่าว 10-15 ล้านโดส ภาคเอกชนจะเป็นจัดหาให้กับพนักงานของตนเอง เพื่อเร่งกระจายการฉีดให้เร็วขึ้น โดยสามารถกระจายและฉีดวัคซีนเสร็จสิ้น ภายใน ธ.ค.นี้
ขณะที่ ในวันนี้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลาคาดว่า ชาวไทยยังคงทยอยเดินทางจากมาเลเซีย แม้เลยดีเดย์วันสุดท้าย หลังจากที่รัฐบาลมาเลเซียประกาศเส้นตายให้ชาวต่างชาติที่อาศัยในมาเลเซียเกินกำหนด ต้องออกจากประเทศก่อน 21 เม.ย. 2564 หลังจากที่ได้มีการผ่อนผันมาแล้วหลายครั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" ระบุว่า คณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ข้อยุติแล้วว่า ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีน COVID-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้ว 65 ล้านโดส
“ในจำนวน 35 ล้านโดส ภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทย จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย 10-15 ล้านโดส ซึ่งช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล.. สำหรับกระบวนการต่อไป เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการโดยเร่งด่วนและเป็นไปตามกฎหมาย โดยสั่งการให้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้” ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุ
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวผ่านการประชุมระบบทางไกลระหว่างคณะกรรมการหอค้าไทย กับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ใน 40 บริษัทใหญ่ของไทย ว่า ขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะทำงาน ที่พิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว
“ภาคเอกชนนำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้แก่พนักงานลูกจ้างเองด้วย เพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ชัดเจนจะมีการหารือในคณะทำงาน กกร.อีกครั้ง” นายสนั่นกล่าว “เอกชนยินดีที่จะจ่ายค่าวัคซีนเพื่อแบ่งเบาภาระ ซึ่งเอกชนจะหาแหล่งและเจรจา แต่ต้องใช้องค์กรของภาครัฐนำเข้า และสร้างความเชื่อมั่นว่า เอกชนยินดีจ่ายเอง เพื่อเร่งกระจายการฉีดให้เร็วขึ้น” นายสนั่นกล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้กระบวนการต่อไป จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามกฎหมาย โดยคณะทำงานพิจารณาจัดหาวัคซีนได้วางแผนการกระจายและฉีดวัคซีนที่จัดหามาทั้งหมด ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีน ประกอบด้วย คณะแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข องค์การเภสัชกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากผู้ผลิตไฟเซอร์ ว่า นายกฯ สนับสนุนสธ. ในการจัดหาวัคซีนทุกชนิดที่มีความปลอดภัย และได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่ไม่ได้ระบุเป็นยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง
“ท่านนายกฯ ก็บอกให้เป็นแนวทางว่า ให้เผื่อไว้ที่ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากร เราก็พยายามจะหาวัคซีนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใด… เวลาแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน 6 เดือนที่แล้ว ไม่มีใครบอกว่าจะส่งวัคซีนได้เมื่อไหร่ แต่ประเทศไทยเราสั่งวัคซีนแอสตราเซเนกา 60 กว่าล้านโดส เจ้าอื่นก็เริ่มเข้ามาแล้ว จากที่เคยบอกว่า ส่งสิ้นปี 2564 ก็เลื่อนมาเป็นไตรมาส 3 ของปี เราก็เจรจาขอให้ส่งในปลายไตรมาส 2 ได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา” นายอนุทิน กล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงกรณีที่ประชาชน 6 คน เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หลังรับวัคซีนซิโนแวค โดย นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่า เป็นกลุ่มอาการคล้ายโรคทางระบบประสาท แต่เป็นชั่วคราว โดยที่ล็อตดังกล่าวฉีดไปกว่า 300,000 คน ยังไม่พบผู้มีอาการคล้ายกลุ่มนี้
“วัคซีนตัวดังกล่าวเป็นวัคซีน CoronaVac Lot No. J202103001 ที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการคล้ายอัมพฤกษ์ทั้ง 6 คน ได้รับจากล็อตเดียวกัน โดยทั้ง 6 คน มีอาการหลังรับวัคซีน ตั้งแต่เวลา 5-30 นาที เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. จำนวน 1 คน วันที่ 6 เม.ย. จำนวน 1 คน วันที่ 8 เม.ย. จำนวน 2 คน และวันที่ 9 เม.ย. จำนวน 2 คน โดยอาการที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงกับระบบทางเดินสมอง พบอาการชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง และมีอีก 1 คน มีอาการชาแต่ไม่มีอาการอ่อนแรง” นพ.ทวีทรัพย์ ระบุ
“การฉีดวัคซีนได้ดำเนินการฉีดแล้วกว่า 600,000 คน และติดตามอาการไม่พึ่งประสงค์ทุกคน ไม่ว่าจะเกิดอาการรุนแรงหรือไม่ เพื่อจะได้เข้าสอบสวนและวินิจฉัยต่อไป จนนำมาซึ่งการประเมินและชั่งน้ำหนักว่า มีความเกี่ยวเนื่องกับวัคซีนหรือไม่ เมื่อได้ลงความเห็นแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญต่อไป” กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ศบค. ระบุว่าไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,458 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสม 46,643 ราย รักษาหายเพิ่ม 413 ราย รวมรักษาหายสะสม 29,271 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 110 ราย
ดีเดย์วันสุดท้าย มาเลย์ผลักดันชาวต่างชาติออกจากประเทศ
หลังจากที่ทางการมาเลเซียประกาศให้วันพุธที่ 21 เมษายนนี้ เป็นวันสุดท้าย ที่จะยกเลิกการผ่อนผันชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศที่ถือวีซ่า นักท่องเที่ยว Social Visit Pass ที่อนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ หลังจากได้เคยผ่อนปรนให้สามารถอาศัยอยู่ในประเทศต่อได้ แม้ว่าวีซ่าจะหมดอายุ พลตรี ศานติ ศกุนตนาค ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ต้องประเมินสถานการณ์ว่าหลังจากวันนี้ ทางการมาเลเซียจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะความเข้มข้นกับการดำเนินการกับชาวต่างชาติที่ยังอยู่ในประเทศ หากมีการตรวจจับตามที่ได้มีการประกาศไว้ โดยคาดว่าจะมีผู้เดินทางกลับมาอีกจำนวนมาก โดยใช้ช่องทางที่ถูกต้อง และช่องทางธรรมชาติที่เข้ามาโดยผิดกฎหมาย
“ที่ผ่านมารั้วตามแนวชายแดนในพื้นที่จังหวัดสงขลา ระยะทางกว่า 85 กิโลเมตร พบมีการตัดทำลายกว่าร้อยจุด เพื่อนำคนลักลอบเข้ามา และใช้สำหรับขนสิ่งผิดกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่ได้ซ่อมแซมเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ยังพบว่ายังคงมีการพยายามหาทางเจาะช่องทางใหม่ ๆ เข้ามาโดยตลอด กำลังเจ้าหน้าที่ก็ได้ปรับใช้การเดินลาดตระเวนตรวจตรา พร้อมนำเครื่องมือ และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเสริมเพื่อใช้ตรวจจับ เพื่อป้องกันในทุกทาง” พลตรี ศานติ กล่าว
ขณะที่นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เผยว่า ช่วงเช้ามีผู้ที่ลงทะเบียนกลับเข้ามาจำนวน 68 คน แต่เข้ามาเพียง 48 คน และผู้ที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติจากอำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอแว้ง จำนวน 25คน ทั้งหมดได้นำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองและกักกันที่ศูนย์กักกันตามภูมิลำเนา ยกเว้นผู้ที่มีภูมิลำเนานอกเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเข้าพักที่ศูนย์กักกัน จังหวัดนราธิวาส
“คณะทำงานจังหวัดนราธิวาสให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองบุคคล เพื่อป้องกันบุคคลที่นำเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาภายในประเทศ ซึ่งได้กำชับให้คณะทำงานส่วนหน้ารักษาความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงสุด พร้อมยืนยันบุคคลที่นำเข้าสู่กระบวนการกักกันจะไม่สามารถออกไปสู่สังคมภายนอกจนกว่าจะกักตัวครบ 14 วัน” นายเจษฎา ระบุ
นอกจากนี้สถานการณ์โควิด จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย รวมยอดทั้งหมด 10 ราย โดยนายอำเภอกรงปินัง จ.ยะลา สั่งปิดหมู่บ้านกีเยาะ ห้ามเข้า-ออกเด็ดขาด 14 วัน หลังเจอกลุ่มเสี่ยงโควิดหวั่นแพร่เชื้อ สัมผัสเสี่ยงกับคนในครอบครัว เร่งตรวจทั้งหมู่บ้าน 500 คน หลังจากพบกลุ่มเสี่ยงโควิด เป็นผู้หญิง อายุ 46 ปี ขายของอยู่ที่ตลาดเมืองใหม่ยะลา เขตเทศบาลนครยะลา และได้สัมผัสกับคนในครอบครัว ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จึงเข้าข่ายเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยง ขณะเดียวกัน ได้ประสานให้ทางโรงพยาบาลกรงปินัง ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงไปสอบสวนโรคในหมู่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถคัดกรองสอบสวนโรคชาวบ้าน ขณะที่ ในช่วงกลางคืนจะมีเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) และ ชุดรักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้านเข้าเวรยาม เพื่อเฝ้าระวังตลอดเวลาอย่างเข้มงวด ไม่ให้มีใครผ่านเข้าออกหมู่บ้านได้
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว