รายงาน : ความไว้วางใจของภูมิภาคเอเชียอาคเนยฺต่อสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ขณะที่กับจีน ลดน้อยลง

ไชลาจา นีลากันตัน
2021.02.11
วอชิงตัน
รายงาน : ความไว้วางใจของภูมิภาคเอเชียอาคเนยฺต่อสหรัฐฯ พุ่งขึ้น ขณะที่กับจีน ลดน้อยลง เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนจัดความเรียบร้อยของธงชาติสหรัฐฯ และจีน หลังการประชุมยุทธศาสตร์ระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
รอยเตอร์

ผู้คนในหลากสาขาวิชาชีพ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างกังวลว่า จีนอาจใช้อำนาจทางการเงินและการทหาร เพื่อคุกคามอธิปไตยของประเทศตน นี่เป็นเหตุผลว่า เหตุใดพวกเขาเหล่านี้จึงไว้วางใจสหรัฐฯ มากกว่าจีน ในการทำงานเพื่อสันติภาพของโลก ตามรายงานฉบับใหม่ที่เขียนโดยสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะ ในสิงคโปร์ 

ผลการสำรวจของศูนย์เอเชียอาคเนย์ศึกษาที่ ISEAS - Yusof Ishak Institute พบว่า สหรัฐฯ ได้รับความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นมากจากปีที่แล้ว ว่าจะเป็นผู้นำในการส่งเสริมสันติภาพ ขณะที่ ประชาชนจากหลากวิชาชีพจำนวนน้อยลง ในทั่วภูมิภาค ที่ให้ความไว้วางใจจีนในเรื่องนี้   

“การสูญเสียความไว้วางใจต่อจีนของภูมิภาคนี้กำลังเพิ่มมากขึ้น จีนเป็นมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวที่คะแนนการสูญเสียความไว้วางใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.4 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 63 ในปี 2564” ตามรายงาน “สภาวะแวดล้อมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2564” 

“อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เหนือกว่าของจีนในภูมิภาคนี้ ได้สร้างความหวาดหวั่นมากกว่าความชอบ... คนส่วนใหญ่กังวลว่า อิทธิพลอันมหาศาลทางเศรษฐกิจ ประกอบกับอำนาจทางทหารของจีน อาจถูกใช้เพื่อคุกคามผลประโยชน์และอธิปไตยของประเทศตน” รายงานฯ ระบุ

ศูนย์วิจัยดังกล่าวสำรวจความคิดเห็นกว่า 1,000 คน ใน 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

ในทางกลับกัน คะแนนความไว้วางใจของสหรัฐอเมริกาได้ “เปลี่ยนทิศทางอย่างน่าประหลาดใจ” โดยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.3 ในปี 2564 เมื่อเทียบกับร้อยละ 30.3 เมื่อปีที่แล้ว

ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้ที่ไว้วางใจสหรัฐฯ เหล่านี้กล่าวว่า ตนเชื่อว่าสหรัฐฯ มี “เจตจำนงทางการเมืองที่จะเป็นผู้นำโลก” และอำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ “เป็นประโยชน์ต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก”  

“ผู้ตอบแบบสำรวจได้ลืมการปล่อยปละละเลยชาติต่าง ๆ ในอาเซียนในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาของประธานาธิบดีทรัมป์ และหันกลับไปให้ความเชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อรัฐบาลของไบเดนเข้ามาบริหารประเทศแล้วหรือ” รายงานกล่าว จากกลุ่มเป้าหมายที่ตอบแบบสำรวจทั่วทั้งภูมิภาคนี้ ในระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึง 10 มกราคม พ.ศ. 2564 

“เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ความไว้วางใจที่กลับมามีต่อสหรัฐฯ อีกครั้งนั้น ถูกที่ถูกเวลาหรือไม่”  

รายงานดังกล่าวเชื่อว่า การขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจ ไบเดน เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่อ้าแขนรับอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในประเทศของตน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

มุมมองเชิงบวกที่มีต่อสหรัฐฯ นี้อาจเป็นผลมาจากความคาดหวังที่ว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน จะให้สหรัฐฯ มีส่วนร่วมมากขึ้นในภูมิภาคนี้” รายงานระบุ

ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะหลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะพวกเขาเชื่อว่า รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ จะหันกลับมาให้ความสนใจแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง 

แม้ดูเหมือนสหรัฐอเมริกาจะเกี่ยวข้องและมีอิทธิพลน้อยลงในภูมิภาคนี้ก็ตาม แต่ร้อยละ 55.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์และหลักประกันความมั่นคงในภูมิภาค” รายงานนั้นกล่าว 

คะแนนที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว “อาจเป็นผลมาจากความหวังที่ว่ารัฐบาลของโจ ไบเดน จะหันมาให้ความสำคัญแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม รายงานนั้นกล่าวว่า มากกว่าสามส่วนสี่ของผู้ตอบแบบสำรวจ ยอมรับว่า จีนมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ เป็นกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน ที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจ ยังมองว่า จีนเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจทางการเมืองและยุทธศาสตร์มากที่สุดในภูมิภาคนี้ "ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอิทธิพลทางยุทธศาสตร์ของจีนในภูมิภาคนี้" รายงานกล่าว

แต่เมื่อถูกถามว่า ถ้าต้องเลือกที่จะให้การสนับสนุนประเทศมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งจากสองประเทศนี้ เขาจะเลือกประเทศใด ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61.5) กล่าวว่า ตนจะเลือกสหรัฐอเมริกา

“จำนวนคนที่เลือกจีนลดลงจากร้อยละ 46.4 ในปี 2563 เป็น 38.5 ในปี 2564... แม้จีนจะพยายามใช้การทูตโควิด-19 อย่างเข้มข้นในภูมิภาคนี้ก็ตาม” รายงานกล่าว

สถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา (Institute of Southeast Asian Studies หรือ ISEAS) ได้รับการก่อตั้งขึ้นในฐานะองค์กรอิสระ โดยพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งของรัฐสภาสิงคโปร์เมื่อปี พ.ศ. 2511 ต่อมาได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น ISEAS - Yusof Ishak Institute เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ตามชื่อประธานาธิบดีคนแรกของสิงคโปร์ โดยได้รับการเลือกจากรัฐสภา ให้ดำรงตำแหน่ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง