เศรษฐากำชับห้ามเมียนมาล้ำน่านฟ้าไทย

หลังการสู้รบในเมียนมาระอุ นักวิชาการแนะ ไทยหารือทุกฝ่าย และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.04.11
กรุงเทพฯ
เศรษฐากำชับห้ามเมียนมาล้ำน่านฟ้าไทย ชาวเมียนมาหลังจากผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองแล้วขณะนั่งเพื่อรอรถโดยสารที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 11 เมษายน 2567
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำชับฝ่ายความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศ ห้ามไม่ให้เครื่องบินของเมียนมาล้ำเข้ามาในน่านฟ้าของไทยเด็ดขาด หลังสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้านทวีความรุนแรง ด้านนักวิชาการแนะให้รัฐบาลไทยหารือกับทุกฝ่ายในเมียนมา และให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

“กำชับกองทัพแล้วก็กระทรวงการต่างประเทศแล้วว่า ให้ส่งข้อความไปให้ชัดเจนว่า ถ้าเกิดมีปัญหาภายใน (เมียนมา) ก็อย่าให้มันล้นออกมา เดี๋ยวมีการโทรหาท่านผู้บัญชาการทหารอากาศว่า จะมีการสู้รบกัน การใช้น่านฟ้าของไทยเราก็ไม่ยอม ไม่ได้ก็คงต้องสั่ง ไม่อยากให้เกิดความตึงเครียด ทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง เขาเป็นเพื่อนบ้านเรา” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา ระบุว่า การสู้รบในเมียนมาเป็นกิจการภายในของเมียนมา ไทยจะไม่เข้าไปแทรกแซง แม้ล่าสุดเพิ่งยอมรับว่า อนุญาตให้เครื่องบินที่บุคลากร และครอบครัวของรัฐบาลเมียนมาโดยสารมาลงจอดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นการชั่วคราวก็ตาม 

ความตึงเครียดในเมียนมาเกิดขึ้น หลังจากกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้กลุ่มประชาชน และกองกำลังชนกลุ่มน้อยลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลกองทัพเมียนมา เกิดการพลัดถิ่นของประชาชนในประเทศ 

ในเดือนมิถุนายน 2565 รัฐบาลไทยยืนยันว่า พบเครื่องบินรบของกองทัพเมียนมารุกล้ำน่านฟ้าของประเทศไทย และยิงโจมตีกองกำลังของชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยง ซึ่งทำให้ไทยต้องใช้เครื่องบิน F-16 ออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันการรุกล้ำน่านฟ้าอีก 

การสู้รบต่อเนื่องยาวนานทำให้ รัฐบาลเมียนมาขาดแคลนกำลังพล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 จึงออกระเบียบการเกณฑ์ทหารใหม่ ซึ่งบังคับให้ประชาชนชาย อายุ 18-35 ปี และผู้หญิง อายุ 18-27  ปี ทุกคนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ทำให้ประชาชนบางส่วนตัดสินใจอพยพเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์

ขณะเดียวกัน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army - KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) เริ่มรุกหนัก กระทั่งประกาศควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีเอาไว้ได้ในที่สุด แต่ก็เชื่อว่ากองทัพเมียนมาจะรุกกลับ

“ถ้าขบวนรถถังกองทัพเมียนมาจะเข้ามาเมียวดี เรามีมาตรการเตรียมพร้อมไว้แล้ว เราเชื่อว่า กองทัพเมียนมาจะเสริมกำลังมาที่เมียวดีเพื่อทวงคืนพื้นที่” พ.อ. เนอดาทู กล่าว

สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทหารของกองทัพเมียนมาจำนวนกว่า 100 นายหลบหนีจากพื้นที่สู้รบในเมืองเมียวดี มาอาศัยชั่วคราวอยู่บริเวณใกล้กับสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ฝั่งเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับ อ. แม่สอด 

นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ซึ่งเดินทางไปยัง อ.แม่สอด คาดการณ์ว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีชาวเมียนมาหนีภัยการสู้รบเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

“ผู้พลัดถิ่นในประเทศ ประชาชนเมียนมา ประชาชนไทยก็ตาม รัฐบาลไทยต้องเตรียมความพร้อมให้ดี เพื่อทำแผนงานรับรองสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จำเป็นต้องไปพูดคุยกับทางทหาร ขอเซฟตี้โซนตรงนี้ จะช่วยเกี่ยวกับมนุษยธรรม และผู้พลัดถิ่นจะมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีตั้งแต่ 6 แสน - 1 ล้านคน” นายกัณวีร์ กล่าว

ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐบาลจะตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง 

“ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่า คนเมียนมาหนีภัยสงครามเข้ามาในแม่สอดในจำนวนที่เยอะ มีเข้ามาบ้างประปรายอย่างที่เคยเดินทางเข้ามา ถ้าเกิดสถานการณ์รุนแรงขึ้น ประเทศไทยจะได้เตรียมการรองรับ ซึ่งสามารถรองรับได้แสนคน สามารถเข้ามาอยู่ที่ปลอดภัยชั่วคราว ถ้ามากกว่าแสนคน ผู้รับผิดชอบก็ได้แจ้งว่าสามารถทำได้”  นายปานปรีย์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า ในสถานการณ์นี้ไทยควรทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง

“ไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับไทยแล้วที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ และถ้าจะสร้างสันติภาพในเมียนมา มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดคุยกับทุกกลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเข้ามาพูดคุย โดยหาวิธีที่เหมาะสมให้ รัฐบาลทหารเมียนมายอมรับข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เช่นสงครามที่ยืดเยื้อจะไม่มีวันจบ” ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว

ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมาบริหารงานโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่นำโดย พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร มีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงาคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ และมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกจำนวนมาก ซึ่งกำลังสู้รบกับ SAC 

ต่อการแก้ไขปัญหาภายในเมียนมา นายปานปรีย์ ยืนยันว่า รัฐบาลไทยพร้อมเจรจากับทุกกลุ่มในเมียนมา

“เวลานี้มันก็มีหลายกลุ่ม รัฐบาล(เมียนมา)ก็ยังควบคุมได้อยู่ในพื้นที่นึง และกลุ่มอื่นก็ควบคุมในหลายพื้นที่ การเจรจาก็ต้องคุยให้ครบทุกกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องทำ จุดยืนเนี่ย ประเทศไทยเป็นกลางแน่นอน เรามีความประสงค์ให้เกิดสันติสุขในประเทศเมียนมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำทุกวิถีทางให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมา เพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบมาก และก็เริ่มทำในบางส่วนแล้ว” นายปานปรีย์ กล่าว

ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว นายบุญส่ง (สงวนนามสกุล) อายุ 61 ปี คนขับรถตู้ท่องเที่ยวชาวไทยในเมืองเมียวดี กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ก่อนหน้านี้สถานการณ์การสู้รบหยุดไประยะหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก แต่น่าเสียดายที่เกิดความรุนแรงอีกครั้งในช่วงใกล้สงกรานต์

“ผลกระทบกับคนทำมาหากินก็คือ นักท่องเที่ยวจากที่ไกล ๆ ไม่กล้ามาเพราะข่าวออกว่ามีการยิงกันสู้รบกัน ทำให้การท่องเที่ยวลดลง ซึ่งปกติช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาล คนจะมาเที่ยวเยอะ แต่ตอนนี้ค่อนข้างเงียบ เมืองเมียวดีและรอบ ๆ ตลาดบุเรงนอง เมียวดีคอมเพล็กซ์ ช่วงนี้ลูกค้ายกเลิกหมดเลย” นายบุญส่ง ระบุ

ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผน ระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ โดยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ สำหรับประชาชนเมียนมาประมาณ 20,000 คน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ และนาวา สังข์ทอง ในจังหวัดตาก ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง