นักวิเคราะห์ชี้ ปลดนายกฯ อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้
2024.08.15
กัวลาลัมเปอร์
ศาลรัฐธรรมนูญไทยวินิจฉัยให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นสภาพนายกรัฐมนตรีอย่างกะทันหัน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดน ที่ยังคงดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า อาจมีการเปลี่ยนแปลงกับหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ที่อดีตนายกฯ แต่งตั้ง
การตัดสินใจของนายเศรษฐาในการแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด เป็นหัวหน้าพลเรือนคนแรกของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ถือเป็นพัฒนาการที่ดี ผู้สังเกตการณ์กล่าว เนื่องจากพื้นที่ชายแดนภาคใต้ไทยนั้นมีกำลังทหารหนาแน่น และก่อนหน้ามีเพียงนายทหารที่ทำงานในตำแหน่งนี้
นายฉัตรชัย มีแนวทางที่แตกต่างอย่างชัดเจนในการดำเนินการกระบวนการการพูดคุย เมื่อเปรียบเทียบกับอดีตนายทหารคนก่อน ๆ
อีกทั้งเมื่อเดือนที่แล้วมาเลเซีย มีการเสนอชื่อ โมฮัมหมัด ราบิน บาซีร์ เป็นผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียคนใหม่ การเปลี่ยนแปลงล่าสุดส่อข้อวิตกว่า อาจจะทำให้กระบวนการการพูดคุยฯ ที่ดำเนินไปอย่างล่าช้าอยู่แล้วติดขัดมากขึ้น
นักวิเคราะห์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า แนวทางพลเรือนของนายฉัตรชัย ได้เปิดโอกาสพูดคุยมากขึ้นให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional - BRN) กลุ่มซึ่งต่อสู้เพื่อรัฐเอกราชสำหรับชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2547
การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ส่งให้นายเศรษฐาพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี อาจเป็นผลเสียต่อความก้าวหน้าในกระบวนการพูดคุยฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ โมห์ด. มิซาน โมฮัมหมัด อัสลาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศมาเลเซีย กล่าว
"เรากำลังมีการพัฒนาในหนทางสู่สันติภาพ" มิซาน บอกกับเบนาร์นิวส์
“นายเศรษฐา มีแนวทางที่ชัดเจนต่อกระบวนการสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาพูดอย่างเปิดเผย โดยขอให้รัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยการเจรจา และแต่งตั้งนายฉัตรชัยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยกระบวนการสันติภาพ”
มิซานกล่าวว่า การหาคนแทนนายฉัตรชัย ด้วยบุคคลสำคัญจากกองทัพ อาจทำให้การเจรจาหยุดชะงัก เนื่องจากบีอาร์เอ็นในอดีตไม่ไว้วางใจกองทัพ เนื่องจากการปะทะในอดีตและการเสริมกำลังทางทหารในพื้นที่
“แนวทางของกองทัพ มักเป็นเรื่องของ 'ชนะหรือแพ้' ในขณะที่นายฉัตรชัย ซึ่งเป็นพลเรือน อาศัยแนวทางการพูดคุยกับบีอาร์เอ็นอย่างเปิดเผยและเปิดกว้างมากขึ้น"
“การมีจุดตรวจทางทหารหลายแห่ง ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่า พื้นที่ชายแดนใต้อยู่ภายใต้การปกครองของทหาร และอาจจะทำให้ความพยายามในการสร้างความไว้วางใจมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น” มิซานกล่าวเสริม
พื้นที่ชายแดนภาคใต้ รวมทั้งปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ตามแนวชายแดนมาเลเซียมานานหลายทศวรรษ
โดยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ได้เกิดเหตุคาร์บอมบ์ ในจังหวัดยะลา ส่งผลให้ครูในโรงเรียนเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีก 21 ราย ในเดือนมีนาคม การวางระเบิดและลอบวางเพลิงหลายระลอกติดต่อกัน ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือผู้ต้องสงสัยกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยพุ่งเป้าหมายโจมตีสถานที่ร่วม 40 แห่ง ใน 4 จังหวัด และมีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิต 1 ราย
นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึง 30 มิถุนายน 2567 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,600 ราย และบาดเจ็บอีก 14,200 ราย จากเหตุการณ์ความไม่สงบทั่วทั้งพื้นที่ ตามรายงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
รัฐบาลไทยเริ่มการเจรจาโดยตรงกับกลุ่มกบฏบีอาร์เอ็นในปี 2563 หลังจากการพูดคุยหลายปีกับกลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มที่เป็นตัวแทนของกลุ่มกบฏหลายกลุ่ม รวมถึงบีอาร์เอ็นด้วย ในปี 2556 มาเลเซีย กลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ให้ทั้งสองฝ่าย
นายฉัตรชัย เสนอแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งมีการแก้ไขในเดือนมิถุนายน และมีกำหนดร่วมรับรองแผนปฏิบัติในเดือนสิงหาคม 2567 ทั้งสองฝ่ายได้มีการพิจารณาในเรื่องของหลักการแผน JCPP และได้เห็นชอบในหลักการ JCPP มี 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
ความละเอียดอ่อน ของแนวทางการพูดคุยฯ
ยาซิด ซุล เคปลี จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ เตือนว่าสมดุลที่ละเอียดอ่อนที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากการแต่งตั้งของนายฉัตรชัย อาจขาดหายไปอีก หากมีการแต่งตั้งผู้นำคณะพูดคุยฯ คนใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มความรุนแรงและทำลายความพยายามของมาเลเซียในการไกล่เกลี่ย
“เหตุการณ์ความรุนแรงลดลงในช่วงหลายปีมานี้ โดยคาดว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นบริเวณชายแดนมาเลเซีย”
“อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกระบวนการสันติภาพอาจทำลายความคืบหน้าที่เกิดขึ้นได้ มาเลเซียต้องรักษาความเป็นกลาง และให้คำมั่นว่าทั้งรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นรู้สึกปลอดภัยในกระบวนการเจรจา” ยาซิดบอกกับเบนาร์นิวส์
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย กล่าวให้คำมั่นว่า มาเลเซียจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยสันติสุข ให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เช่น เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการศึกษา
“การพูดคุยสันติภาพในชายแดนภาคใต้ไทย เป็นประเด็นภายในประเทศของไทย แต่เพราะความสัมพันธ์อันดีของเราสองประเทศ ทำให้ฝ่ายไทยแสวงหาความร่วมมือจากเรา” อันวาร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อเยือนชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม
“สิ่งสำคัญคือ ผู้นำของทั้งสองรัฐบาลต้องการช่วยเร่งกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ”
อันวาร์ อิบราฮิม จากมาเลเซีย ได้พบกับนายเศรษฐา สามครั้ง ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อ สำนักงานผู้อำนวยความสะดวก สภาความมั่นคงแห่งชาติ มาเลเซีย เพื่อขอความเห็นว่าการพ้นสภาพนายกฯ ของเศรษฐาส่งผลอย่างไร แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ
เบนาร์นิวส์ยังพยายามติดต่อกับผู้ร่วมงานของนายฉัตรชัย และฝ่ายบีอาร์เอ็น เพื่อขอความเห็นว่าการพูดคุยสันติสุขจะได้รับผลกระทบหรือไม่ แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกัน ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ความมั่นคงในไทย ตั้งข้อสังเกตว่า ยังคงไม่แน่ใจว่า นายฉัตรชัยจะยังคงปฏิบัติงานต่อไปหรือไม่ เนื่องจากคณะทำงานของเขายังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากที่ปรึกษาของรัฐบาล ในการจัดการการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับบีอาร์เอ็น
โดยกล่าวหาว่า พวกเขาทำให้ประเทศเสียเปรียบและทำเกินบทบาทของตน ดอน กล่าว
“ที่ปรึกษาของรัฐบาลรายหนึ่งแนะนำว่า การลดความรุนแรงควรเป็นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลถึงกลุ่มกบฏ อย่างไรก็ตาม กลุ่มกบฏไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่ามีข้อตกลงอย่างเป็นทางการในการลดความเป็นปฏิปักษ์เทียบเท่ากับการยอมจำนนต่อการต่อสู้ของพวกเขา” ดอน บอกกับเบนาร์นิวส์
ดอน ปาทาน กล่าวว่า การแต่งตั้งพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ สอดคล้องกับความพยายามของเศรษฐา พรรคเพื่อไทย ที่ต้องการคืนอำนาจสูงสุดแก่พลเรือน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงของเพื่อไทย
“ในขณะที่ตัวแทนการพูดคุยทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็น และฝ่ายไทย อาจจะสร้างความสะดวกใจต่อกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นของพวกเขาคือ เขาต้องมั่นใจว่า ผลข้อสรุปจากการเจรจาพูดคุย จะต้องถูกนำไปปฏิบัติในพื้นที่” ดอนกล่าว