รัฐบาลเมียนมาปราบปรามผู้ซื้ออสังหาฯ ต่างประเทศ กระทบยอดขายคอนโดไทย

รัฐทหารพยายามหยุดค่าเงินจัตตก หันมาดำเนินคดีผู้ซื้อคอนโดชาวเมียนมา
เรดิโอฟรีเอเชีย เมียนมา
2024.06.12
รัฐบาลเมียนมาปราบปรามผู้ซื้ออสังหาฯ ต่างประเทศ กระทบยอดขายคอนโดไทย คอนโดมิเนียมริมถนนเพชรบุรี กรุงเทพฯ วันที่ 9 มิถุนายน 2567
เรดิโอฟรีเอเชีย

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในไทยเผยว่า สถานการณ์ค่าเงินจัตของเมียนมาตกต่ำ กระตุ้นให้รัฐบาลทหารเมียนมาพยายามยับยั้งความต้องการในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ด้วยการปราบปรามชาวเมียนมาผู้ซื้อคอนโดมิเนียมในไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรชาวเมียนมาจำนวนมากหลบหนีเข้ามา เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งจากสงครามภายในประเทศ นับตั้งแต่ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564

สื่อเมียนมารายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินคดีกับนายหน้าผู้ซื้อขายคอนโดมิเนียมในประเทศไทย จำนวน 5 ราย เนื่องจากรัฐบาลพบข้อสงสัยว่า พวกเขาเปิดบัญชีธนาคารต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางเมียนมา และโอนเงินผ่านช่องทางผิดกฎหมาย

นายหน้าที่ทำงานในประเทศไทย ยังให้ข้อมูลอีกว่า ในปีนี้ ประชากรเมียนมากลายเป็นผู้ซื้อชาวต่างชาติที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยมากที่สุดเป็นลำดับที่สอง รองจากประเทศจีน แต่ข่าวเรื่องการดำเนินคดีกับชาวเมียนมาผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศกลับสร้างความตื่นตระหนกให้กับตลาด

“หลังจากที่มีข่าวออกไป ยอดขายก็ตกลงทันที ตลาดเงียบกันหมด ยอดขายก็ตกลงอย่างเห็นได้ชัด” พลเมืองชาวเมียนมาที่ทำงานอยู่ในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย

เหตุการณ์รัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 เป็นชนวนที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง หลังจากระยะเวลา 10 ปี ที่ส่อแววว่าเมียนมาอาจจะได้ปฏิรูปประเทศ ซึ่งจุดความหวังให้กับพลเมืองว่า พวกเขามีโอกาสรอดพ้นการตกอยู่ภายใต้ระบบการปกครองของทหารที่ลากยาวมานานหลายทศวรรษ

ประชาชนชาวเมียนมาออกเดินขบวนประท้วงเกลื่อนเมือง จนกระทั่งรัฐบาลทหารสั่งการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างโหดร้ายทารุณ ซึ่งสถานการณ์ความไม่สงบที่พลเมืองออกมาต่อต้านรัฐบาลทหารได้แพร่กระจายออกไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เศรษฐกิจหยุดชะงักลง ประชาชนทั่วไปก็ต้องเผชิญหน้ากับการถูกตัดไฟฟ้าและการขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน

รัฐบาลทหารเพิ่งจะออกกฎหมายบังคับให้พลเมืองเมียนมากลับไปเกณฑ์ทหาร เพราะกองทัพต้องการเสริมกำลังทหารที่มีลดน้อยลงนั้นได้สร้างความหวาดกลัวให้กับครอบครัวชาวเมียนมาส่วนใหญ่ ดังนั้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ จึงเปรียบเสมือนกับการหยิบยื่นความหวังให้กับผู้ที่มีกำลังจ่าย และประชากรชาวเมียนมาหลายราย รวมถึงพนักงานของรัฐบาลเอง ก็เริ่มซื้อคอนโดมิเนียมในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์กล่าว

“สถานการณ์ทางการเมืองที่ปั่นป่วนในเมียนมา เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้อุปสงค์ในการซื้อคอนโดมิเนียมพุ่งสูงขึ้น” วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ บอกกับเรดิโอฟรีเอเชีย

ข้อมูลของศูนย์สังกัดธนาคารอาคารสงเคราะห์ ระบุว่า ชาวเมียนมาขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่สามอย่างรวดเร็ว ในรายการของผู้ซื้อชาวต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในปี 2565 โดยมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท (ประมาณ 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ในปีต่อมา ผู้ซื้อชาวเมียนมาก็ยังรั้งตำแหน่งอันดับสาม โดยมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท (ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมในไทยให้กับลูกค้าชาวเมียนมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า เป็น 392 ยูนิต มูลค่า 2.2 พันล้านบาท (ประมาณ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบกับ 76 ยูนิต ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

นายหน้าอสังหาริมทรัพย์อีกรายกล่าวว่า ไม่ได้มีเพียงแค่ชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังมองหาอสังหาริมทรัพย์ในไทย แต่ยังมีชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ๆ เช่น สิงคโปร์ หรือดูไบ ที่อยู่ในระหว่างการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยเช่นกัน

ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ

วิชัยคาดการณ์ว่า ชาวเมียนมามีความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การแทรกแซงตลาดเพื่อดึงค่าเงินจัตให้แข็งขึ้นของรัฐบาลทหารก่อนหน้านี้น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาด

“เราคาดการณ์ได้ว่า การจำกัดการส่งเงินโอนอาจจะส่งผลกระทบต่อการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม” เขากล่าว

ธนาคารโลกชี้แจงในรายงานฉบับล่าสุดว่า เศรษฐกิจของเมียนมากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญหลายประการ และจะคงอยู่ในภาวะ “อ่อนกำลัง” ต่อไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจมหภาคมีความผันผวนและเต็มไปด้วยความไม่ลงรอย อีกทั้งภาคการผลิตก็ยังหยุดชะงัก โดยในช่วง 6 เดือนแรกจนถึงเดือนมีนาคม มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง 13% และมูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลง 20% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางเมียนมา ผู้ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุของค่าเงินจัตที่อ่อนตัวลง โดยค่าเงินจัตร่วงลงจากประมาณ 1,350 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ไปสู่ 4,600 จัตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ณ ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของรัฐบาลทหารเมียนมา ก็ได้ชี้นิ้วกล่าวโทษไปที่ "แก๊งมิจฉาชีพ" ผู้ซึ่งระบุตัวตนไม่ได้ว่าเป็นใคร ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจทรุดตัวลง เขากล่าวในการประชุมเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประชาชนที่ซื้อบ้านในต่างประเทศด้วยรายได้ที่ได้มาอย่างผิดกฎหมายจะต้องถูกสอบสวนและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

แต่พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย อาจจะไม่จำเป็นต้องมองหาผู้กระทำความผิดไกลตัวมากนัก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในภาคอสังหาริมทรัพย์ประจำประเทศไทยรายหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามระบุว่า ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้ใหญ่หลายครอบครัวได้ซื้อบ้านพักตากอากาศใกล้กับหัวหิน จนพื้นที่แถบนั้นได้รับการขนานนามว่า “หมู่บ้านนายพล”

ทนายความที่ทำงานอยู่ในย่างกุ้ง เมืองหลักและศูนย์กลางทางธุรกิจของเมียนมากล่าวว่า แทนที่รัฐบาลจะไล่ล่าประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านในต่างประเทศ ทางการควรจัดการให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมมากกว่า

“แทนที่รัฐจะจับกุม ดำเนินคดี หรือสั่งขังผู้คน รัฐควรจัดให้มีการซื้อขายอย่างถูกกฎหมายมากกว่า และระบุให้มีการจ่ายภาษีและขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง” ทนายความผู้ไม่ประสงค์ออกนาม จากการปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างในเมียนมา บอกกับเรดิโอ ฟรี เอเชีย

“ประเทศน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และเจ้าของคอนโดมิเนียมก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับกุม... เป็นสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างได้และสมควรที่จะเป็นแบบนั้น”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง