ระเบียงช่วยเหลือมนุษยธรรมเมียนมา แก้ปัญหาตรงจุดแล้วหรือ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.02.29
กรุงเทพฯ
ระเบียงช่วยเหลือมนุษยธรรมเมียนมา แก้ปัญหาตรงจุดแล้วหรือ ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมียนมาที่มองเห็นจากอำเภอแม่สอด ทางตะวันตกของไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567
จินตามาศ ศักดิ์ศรชัย/เอพี

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปยัง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อเปิดระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาพลัดถิ่น นำร่องในรัฐกะเหรี่ยง โดยวางกรอบให้ดำเนินการได้ภายใน 1 เดือน คำถามที่ตามมาคือ สิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันนี้จะตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

การที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้พื้นที่ของแม่สอดเป็นพื้นที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในเมียนมา ผมเชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้นายปานปรีย์ กล่าวในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567  

นายปานปรีย์เปิดเผยว่า แนวทางคือ ไทยได้ประสานกับรัฐบาลเมียนมา โดยจะนำสิ่งของจำเป็นเช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ส่งผ่านจุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี เพื่อให้สภากาชาดเมียนมาดำเนินการ ซึ่งจะใช้รถ 8 คัน เพื่อส่งต่อไปยังพื้นที่นำร่องในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งมีผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบอาศัยอยู่ประมาณ 2 หมื่นคน กระทรวงการต่างประเทศคาดว่าจะใช้เวลาโอนงบประมาณ 30 วัน

เราทำตรงนี้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาก็อย่างที่ทราบกันดีว่า มีผลกระทบต่อการค้าขายชายแดนไทยอยู่มาก ความประสงค์ของพวกเราก็อยากจะให้เกิดสันติภาพในเมียนมา เพื่อที่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในเวลานี้จะได้มีความสงบสุข และก็สามารถที่จะทำมาค้าขายได้อย่างเต็มที่นายปานปรีย์ ระบุ

ปัญหาคนพลัดถิ่นในเมียนมาเกิดขึ้นเพราะกองทัพเมียนมาได้ทำรัฐประหาร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยึดอำนาจและควบคุมตัวนายวิน มินต์ ประธานาธิบดี, นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และสมาชิกพรรคหลายคน โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ

ประชาชนจำนวนมากในเมียนมาออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก เกิดเป็นการสู้รบภายในประเทศระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร-กองกำลังชาติพันธุ์ กับกองทัพของรัฐบาลเมียนมา

ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรชี้ว่า การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอาจยังไม่เพียงพอ ไทยควรช่วยเมียนมามากกว่านั้น

อุปสรรคใหญ่ของระเบียงมนุษยธรรมนี้ คือ รัฐบาลไทยติดต่อผ่านกาชาดเมียนมา ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิจารณ์อย่างหนัก เพราะคนเมียนมารู้ว่า กาชาดเมียนมาเป็นพวกเดียวกับกองทัพเมียนมา สิ่งที่เขากังวลคือ เสบียงต่างๆ ที่ส่งไปจะถึกผู้ได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว

ผศ.ดร. ลลิตา ชี้ว่า แนวทางที่ยั่งยืนสำหรับปัญหาเมียนมาคือ ไทยควรเปิดการเจรจากับชนกลุ่มน้อยอย่างเปิดเผย เพราะเป็นไปได้ยากที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยปราศจากการประสานงานกับชนกลุ่มน้อย

ถ้าไทยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือชีวิตของประชาชนจริงๆ จำเป็นที่จะต้องคุยกับคนทุกฝ่าย ทั้งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ภาคประชาสังคมทั้งหมด ไม่ใช่มอบทุกอย่างให้กับกาชาดเมียนมา แต่เชื่อว่า ไทยกลัวว่า ถ้าเจรจาจะกระทบความสัมพันธ์กับรัฐบาลเมียนมา ไทยจึงพยายามใช้กลไกอาเซียนแก้ปัญหานี้ผศ.ดร. ลลิตา ระบุ

เช่นเดียวกับที่ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า การที่กระทรวงการต่างประเทศพยายามดำเนินการทูตเชิงรุกจะส่งผลดีกับประเทศในอนาคต

“เวลาเราจะใช้การทูตเชิงรุก เช่น การเข้าไปตั้งวงหารือ หรือช่วยเหลือ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย หรือกบฎฝ่ายไม่เอาเผด็จการในพม่า มันเป็นการเล่นการทูตเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เราได้คอนเนคชั่น มีอำนาจต่อรอง ทำให้เราอาจจะสามารถป้องกันการไหลทะลักของผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทย หรือสามารถลดปัญหายาเสพติดได้ในอนาคต”

“ผมเห็นด้วยที่ไทยจะทำการทูตเชิงรุก เพราะทุกวันนี้ ตั้งรับอย่างเดียวมันไม่ไหว การทำการทูตเชิงรุก จะทำให้เราสามารถวางแผนแก้ปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ และยังทำให้อิทธิพลของไทยเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เราทำการทูตแบบตั้งรับ ไม่มีแผนวิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์เชิงภูมิรัฐศาสตร์แบบที่อินโดนิเซียมี ทำให้เราเสียเปรียบ และก้าวไม่ทันมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”​

TH-MN-border-2.jpg

ประชาชนจากเมียนมาข้ามแม่น้ำเมยที่ชายแดนไทย-เมียนมาเพื่อกลับจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 (กองทัพบก/เอเอฟพี)

ด้านรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ผ่านแถลงการณ์ว่า ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือประชาชนชาวเมียนมา แต่ต้องคำนึงถึงความร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากรัฐบาลเมียนมาด้วย

“ความร่วมมือกับฝั่งพวกเรา เป็นสิ่งที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังหลบหนีความขัดแย้งในเมียนมา เนื่องจาก NUG และกองกำลังฝ่ายต่อต้านชาติพันธุ์ ควบคุมพื้นที่ประมาณ 60% ของเมียนมา แสดงว่ากองทัพไม่ได้มีอำนาจควบคุมทั้งประเทศอย่างสมบูรณ์ และประชาชนที่พลัดถิ่นรวมถึงผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การปกครองของ NUG ทั้งสิ้น” แถลงการรณ์ของ NUG ระบุ

ในแถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุด้วยว่า สภากาชาดเมียนมานั้นดำเนินงานภายใต้การควบคุมของกองทัพ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือจึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการโจมตีประชาชนของกองทัพเมียนมาในทางอ้อม

ต่อแผนช่วยเหลือทางมนุษยธรรม น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ชี้ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลไทยมีความกระตือรือร้นในการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่มีข้อน่ากังวลหลายอย่างในแนวทางนี้

เหตุผลที่คนพม่าพลัดถิ่น เกิดจากการโจมตีของกองทัพพม่า โดยเฉพาะการใช้ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศ ไทยได้ตกลงกับรัฐบาลพม่า ให้เขาเปิดทางให้ไทยส่งการช่วยเหลือไป มันแปลกๆ ที่ไทยตกลงกับต้นเหตุของการพลัดถิ่นคือ รัฐบาลทหารพม่า ทั้งที่เขาเองก็ไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะยุติการก่อเหตุน.ส. พรสุข กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เส้นทางการขนสิ่งของไปช่วยเหลือ รัฐบาลพม่ายังไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ทำให้เราไม่แน่ใจว่า กาชาดพม่าจะเข้าพื้นที่ได้จริงไหม สุดท้ายคือ พื้นที่นำร่องนั้น เป็นพื้นที่ที่มีความต้องการจริงหรือเปล่า เราไม่ทราบได้น.ส. พรสุข กล่าวเพิ่มเติม

สหประชาชาติ ระบุว่า มีคนเมียนมาเกือบ 2 พันคนที่เสียชีวิตจากการต่อต้านรัฐประหาร มีคนถูกควบคุมตัวกว่า 2.6 หมื่นคน และยังถูกคุมขังอยู่เกือบ 2 หมื่นคน โดยเชื่อว่าราว 1.5 พันคนเสียชีวิตขณะคุมขั

สิ่งที่ไทยทำได้คือการปรึกษาหารือกับองค์กรภาคประชาสังคมของเมียนมาที่ทำงานช่วยเหลือคนประเทศเขา วางแผนและออกแบบการช่วยเหลือร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าจะตรงกับความต้องการมากกว่า และไทยควรพยายามพูดคุยกับรัฐบาลพม่าเรื่องการหยุดยิง เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยกรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าว

ไทย-เมียนมา มีชายแดนร่วมกันประมาณ 2.4 พันกิโลเมตร หลังการรัฐประหาร และการสู้รบทำให้มีหลายครั้งที่ชาวเมียนมาซึ่งอาศัยใกล้ชายแดนต้องหนีภัยการสู้รบชั่วคราวเข้ามายังประเทศไทย สหประชาชาติ ระบุว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้หนีภัยสงครามเข้ามายังประเทศไทยกว่า 4 หมื่นคน

พื้นที่จังหวัดตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ที่มีชาวเมียนมาหนีภัยสู้รบเข้ามามากที่สุด แต่ระบบการจัดการของไทยยังทำได้เพียงจัดที่พักพิงชั่วคราว หลายครั้งการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นการช่วยเหลือจากการบริจาคของเอกชน ขณะที่ฝ่ายรัฐพยายามผลักดันผู้หนีภัยกลับเป็นระยะ

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนก่อน จะยืนยันว่า ไม่สนับสนุนความรุนแรงในประเทศเมียนมา แต่รัฐบาลไทยกลับไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นในการให้การช่วยแก้ปัญหา หรือดูแลผู้ลี้ภัยเท่าที่ควรจนถูกวิพากษ์-วิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี

TH-MN-border-3.jpg

พล.ท.จักรพงษ์ จันทร์เพ็งเพ็ญ เจ้ากรมยุทธการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เข้าพบกับ พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ณ กรุงเนปิดอว์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 (ฝ่ายข้อมูลทหารเมียนมา/เอเอฟพี)

ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมาบริหารงานโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่นำโดย พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร มีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงาคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์

และยังมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลทหารอีกจำนวน เช่น กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA), กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) หรือโกก้าง, กองทัพอาระกัน (AA), สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS/SSA), สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU), องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO) เป็นต้น กองกำลังกลุ่มต่อต้าน และชนกลุ่มน้อยต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถยึดบางพื้นที่เอาไว้ได้

ในโลกนี้มีแค่ 2 ประเทศที่แก้ปัญหาพม่าได้คือ ไทยกับจีน แต่ไทยมีชายแดนติดพม่ามากที่สุด พม่าไว้ใจเราที่สุด ถ้าไทยทำจะดีกับทุกฝ่าย ดังนั้น ไทยควรพูดชัดเจนไปเลยว่า จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเมียนมา เปิดหน้าคุยกับทุกฝ่าย ยืนยันว่า การทำเรื่องสิทธิมนุษยชนมีความจำเป็นต้องคุยกับทุกกลุ่ม ไม่ต้องกลัวเรื่องรัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่พอใจผศ.ดร. ลลิตา กล่าว

ผศ.ดร. ลลิตา ระบุว่า ระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ถือเป็นแนวทางที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเมียนมา แต่นอกจากการส่งความช่วยเหลือไปในดินแดนเมียนมาแล้ว การวางแผนรองรับผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทย และแผนการรับมือก็มีความจำเป็นเช่นกัน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพิ่มเติมคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น

หน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดควรพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน วางฉากทัศน์ทั้งหมดว่า ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นภายในเมียนมา ทิศทางการประสานงานกับชนกลุ่มน้อยในเมียนมาจะเป็นอย่างไรในอนาคต การวางแผนร่วมกัน แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จะทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา และบริหารสถานการณ์ในอนาคตที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ระบุ

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง