แรงงานประมงลาวในมาเลเซียทยอยหนีเข้าไทยก่อน เพื่อเดินทางกลับลาว
2020.12.18
นราธิวาส และปัตตานี
เจ้าหน้าที่ในจังหวัดนราธิวาส ได้แถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2563 วานนี้ ถึงการจับกุมแรงงานต่างด้าวชาวลาว จำนวน 20 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กลุ่มที่สอง ในห้วงเดือนธันวาคมนี้ โดยทั้งหมดเป็นแรงงานประมงในรัฐปะหัง ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของมาเลเซีย ที่ได้ลักลอบผ่านแดนเข้ามาโดยไม่ถูกกฎหมาย โดยตั้งใจจะมุ่งหน้ากลับประเทศลาว
พ.ต.อ.จำรัส รุ่งเรือง ผกก.สภ.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมบุคคลสัญชาติลาว เพศชาย จำนวน 20 คน ที่ลอบพักอาศัยอยู่ที่บ้านไม่มีบ้านเลขที่ ซึ่งทั้งหมดได้ลักลอบข้ามแดนจากพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย บริเวณช่องทางข้ามธรรมชาติท่าปรือเดาะ บ้านปาดังยอ ม.3 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก เมื่อช่วงดึกของวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา จากนั้น เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวได้ เมื่อเวลา 01.00 น. วันที่ 17 ธ.ค. 63 ขณะที่แรงงานต่างด้าวทั้งหมด กำลังทยอยกันขึ้นรถยนต์เพื่อเดินทางต่อไป แต่เจ้าของรถยนต์ทั้ง 2 คัน สามารถวิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปได้
“เมื่อคืน (17 ธ.ค.) จับแรงงานชาวลาวข้ามเข้ามา 20 คน ต้องข้อกล่าวหาดำเนินคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายกับทุกคนแล้ว เจ้าหน้าที่จะผลักดันกลับประเทศลาวต่อไป” พ.ต.อ.จำรัส รุ่งเรือง ผกก.สภ.มูโนะ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
และในวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่ สภ.มูโนะ นายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ขณะนี้มีแรงงานชาวลาว ถูกกักตัวตามสถานีตำรวจต่าง ๆ 53 คน กระจายอยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภออื่น ในจังหวัดนราธิวาส
“ตอนนี้ มีแรงงานลาว 53 คน ที่ถูกกักตัวในหลายสถานีตำรวจในสุไหงโก-ลก และอำเภออื่น เพื่อไม่ให้แออัด ปกติจะไม่เปรียบเทียบปรับ แต่จะส่งตัวกลับประเทศลาวโดยเร็วที่สุด” เจ้าหน้าที่ สภ.มูโนะ รายเดียวกันกล่าวโดยขอสงวนนาม
นายสีไว เจริญสุก อายุ 34 ปี หนึ่งในแรงงานชาวลาวที่นำมาแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ กล่าวว่า พวกตนทำงานเป็นแรงงานในเรือประมง ในรัฐปะหัง แต่ถูกเลิกจ้าง จึงได้ติดต่อสถานกงสุลลาว ในมาเลเซีย แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ
“พวกเราทำงานเป็นแรงงานประมง ขนาด 10 ตันกรอส ในรัฐปะหัง มาเลเซีย นานกว่า 17 ปี ก่อนกลับมา มีนายหน้ามาหาที่แพปลาที่พวกเราทำงานอยู่ ไม่ทราบว่าเป็นคนไทยหรือเป็นคนมาเลเซีย เขาพูดภาษาไทยและภาษามาเลเซียได้ จริง ๆ ได้ติดต่อสถานกงสุลประเทศลาวไว้แล้ว พวกเรารอนานกว่า 2 เดือน พอมีนายหน้ามาติดต่อ จึงตัดสินใจเสียค่านายหน้า และยอมหลบหนีเข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมาย เพราะอยากกลับบ้าน” นายสีไว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“อยู่ที่นั่นก็ไม่มีงานทำ นายจ้างเลิกจ้าง พวกเราเดือดร้อนหนัก เงินที่ทำงานมาก็น้อยลง... คิดว่าไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า”
“เราออกเดินทางโดยรถบัสปรับอากาศ จากรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. มาถึงใกล้ ๆ ชายแดน เวลา 20.00 น. ได้เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาทต่อคน ให้กับนายหน้า ราคานี้เขาจะไปส่งถึง จ.ปัตตานี ถ้ากลับบ้านที่ประเทศลาวก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก” นายสีไว กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นายสีไวกล่าวว่า หากวันไหนสถานการณ์โควิดดีขึ้น ก็จะกลับไปทำงานในมาเลเซียอีก เพราะที่บ้านเกิดของพวกตนนั้น ไม่มีตำแหน่งงานและค่าแรงถูกมาก ขณะที่หากออกเรือได้ ก็จะมีรายได้ที่ 15,000 ถึง 20,000 บาทต่อเดือน
ตามรายงานของ เรดิโอ ฟรี เอเชีย สำนักงานข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ ที่ได้สัมภาษณ์แรงงานชาวลาวรายหนึ่ง ในรัฐยะโฮร์ ทราบว่ามีแรงงานประมงชาวลาว 600-700 คน ทำงานในมาเลเซีย ซึ่งเข้าไปทำงานโดยถูกกฎหมาย แต่เมื่อมีสภาพคลื่นลมรุนแรงในหน้ามรสุม จึงทำให้รายได้แบบปันส่วนกันนายจ้างชาวมาเลเซียนั้นลดลง
ทางกลุ่มได้ติดต่อกับสถานกงสุลลาว ในประเทศมาเลเซีย เพื่อเช่าเหมาลำเครื่องบินเดินทางกลับนครเวียงจันทน์ แต่รอจนกระทั่งสองเดือนแล้ว ทางรัฐบาลลาวไม่สามารถจัดให้ได้ เพราะไม่มีศูนย์กักตัว ชาวประมงลาวจึงได้ทยอยเดินทางเข้ามาทางชายแดนไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ได้มีการจับกุมกลุ่มแรงงานลาวจำนวน 20 คนเช่นกัน ซึ่งเป็นแรงงานประมงที่เดินทางเข้าเมืองผิดกฎหมาย และกำลังจะโดยสารรถยนต์ ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อกลับประเทศลาว ถูกกักตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ภาค 6 ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานี้ นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังได้ร่วมกันแถลงข่าวการจับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม 7 คน โดยแยกเป็นผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 5 คน ที่ลักลอบเดินทางข้ามแดนที่ช่องทางธรรมชาติ บ้านกวารอซีลา ม.7 ต.ปาเสมัส จากพื้นที่รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย มายังฝั่งประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่กองกำลัง 3 ฝ่าย สามารถจับกุมตัวได้เมื่อเวลา 23.00 น. ของคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีการจับกุมรายอื่นอีก ในห้วงสัปดาห์นี้
เมื่อวันอังคารนี้ เครือข่ายการย้ายถิ่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Migration Network – MMN) เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้เรียกร้องต่อรัฐบาลไทย กัมพูชา และเมียนมา ให้เร่งดำเนินนโยบาย เพื่อไม่ให้มีแรงงานข้ามชาติถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังท่ามกลางวิกฤตโควิด-19