ไทย-จีน-เพื่อนบ้านเมียนมา ประชุมร่วมครั้งแรก หวังประเทศกลับสู่สันติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ ภิมุข รักขนาม
2024.12.20
กรุงเทพฯ
ไทย-จีน-เพื่อนบ้านเมียนมา ประชุมร่วมครั้งแรก หวังประเทศกลับสู่สันติ ไทยเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา สปป.ลาว บังคลาเทศ จีน อินเดีย ถึงสถานการณ์ในเมียนมากับตานฉ่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา ซึ่งนั่งอยู่ทางซ้ายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรุงเทพฯ วันที่ 19 ธันวาคม 2567
กระทรวงการต่างประเทศ

ในการหารืออย่างไม่เป็นทางการ ระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ จีน อินเดีย สปป.ลาว เมียนมา และไทย ครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทุกประเทศหวังเห็นประเทศเมียนมากลับคืนสู่สันติสุข และพร้อมที่จะกระชับความร่วมมือแก้ปัญหาชายแดน 

“ผลการหารือในวันนี้ถือว่าดีมากมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา พูดกันอย่างเปิดเผย และสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้ง การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติลักษณะต่าง ๆ  ทั้งยาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ” นายมาริษ กล่าว

การประชุมครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เพื่อนบ้านของเมียนมาทุกประเทศได้มาร่วมพูดคุยกัน โดยนายตานฉ่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาเป็นตัวแทนเข้าประชุมร่วมกับนายมาริษ และตัวแทนจากประเทศอื่น ๆ 

“ทุกประเทศที่มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องการเห็นประเทศเมียนมามีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องการให้ฝ่ายต่าง ๆ ในประเทศเมียนมายุติความรุนแรง  ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันหน้ามาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติ เกี่ยวกับประเด็นนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมาก็ได้แจ้งว่า รัฐบาลเมียนมาเปิดประตูสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยกระบวนการทางการเมือง” นายมาริษ ระบุ

นายมาริษ เปิดเผยว่า นายตานฉ่วย แจ้งว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาในปี 2568 โดยปัจจุบัน มีการจดทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว 53 พรรค และพร้อมจะให้ผู้สังเกตการณ์จากภายนอกเข้าไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย 

หลังกองทัพเมียนมารัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก

ต้นปี 2567 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีไว้ได้ ทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยสงคราม 

“ประเทศเพื่อนบ้านต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของเมียนมาโดยตรง นอกจากนั้นที่สำคัญที่สุดประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย รวมถึงประเทศไทยมีความเข้าใจเรื่องของความอ่อนไหวในสถานการณ์ในประเทศเมียนมาดีกว่าประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสานงาน การบังคับใช้กฎหมาย” นายมาริษ กล่าวเพิ่มเติม

ต่อมาในวันศุกร์ ไทยยังได้เป็นเจ้าภาพ การหารืออย่างไม่เป็นทางการแบบขยาย ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนที่สนใจ เกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อการหารือระดับรัฐมนตรีอาเซียน ปลายเดือนมกราคม 2568 ที่มาเลเซีย

“ฉันทามติ 5 ข้อก็ออกมาตั้งแต่ปี 2564 ล่วงเลยมา 3 ปีแล้ว ที่ประชุมก็เข้าใจดีว่า สถานการณ์ในเมียนมาเปลี่ยนไปพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม เรายังยึดถือฉันทามติ 5 ข้อเป็นหลัก ประเด็นคือว่า เราจะทำยังไงให้นำข้อต่าง ๆ มาปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ หรือช่องทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยเสริมการปฏิบัติการตามข้อมตินี้” นายพลพงศ์ วังแพน อธิบดีกรมอาเซียน กล่าวในการแถลง

2019-03-20T054641Z_503007951_RC1D4C268B50_RTRMADP_3_THAILAND-MYANMAR.JPG
ชาวเมียนมาเดินทางข้ามผ่านแดนอย่างไม่เป็นทางการ ริมฝั่งแม่น้ำเมย อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 20 มีนาคม 2562 (รอยเตอร์)

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 รัฐบาลไทยได้เริ่มโครงการระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศ โดยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่น ๆ สำหรับประชาชนเมียนมาประมาณ 20,000 คน ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง

ต่อการพูดคุยที่มีขึ้น รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ชี้ว่า ไทยมีบทบาทสำคัญกับการแก้ปัญหาในเมียนมา แต่ก็จำเป็นต้องพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ควบคู่ไป 

“บทบาทของไทยจำเป็นค่อนข้างมาก เพราะว่าเราสามารถเข้ากับทุกกลุ่มได้ในแง่ของเป็นพื้นที่ที่ทุกคนมาอาศัยเราอยู่ เราสามารถที่จะใช้ตรงนี้เป็นแรงกดดัน ที่น่าสนใจคือ การประชุมนอกรอบเหล่านี้มันพร้อมที่จะยกระดับไปสู่การเจรจรายุติการสู้รบชั่วคราวได้หรือเปล่า หลายกองกำลังก็เข้มแข็งขึ้น แนวโน้มที่เขาจะต่อรองก็จะมีเงื่อนไขสูงขึ้นเยอะ เช่น ว้าแดงที่มีจีนสนับสนุน ฉะนั้นการคุยผ่านจีนจึงสำคัญ” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

ปัจจุบัน รัฐบาลทหารเมียนมาบริหารงานโดยสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่นำโดย พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหาร มีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลเงาคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ และมีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกจำนวนมาก ซึ่งกำลังสู้รบกับ SAC 

ด้าน ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์จำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า บทบาทของอาเซียนต่อสถานการณ์เมียนมาในหลายปีที่ผ่านมายังมีไม่มากนัก

“ส่วนตัวมองว่า อาเซียนดำเนินการต่าง ๆ ช้าเกินไป ถ้าจะให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการวางแผน มีฉากทัศน์ต่าง ๆ เตรียมพร้อมเอาไว้ เช่น ถ้าพม่าแตกออกเป็นหลายประเทศ จะดำเนินการอย่างไร ควรมีการเริ่มพูดคุยกับ ฉาน กะเหรี่ยงแดง มอญ ถึงทิศทางความสัมพันธ์ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เห็นความพยายามที่ชัดเจน” ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประเมินว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมาทำให้มีจำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศเมียนมาเองมากถึง 1.8 ล้านคน และบางส่วนหนีภัยเข้ามาสู่ประเทศไทย

ขณะที่ รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ไทยจำเป็นอย่างมากที่จะต้องจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบเพื่อความยั่งยืน

“ไทยต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ผมเองเรียกว่า มสกพ คือ ม. มนุษยธรรม การช่วยเหลือด้านนี้ก็ต้องช่วยต่อไป ส.สันติสุข ไทยต้องพัฒนาสันติสุขในเมียนมา โดยเฉพาะประเด็นชายแดน ก.กรรมการ ต้องตั้งคณะกรรมการในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีหน่วยงานเจ้าภาพให้อำนาจตัดสินใจ เพื่อให้สามารถทำงานรวมศูนย์ และตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างคล่องตัว” 

รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า พ. พัฒนาที่ยั่งยืน ไทยจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดการเรื่องแรงงานและปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ มีฐานข้อมูลเพื่อดึงแรงงานที่มีศักยภาพมาใช้ 

“สิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องจริงจัง คือเรื่องเขตแดน การบังคับใช้กฎหมาย การระบุพื้นที่บังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน พื้นที่ไหนของเรา พื้นที่ไหนของเขา การที่ฐานทหารว้าบางจุดล้ำเข้ามาในประเทศไทยจริงๆ เราก็ต้องมีวิธีจัดการที่เด็ดขาด ไม่ใช่ว่า กองกำลังต่างชาติมาตั้งฐานลึกเข้ามาหนึ่งกิโลเมตร หรือลึกกว่านั้น แล้วก่อนจะจัดการเราต้องไปถามความคิดเห็นประเทศอื่น” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าว

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง