หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขเยือนกรุงเทพ
2023.02.03
ปัตตานีและกรุงเทพ
คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทยให้การต้อนรับ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขคนใหม่ ที่มาเยือนประเทศไทยในสัปดาห์นี้ หลังจากที่ พล.อ. ซุลกิฟลี ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม
ทั้งนี้ คณะพูดคุยฝ่ายไทยกล่าวว่า ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียได้แจ้งให้ทางการไทยทราบว่ามีกำหนดเชิญพูดคุยเต็มคณะกับกลุ่มผู้เห็นต่าง เป็นครั้งที่ 6 ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยและสถานทูตไทยในมาเลเซียกล่าวว่า พล.อ. ซุลกิฟลี อดีตผู้บัญชาการกองทัพบก ได้เข้าพบปะกับ พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยเมื่อวานนี้ และในวันนี้ ได้พบปะทำความรู้จักกับสมาชิกในคณะพูดคุยฝ่ายไทยจากหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ และทหาร เพื่อสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน
“ผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และเน้นย้ำว่าไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และมีความจริงใจในการช่วยแก้ไขปัญหา กำหนดเชิญพูดคุยเต็มคณะครั้งที่ 6 ในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์” แถลงการณ์ฝ่ายไทยระบุ
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยระบุว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยในระยะต่อไป ซึ่งจะได้หยิบยกเรื่อง Joint Comprehensive Plan Towards Peace (JCPP) หรือกรอบความร่วมมือเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม ซึ่งเป็นการต่อยอดและขยายผลหลักการทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมภายในปี 2566 ทั้งในเรื่องการลดการเผชิญหน้า ยุติความรุนแรง การปรึกษาหารือสาธารณะ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงมีประปรายและต่อเนื่อง โดยช่วงค่ำของวันพฤหัสบดีนี้ เกิดเหตุคนร้ายขว้างไปป์บอมบ์ และใช้อาวุธปืนโจมตีใส่จุดตรวจฐานปฏิบัติการชุดเฉพาะกิจนาวิกโยธิน บ้านบาตู ม.6 ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้
ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลต้องการตัวจริงขึ้นโต๊ะเจรจา
ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล กล่าวกับเบนาร์นิวส์ถึงการเยือนประเทศไทยของ พล.อ. ซุลกิฟลี ว่าอยากให้ผู้อำนวยความสะดวกฯ คนใหม่ผลักดันให้ผู้เห็นต่างตัวจริงเข้าร่วมเจรจาให้มากขึ้น
“ส่วนตัวของผม อยากให้เขาผลักดันให้คนที่เราอยากจะคุยด้วยจริง ๆ ออกมามากขึ้น จริงอยู่ว่าคนที่เขาส่งมาเจรจาเป็นตัวจริง แต่เราก็คาดหวังให้คนที่มาคุยเป็นคนที่มีผลจริง ๆ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่คนที่เคยเป็น ออกมาเจรจา” ดร. ปณิธาน กล่าว แต่ไม่ได้ระบุชื่อผู้ที่ไทยต้องการให้ร่วมพูดคุยสันติสุขฯ
ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 พล.อ. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฯ ในขณะนั้น เปิดเผยว่า เขาต้องการให้มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เชิญนายดูนเลาะ แวมะนอ ประธานสภาองค์กรนำบีอาร์เอ็นในขณะนั้น มาร่วมการพูดคุย อย่างไรก็ตาม นายอับดุล ราฮิม นูร์ หัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยสันติสุขฯ คนเก่า ได้เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในเดือนมกราคม ปี 2562 ว่า เคยเชิญ “กลุ่มฮาร์ดคอร์” ซึ่งรวมถึงนายดูนเลาะมาร่วมการพูดคุยแล้วสองครั้ง แต่ไม่มาตามนัด
ความหวังในนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่
นอกจากนี้ ดร. ปณิธาน กล่าวว่า รัฐบาลไทยตระเตรียมการต้อนรับนายอันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาเยือนไทยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ ซึ่งจะมีประโยชน์กับการพูดคุยสันติสุขฯ
“นายกฯ อันวาร์ ก็มีความเชื่อมโยงกับพลวัตรใหม่ ๆ ที่เราต้องการ ในเรื่องการทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเขาเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม การเมืองท้องถิ่น และบุคคลสำคัญในไทย เช่น ท่านรองนายกรัฐมนตรี อย่างที่เป็นข่าว คิดว่าการมาครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับกระบวนการพูดคุยมากขึ้น” ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“แต่ประเด็นสำคัญที่คิดว่ามาเลเซียจะเจรจากับไทยคือ การยกระดับความร่วมมือมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการข้ามแดน การลงทุน การศึกษา พลังงาน สิ่งแวดล้อม เรื่องละเอียดอ่อนในอดีต เช่น คนสองสัญชาติ ซึ่งถ้ามีการเจรจากันอย่างจริงจัง ก็น่าจะแก้ปัญหาได้” ดร. ปณิธาน ระบุ
ดร. ปณิธาน ยังได้กล่าวว่า การข้ามเขตแดนไปมาด้วยช่องทางธรรมชาติของผู้ไม่หวังดีทั้งไทยและมาเลเซีย ยังสามารถทำได้ง่าย ซึ่งหากมีการร่วมมือของมาเลเซีย-ไทยที่ดีขึ้น น่าจะช่วยลดปัญหาตรงนี้ได้
“เชื่อว่า นายกฯ อันวาร์ ก็น่าจะมีความตั้งใจในเรื่องนี้ เพราะเขาน่าจะมองเป็นมรดกของเขา และเขาก็มีส่วนร่วมมาตั้งแต่เริ่มต้น การดูแลชายแดนร่วมกัน ลาดตระเวนร่วมกัน ก็น่าจะช่วยสกัดกั้นผู้ที่หนีคดีจากมาเลเซียมาไทย หรือฝ่ายไทยไปมาเลเซีย ป้องกันผู้ไม่หวังดีให้ข้ามแดนมาสร้างความวุ่นวายได้” ดร. ปณิธาน กล่าวทางโทรศัพท์
ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โมฮัด มิซาน โมฮัมหมัด ฮัสลาม อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งมาเลเซีย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซียจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเจรจา
“ท่านเป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือในประเทศไทย ผมทราบว่าในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี นายอันวาร์ อิบราฮัม ได้ให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิมมากมาย โดยเฉพาะในโรงเรียนศาสนา ดังนั้น ผมเชื่อว่าท่านจะมีบทบาทที่สำคัญ” โมฮัด มิซาน กล่าว
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 7,300 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,500 ราย
รัฐบาลไทยและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่จัดตั้งคณะเจรจาในรูปแบบต่าง ๆ ได้เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความไม่สงบร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 แต่ต้องหยุดชะงักหลายครั้ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยของฝ่ายผู้เห็นต่าง รวมทั้งการระบาดของโควิด-19
ในต้นปี 2563 ขบวนการบีอาร์เอ็น นำโดย อุสตาซ อานัส อับดุลเราะห์มาน (หรือนายฮีพนี มะเระ) ได้เจรจากับฝ่ายไทยโดยตรง จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 2565 ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ที่จะดำเนินการหยุดยิงชั่วคราวในระหว่างการดำเนินการ “รอมฎอนเพื่อสันติสุข” แต่เมื่อมาเลเซียมีการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต้องเลื่อนการเจรจากันแบบตัวต่อตัว ครั้งที่ 6 ที่เดิมกำหนดไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565
นิชา เดวิด ร่วมรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย