มาเลเซียเตรียมตั้งข้อหาคนไทยคดีค้นพบหลุมศพ ปี 2558
2023.06.22
กัวลาลัมเปอร์ และปะลิส ประเทศมาเลเซีย
รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียเตรียมแถลงในวันศุกร์นี้ จากการที่ศาลมาเลเซียจะตั้งข้อหาชาวไทย 4 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบหลุมฝังศพเหยื่อมากกว่า 100 ศพ ในค่ายกักกันค้ามนุษย์ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย
คนไทยทั้งสี่ถูกส่งตัวไปยังมาเลเซียเมื่อวันพฤหัสบดี ตามคำร้องขอจากมาเลเซียในปี 2560 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนคดีการค้นพบหลุมศพเหยื่อค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศในป่าตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสกล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทั้งสี่คนจะถูกตั้งข้อหาลักลอบค้ามนุษย์ โดยนายไซฟุดดิน นาซูติยน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
“พวกเขาถูกส่งตัวมาให้เราในวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน และจะถูกนำตัวขึ้นศาลเซสชันของเมืองปะลิส เพื่อตั้งข้อหาในวันศุกร์” นายไซฟุดดินแถลง
ศาลเซสชันเป็นศาลอาญา หมู่บ้านวังเกอเลียน ในรัฐปะลิส ซึ่งตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรมาเลเซีย
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงรายหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ชี้แจงกับสื่อ ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บัญชาการตำรวจปะลิสมีกำหนดจะแถลงข่าวเกี่ยวกับคนไทยในวันศุกร์นี้
“ทั้งสี่คนจะถูกตั้งข้อหาลักลอบค้ามนุษย์” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์
ในเดือนมกราคม 2558 ทางการมาเลเซียพบหลุมฝังศพหมู่ 139 หลุม และค่ายร้าง 28 แห่ง กระจายอยู่ในบริเวณภูเขาตามแนวชายแดนไทย ในละแวกบูกิตวังพม่า เมืองวังเกอเลียน แต่ต้องรอถึงสี่เดือนถึงจะสามารถขุดศพขึ้นมาได้
โครงกระดูกมากกว่า 100 โครง เชื่อว่าเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาจากเมียนมา ถูกพบในหลุมฝังศพ ขณะที่กระดูกส่วนอื่น ๆ เห็นได้ชัดว่าเป็นของผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารจากบังกลาเทศ
หลังจากการค้นพบหลุมฝังศพจำนวนมากที่คล้ายกันนี้ถูกทิ้งร้างโดยผู้ลักลอบค้ามนุษย์บนฝั่งชายแดนไทย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2558 ประเทศไทยได้ประกาศปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบวิกฤตด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจ้าหน้าที่พบเรือผู้ลักลอบขนชาวโรฮิงญาสัญชาติเมียนมาและบังกลาเทศเกือบ 3,000 คน ขึ้นเทียบฝั่งมาเลเซียและอินโดนีเซียทันทีทันใด ส่วนผู้นำพาก็ทิ้งเรือและหลบหนีไป หลังจากที่ข่าวค้นพบหลุมฝังศพของไทย กลายเป็นข่าวใหญ่ ทางการมาเลเซียก็แถลงข่าวค้นพบหลุมศพในวังเกอเลียน และเริ่มการเก็บกู้ศพเหยื่อค้ามนุษย์
ชายเจ้าหน้าที่รออยู่ท่ามกลางโลงศพจำนวนมากมายของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่พบในค่ายค้ามนุษย์ในวังเกอเลียน ประเทศมาเลเซีย วันที่ 22 มิถุนายน 2558 (โอลิเวีย แฮร์รี่/รอยเตอร์)
รายงานการไต่สวนของคณะกรรมาธิการการสอบสวนของรัฐบาลมาเลเซีย (Royal Commission of Inquiry) ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่สามารถป้องกันการทรมานและการเสียชีวิตของเหยื่อค้ามนุษย์ได้ หากพวกเขา “ดำเนินการเชิงรุกมากกว่านี้ในการควบคุมชายแดน”
พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการตรวจจับว่าเกิดอะไรขึ้น ในบูกิตวังพม่า” ข้อความตอนหนึ่งในรายงานของคณะกรรมาธิการการสอบสวนของรัฐบาลมาเลเซีย
“คณะกรรมาธิการถือว่า เหตุการณ์ที่วังเกอเลียนเป็นโศกนาฏกรรมด้านมนุษยธรรมที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคนี้”
จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีชาวมาเลเซียที่ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวโยงกับการค้นพบหลุมศพหมู่ในปี 2558 มีเพียงชาวต่างชาติสี่คนเท่านั้นที่ถูกตัดสินลงโทษและจำคุก
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย อัยการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด 102 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ค้นพบหลุมฝังศพ 32 หลุมที่อยู่บริเวณชายแดนในฝั่งไทย โดยมีผู้เกี่ยวข้องที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดทั้งหมด 62 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นทหารยศพลโท ซึ่งกำลังรับโทษจำคุก 82 ปี แต่ได้เสียชีวิตลงแล้ว ขณะถูกจองจำ 2 ปีที่ผ่านมา
'ไม่มีการไต่สวนคดีในฝั่งเรา'
ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียกล่าวว่าความคืบหน้าของคดีเป็นผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศมาเลเซียกับไทย โดยมาเลเซียได้ร้องขอทางการไทยให้ส่งคนไทย 10 คน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนตั้งแต่ปี 2560
“จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ บุคคล 4 ใน 10 คน ถูกจับกุมและส่งตัวไปยังศาลไทย เพื่อถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน” นายไซฟุดดิน กล่าว
“กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเกิดขึ้นที่ศาลหลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงศาลอุทธรณ์ของไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคมปีนี้ ที่มีคำสั่งให้ส่งตัวบุคคลทั้งสี่คนไปยังมาเลเซีย”
ด้านนายโมห์ด มิซาน โมฮัมหมัด อัสลาม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรมาเลเซีย ให้ความเห็นว่าควรมีการสืบสวนอย่างแข็งขันมากกว่านี้ในฝั่งมาเลเซีย
“ในประเทศไทย ผู้คนจำนวนมากถูกจับกุม เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและจบลงด้วยการถูกจำคุก” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์
“อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของเรา ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ อย่างจริงจัง ไม่มีการสืบสวนคดีในรูปแบบใด ๆ”
ศาสตราจารย์ โมฮัมหมัด อัสลาม ได้เรียกร้องให้ทางการมาเลเซียตามหาตัวคนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้และคุมขังพวกนั้น
“ผมเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง อาชญากรรมดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้อีก และสร้างสถานที่แบบวังเกอเลียนขึ้นมาอีก”