แรงงานข้ามชาติเมียนมาถูกใช้หาผลประโยชน์ ในระบบส่งตัวกลับของไทย
2023.02.06
เชอรี่ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวเมียนมา และมิน ธูรา ถูกตำรวจเรียก ขณะกำลังเดินไปคาเฟ่แห่งหนึ่ง บริเวณชายแดน อำเภอแม่สอด
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น คือจุดเริ่มต้นของฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนผู้อพยพหลายพันคนที่หลบหนีออกมาจากเมียนมา นับตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนางออง ซาน ซูจี
และด้วยความที่ไม่มีเอกสารสถานะบุคคลอย่างเป็นทางการ ทำให้พวกเขาถูกจับกุม และจำเป็นต้องเสียค่าปรับจำนวนมาก ซึ่งหลายคนคิดว่าค่าปรับเหล่านี้คือ สินบน เพื่อให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้
“เราแค่ขอโทษ และขอให้ตำรวจพวกนั้นปล่อยเรา แต่พวกเขาไม่ยอม พวกเขาต้องการส่งเรากลับไปเมียนมา หรือไม่ก็จ่ายเงิน” เชอรี่ อดีตนักโทษการเมืองในวัย 27 ปี กล่าวกับ เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวในเครือเบนาร์นิวส์
ตลอดเวลาสามวันที่เธอและแฟนของเธอ มิน ธูรา วัย 26 ปี พยายามติดต่อครอบครัวและเพื่อนของพวกเขาอย่างลนลานจากห้องขังในแม่สอด เพื่อหาเงินมาจ่ายในจำนวน 10,000 บาท เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว โดยทั้งคู่ไม่ใช้ชื่อจริง เพื่อความปลอดภัยต่อการอยู่อาศัยในประเทศไทย
ตำรวจไทยเตรียมเอกสารปล่อยตัว มิน ธูรา และ เชอรี่ หลังจากทั้งสองจ่ายสินบน 10,000 บาท (ภาพ มิน ธูรา)
ด้านนาย เนียง ออง ออง หัวหน้ากลุ่มสนับสนุนแรงงานข้ามชาติอาระกัน ในแม่สอด ระบุว่า เรื่องราวของพวกเขาหลายคนคล้ายคลึงกัน โดย 75% ของคดีจะจบลงด้วยการถูกส่งกลับ หรือไม่ก็ขู่ว่าจะจำคุกและทรมาน
“สำหรับแรงงานข้ามชาติ สถานีตำรวจเป็นเหมือนนรก พวกเขาไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากพวกตำรวจได้ เพราะตำรวจส่วนใหญ่นั้นมักเรียกเงินเสมอ” เนียง ออง ออง ระบุ
ขณะที่ แพทริก พงศธร ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการรณรงค์ขององค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในประเด็นเมียนมา กล่าวว่า ในทุกคดีของผู้ลี้ภัยที่ถูกจับกุมที่เราพูดคุยด้วย พวกเขาถูกเรียกรับสินบน ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก
ทางการไทยเข้าสอบสวน
ฟอร์ติฟายไรท์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยจะตรวจสอบการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาของรัฐบาลไทย หลังจากที่กลุ่มดังกล่าวแชร์หลักฐานการละเมิดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งรวมถึง “การบังคับส่งกลับ การจับกุมโดยพลการ การกักขังและการขู่เข็ญจากเจ้าหน้าที่ราชการไทย”
เรดิโอฟรีเอเชียได้พยายามโทรศัพท์ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไทย เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียกร้องการขู่กรรโชกดังกล่าว แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
อย่างไรก็ตาม รายงานของสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 นาย ธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้กล่าวว่ารัฐบาล “ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด” ว่าไม่มีการขู่กรรโชกหรือเรียกสินบน
ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่หลบหนีออกมาท่ามกลางความรุนแรงโหมกระหน่ำ รวมตัวกันที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 18 ธันวาคม 2564 (เอเอฟพี)
ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตในประเทศไทยสำหรับแรงงานข้ามชาตินั้นมีราคาสูง ประกอบกับช่องโหว่ของกฏหมายที่มีมาอย่างยาวนาน โดยปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ “บัตรตำรวจ” หรือเอกสารทางการที่อนุญาตให้แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมหรือส่งกลับประเทศ
ตามข้อมูลขององค์การแรงงานข้ามชาติอาระกัน ผู้ลี้ภัยต้องจ่ายค่าบัตรทุกเดือนผ่านพ่อค้าคนกลางหรือนายหน้า และตอนนี้มีราคาประมาณ 300-350 บาท อย่างไรก็ตาม การซื้อ “บัตรตำรวจ” ก็ยังไม่ได้รับประกันว่าจะไม่ถูกสุ่มจับตามท้องถนน หรือถูกส่งตัวกลับ เชอรี่และมิน ธูรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติม
“ผมคิดว่าพวกเขาคงไม่จับ ถ้าเรามีบัตรตำรวจ แต่ในความเป็นจริงบัตรนั้นไม่สามารถป้องกันเราจากการถูกจับกุมได้ สิทธิมนุษยชนที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ไม่มีอยู่จริงสำหรับชาวเมียนมา และสำหรับผู้อยู่อาศัยอย่างผิดกฎหมาย เราคือผู้ลี้ภัย” มิน ธูรา กล่าว โดยไม่ใช้ชื่อจริง เนื่องจากสถานะของเขาในประเทศไทย ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และไม่ยอมรับผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ
ตัวเลขผู้อพยพเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ทหารเข้ายึดอำนาจในเมียนมา มูลนิธิเพื่อการศึกษาและการพัฒนารายงานว่า การจับกุมผู้อพยพชาวเมียนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่า และการถูกส่งกลับก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เช่นเดียวกับองค์กรเอ็นจีโอของไทยที่บันทึกตัวเลขผู้อพยพอยู่ที่ 1,400 คน และการจับกุมเกิดขึ้น 181 ครั้งในปี 2565
อย่างไรก็ดี มิน อู โฆษกของกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า ตัวเลขเหล่านี้ไม่สะท้อนจำนวนที่แท้จริงของปัญหานี้เลย มีอีกหลายกรณีที่เรายังไม่ทราบ ซึ่งเราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
นอกจากนี้รายงานล่าสุดจากสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติประเมินว่า มีจำนวนระหว่าง 2,000 ถึง 5,000 คนต่อเดือนที่เดินทางกลับเมียนมาในปี 2565 ซึ่งส่วนใหญ่ถูกส่งตัวกลับ โดยชีวิตของพวกที่ถูกส่งกลับนั้น ตกอยู่ในความเสี่ยงสูง
ด้าน ออง จอ ประธานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า จำนวนผู้ข้ามแดนเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 100 คนต่อวัน ในปี 2563 เป็น 2,000 คนต่อวัน ในปี 2565 โดยทางการไทยรายงานว่าผู้อพยพ 60,000 คน ถูกจับกุมในปีที่แล้ว และยังรวมถึงอีก 45,000 คน ที่หลบหนีมาจากเมียนมา
เด็กผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาเดินกลับพร้อมอาหารที่ได้รับแจก บริเวณชายแดนไทย อำเภอแม่สอด วันที่ 15 มกราคม 2565 (เอเอฟพี)
ก่อนจะอพยพมายังประเทศไทย เชอรี่ต้องโทษจำคุกเจ็ดเดือนจากการร่วมขบวนการประท้วงที่แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ท่ามกลางความบอบช้ำจากสงคราม เช่นเดียวกับ มิน ธูรา แฟนหนุ่มของเธอ ที่ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว หลังถูกตำรวจไทยเรียกจับกุมถึง 5 ครั้ง ในแต่ละครั้งเขาจ่ายเงินหลายพันบาท เพื่อได้รับการปล่อยตัวและไม่ถูกส่งกลับ
“เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายถึงชีวิตในเมียนมา นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมผมถึงยอมจ่ายเงินให้ตำรวจ” มิน ธูรา อธิบาย
สำหรับทางการเมียนมานั้น พวกเขามักจะพุ่งเป้าไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการอารยะขัดขืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนหนึ่งได้ลาออกจากงานเพื่อประท้วงการรัฐประหารของกองทัพ หรือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอื่น ๆ
มีรายงานว่า ผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียงหลายรายบอกว่า พวกเขาเคยจ่ายเงินมากถึง 50,000 บาท ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวกลับ พวกที่ถูกพาตัวกลับไปยังชายแดนนั้น มีความเสี่ยงกว่ามาก พวกเขาอาจต้องจ่ายเงินให้ทหารเมียนมาที่ด่านด้วยเงิน 500,000 จ๊าต (ราว 8,000 บาท) เพื่อให้ได้รับการปล่อยตัว
ความช่วยเหลือที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
กลุ่มสนับสนุนแรงงานข้ามชาติอาระกัน ระบุว่า กลุ่มมนุษยธรรมถูกกีดกันจากกระบวนการส่งกลับมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้พวกเขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทุกเดือนและให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงตรวจสอบสวัสดิการ แต่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา มีรายงานว่ารัฐบาลไทยร่วมมือกับรัฐบาลทหารเมียนมาในการประสานงานการส่งกลับ
“เมื่อองค์กรเอ็นจีโอไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ คนที่ได้รับผลกระทบคือ แรงงานข้ามชาติเท่านั้น ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร มีคนมากมายที่ครอบครัวไม่รู้ว่าถูกจับกุม แต่เรายังสามารถช่วยส่งข้อมูลไปได้ ซึ่งตอนนี้เราทำแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว” ออง ออง จากกลุ่มสนับสนุนแรงงานข้ามชาติอาระกัน กล่าว
ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ขณะผลักหัวเรือเพื่อข้ามแม่น้ำกลับ หลังได้รับอาหารช่วยเหลือจากฝั่งไทย อำเภอแม่สอด วันที่ 15 มกราคม 2565 (เอเอฟพี)
เรดิโอฟรีเอเชียได้ส่งอีเมลถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยเพื่อขอความคิดเห็น แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
สำหรับเชอรี่ และมิน ธูรา หากได้รับความช่วยเหลือในการติดต่อพ่อแม่ให้ คงช่วยบรรเทาสถานการณ์ ขณะที่พวกเขาต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในคุก พวกเขาบอกว่า ตำรวจไทยเรียกเก็บเงิน 300 บาท สำหรับการโทรแต่ละครั้ง
“อย่างที่คุณรู้ ผมไม่มีครอบครัวที่นี่ เราทุกคนมาคนเดียว และไม่มีใครสามารถช่วยเราในสถานการณ์แบบนี้ได้” มิน ธูรากล่าว
เรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ รายงาน