ไทยตั้งทีมตรวจธุรกรรมละเมิดสิทธิฯ ไทย-เมียนมา

เรดิโอฟรีเอเชีย และเบนาร์นิวส์
2024.07.25
กรุงเทพฯ
ไทยตั้งทีมตรวจธุรกรรมละเมิดสิทธิฯ ไทย-เมียนมา ขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองวันกองทัพพม่า ครบรอบ 78 ปี ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา วันที่ 27 มีนาคม 2566
เอพี

กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีนี้ว่า ไทยจะตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบคัดกรองการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ด้านพันธมิตรชานม เข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องให้ ไทยคว่ำบาตรการให้บริการทางการเงินกับรัฐบาลทหารเมียนมา

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า เมื่อวันพุธ นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ รองปลัด กต. ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในเมียนมา

“ที่ประชุมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการของหน่วยงานและสถาบันการเงินไทยในการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่อาจอำนวยความสะดวกให้กับการจัดหาอาวุธและยุทธภัณฑ์ให้รัฐบาลทหารเมียนมา รวมทั้งแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้การตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างรัดกุมมากขึ้น” นายนิกรเดช กล่าว

การประชุมของ กต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ไทย กรมศุลกากร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สืบเนื่องจาก สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยรายงานในปีนี้ที่ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการทางการเงิน ซึ่งสนับสนุนการจัดซื้ออาวุธและยุทธภัณฑ์ของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยกับรัฐบาลทหารเมียนมา 

นายนิกรเดช ระบุว่า เพื่อสร้างมาตรการป้องกัน และตรวจสอบไม่ให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไทยจึงจะดำเนินการหลายอย่างหลังจากนี้ 

“จะจัดตั้งคณะทำงานร่วม (Task Force) ระหว่าง ปปง. และ ธปท. เพื่อตรวจสอบธุรกรรมและสอบทานมาตรการเพื่อให้มั่นใจว่า สถาบันการเงินไทยมีมาตรการในการดำเนินการตามข้อกฎหมายที่รัดกุมจริง และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา ทั้งนี้ ไทยจะมีหนังสือถึงผู้เสนอรายงานพิเศษฯ ขอรับข้อมูลเพิ่มเติมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบต่อไป” โฆษก กต. เปิดเผย 

ในรายงานชื่อ “Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar” ของ OHCHR ระบุว่า ในปี 2565 มีมูลค่าของการส่งออกอาวุธและยุทธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัทที่จดทะเบียนในไทยไปยังเมียนมากว่า 60 ล้านดอลลาร์ (กว่า 2 พันล้านบาท) และเพิ่มขึ้นเป็น 130 ล้านดอลลาร์ (4.40 พันล้านบาท) ในปี 2566 

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรยังได้ตั้งกระทู้สดสอบถาม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน ซึ่งนายมาริษ ระบุว่า “รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนอยู่แล้วที่จะไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่สนับสนุนให้มีการกระทำกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน” จึงทำให้มีการจัดประชุมขึ้นในวันพุธที่ผ่านมา

ในวันเดียวกัน น.ส. ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ ตัวแทนพันธมิตรชานมประเทศไทย และเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อคนพม่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึงกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เรียกร้องในนามตัวแทนของภาคประชาสังคมในเมียนมาให้ไทยคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา

“ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตัดการเข้าถึงการบริการทางการเงินระหว่างประเทศของเผด็จการหทารเมียนมา และการเข้าถึงรายได้จากก๊าซ และขอเรียกร้องให้ ปตท. ยุติการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และปิดกั้นรายได้ก๊าซธรรมชาติของเผด็จการทหารของเมียนมา ตามเสียงเรียกร้องของภาคประชาสังคมเมียนมา รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)” น.ส. ณิชกานต์ กล่าว

พันธมิตรชานม คือ การรวมตัวของคนรุ่นใหม่ในไทย เมียนมา และไต้หวัน เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองและต่อต้านอำนาจเผด็จการ โดยใช้จุดร่วมของแต่ละประเทศที่มีเครื่องดื่มยอดนิยมคือ ชานม

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธาน กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ในฐานะตัวแทนรับหนังสือ ระบุว่า จะติดตามข้อเรียกร้องนี้อย่างใกล้ชิด 

“เราไม่ต้องการเห็นการเอาทรัพยากรของประเทศไทย และการใช้ระบบธนาคารของประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขายอาวุธที่นำไปสู่การฆ่าล้างประชาชนในเมียนมา 2 สิงหาคมนี้ กมธ. จะเดินทางไปธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” นายรังสิมันต์ กล่าว

ต่อกรณีดังกล่าว นายซาไล บาวี นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การตั้งคณะทำงานร่วมนี้เป็นก้าวสำคัญในการแสดงจุดยืนของไทยต่อประชาคมโลก แต่ประสิทธิภาพจริง ๆ จะขึ้นอยู่กับอำนาจที่ได้รับ และความร่วมมือจากภาคเอกชน

“รัฐบาลไทยควรดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เช่น การเพิ่มความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศและพันธมิตรทางเศรษฐกิจในการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา นอกจากนี้ ควรส่งเสริมการให้ความรู้และการฝึกอบรมให้กับภาคธุรกิจไทยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล รวมถึงการจัดตั้งกลไกการร้องเรียนและการรายงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถตรวจสอบและจัดการกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างทันที” นาย ซาไล ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง