เศรษฐาตั้งเป้าเพิ่มการค้าชายแดนกับมาเลเซียสามเท่า

มารียัม อัฮหมัด และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.11.27
ปัตตานี และกรุงเทพฯ
เศรษฐาตั้งเป้าเพิ่มการค้าชายแดนกับมาเลเซียสามเท่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่ด่านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566
สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ในวันจันทร์นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ได้พบปะหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ด่านอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อยกระดับการค้าชายแดนให้มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นประมาณสามเท่าตัวภายในปี 2568  

นายเศรษฐา ได้พบกับนายอันวาร์ ในเวลาก่อนเที่ยงของวันนี้ ที่สำนักงานด่านศุลกากรสะเดา (แห่งใหม่) โดยเป็นการต่อยอดการเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการของนายเศรษฐา เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา

“การเยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งที่ผ่านมา ผมและท่านนายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซียเห็นตรงกันว่าทั้งสองประเทศมีศักยภาพในการค้าขายระหว่างกันมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น การพบกันที่สงขลารอบนี้ ผมจึงตั้งใจผลักดันให้ตัวเลขการค้าระหว่างกันสูงขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย” นายเศรษฐา ระบุผ่านบัญชีเอ็กซ์

ในปีที่ผ่านมา ไทยและมาเลเซียมีมูลค่าการค้าประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้วางเป้าหมายการค้าระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านที่ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  

นายกรัฐมนตรีของสองประเทศ ลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จุดเชื่อมรอยต่อถนนด่านสะเดาแห่งใหม่ กับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย โดยฝั่งไทยอยู่ระหว่างการรื้อถนนเดิม มีระยะทางรวม 850 เมตร และก่อสร้างถนนใหม่ระยะทาง 575 เมตร มีความกว้าง 4 ช่องจราจรส่วนทางมาเลเซีย มีระยะทาง 380 เมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายเศรษฐา ระบุว่า ตนได้ขอให้ฝ่ายมาเลเซียเร่งรัดโครงการความเชื่อมโยงบริเวณชายแดนนี้ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวบริเวณชายแดน โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินสองโครงการให้แล้วเสร็จ คือ หนึ่ง ถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา-ด่านบูกิตกายูฮิตัม รัฐเคดาห์ ให้เสร็จในปี 2568 และ สอง สะพานสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส-รันเตาปันยัง แห่งที่สอง รัฐกลันตัน ให้เสร็จในปี 2569

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน 4 ด้านคือ ด้านการค้า ฝ่ายไทยมีแนวทางความร่วมมือโดยสรุปคือ 1. ขอให้มาเลเซียเป็นเจ้าภาพประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Commission - JTC) ในระดับรัฐมนตรีพาณิชย์ 2. ขอให้มาเลเซียช่วยเร่งรัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-มาเลเซีย (MOU on Cross-Border Transport of Goods) โดยประเด็นเรื่องการข้ามพรมแดน และ 3. ขอให้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหอการค้าในระดับท้องถิ่นของทั้งไทยและมาเลเซีย

ด้านการท่องเที่ยว ไทยยกเว้นการยื่นแบบฟอร์ม ตม.6 ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 เมษายน 2567 เพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย

“ด้านการเกษตร รัฐบาลไทยมีแผนจัดตั้งกรมฮาลาล ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยจะมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย” เว็บไซต์รัฐบาลไทย ระบุ

ด้านความมั่นคงชายแดน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่า โดยหวังให้ปัญหาหมดไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และมุ่งหวังดำเนินโครงการสร้างถนนและสะพานเชื่อมโยงการค้าชายแดนของสองประเทศ

นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยยังได้ขอบคุณที่รัฐบาลมาเลเซียที่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวประกันไทยในอิสราเอล ซึ่งถูกจับโดยกลุ่มฮามาสไป ณ ปัจจุบันนี้ ฮามาสได้ปล่อยตัวประกันคนไทยแล้ว 17 คน โดยได้ปรับยอดตัวเลขคนไทยที่ยังถูกคุมตัวโดยกลุ่มฮามาสเป็นอย่างน้อย 15 คน

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนก่อนหน้า เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และพบกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อหารือข้อตกลงร่วมกันระหว่างสองประเทศที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง