สภาผ่านงบปี 67 ปรับลดจากวาระแรกแค่ 9 พันล้านบาท

อภิปรายโจมตี การจัดสรรงบความมั่นคง และกอ.รมน. ไม่เหมาะสม
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.03.22
กรุงเทพฯ
สภาผ่านงบปี 67 ปรับลดจากวาระแรกแค่ 9 พันล้านบาท บรรยากาศประชุมอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ปี 2567…วาระ 2 และวาระ 3 ที่รัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 22 มีนาคม 2567
เจมส์ วิลสัน-Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 3.48 ล้านล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรวาระที่สาม โดยปรับลดลงจากวาระแรกเพียง 9 พันล้านบาท แม้ฝ่ายค้านจะเสนอให้ตัดลดลง 3 หมื่นล้านบาทก็ตาม

ขณะที่งบด้านความมั่นคง และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ถูกอภิปรายโจมตีอย่างหนัก

งบแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2567 มีการพิจารณาลดงบประมาณลงในวาระที่สองเหลือ 6.47 พันล้านบาท จากที่เสนอไว้รวม 6.65 พันล้านบาท แต่ยังนับว่าเพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 200 ล้านบาท แต่ในนั้นเป็นงบสำหรับการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงประมาณ 20 ล้านบาทเท่านั้น

ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง อภิปรายชี้แจงงบวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท คาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยขยายตัว 2.5% พร้อมระบุว่า เรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น

ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาทนี้ เพิ่มขึ้น 9.3% หรือ 2.95 แสนล้านบาทจากงบประมาณปี 2566 โดยผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนน 298 คะแนน ไม่เห็นชอบ 166 คะแนน ไม่ลงคะแนนและงดออกเสียงอย่างละ 1 คะแนน  

“[ฝ่ายค้าน] เสนอปรับลดเล็กน้อย 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า รัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณ มีความเสี่ยงที่ประมาณการณ์รายได้น่าจะสูงเกินความเป็นจริง และจัดเก็บจริงได้ต่ำกว่า 1 แสนล้านเศษ เราควรต้องมาจัดสรรงบประมาณกันใหม่ เพื่อที่จะทำให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือว่ามีปัญหา” น.ส. ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย

โดยกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดคือ มหาดไทย 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.57% รองลงมาคือ ศึกษาธิการ 3.28 แสนล้านบาท เพิ่ม 0.31% กระทรวงการคลัง 3.27 แสนล้านบาท เพิ่ม 14.73% และกระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท เพิ่ม 1.96% ตามลำดับ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เปิดเผยว่า กมธ. เห็นชอบให้ปรับลดงบประมาณบางส่วนตามความเหมาะสม

“ได้ปรับลดงบประมาณลงประมาณ 9,204,109,400 บาทถ้วน โดยได้พิจารณาจากความสอดคล้องของนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13” นายภูมิธรรม กล่าว

นายภูมิธรรม ระบุว่า กมธ. ได้ปรับลดงบประมาณกระจายไปในหลายกระทรวง โดยหลัก ๆ ส่วนที่ถูกปรับลดลงเป็นส่วนของการฝึกอบรมสัมมนา, การจ้างเหมาบริการ, การจ้างที่ปรึกษา, การจัดการประชาสัมพันธ์, การเดินทางไปราชการต่างประเทศ เป็นต้น

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินนโยบายที่เคยได้หาเสียงเอาไว้ทั้งหมด แม้มีการตัดงบประมาณบางส่วน

“โครงการของรัฐบาลทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลวอลเล็ต หรืออะไรก็ตาม เรายังจะเดินหน้า เรายังมีความยืนยันว่า อาจจะต้องกู้ผ่าน พ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงหรืออะไรก็ตามแต่ เราจะให้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากสมาชิกทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง” นายจุลพันธ์ กล่าว

ด้าน นายรอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า งบประมาณปี 2567 ของ กอ.รมน. สูงถึง 7.25 พันล้านบาท ซึ่งใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็น และมากกว่าหลายกระทรวง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม พาณิชย์ ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม พลังงาน เป็นต้น

โดยเพจคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุยอดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ​ของ กอ.รมน. สูง​ 7,980,125,500 ​บาท 

“ขออนุญาตตัดไป 89.7% เหลืองบประมาณให้ กอ.รมน 773.40 ล้านบาท งบ กอ.รมน. เป็นก้อนใหญ่ที่สุดในหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี งบ กอ.รมน. เป็นกระเป๋าอีกกระเป๋าของกองทัพที่ทำงานกิจการการเมือง และมวลชน คือ การเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญของกองทัพ เป็นการตัดงบเชิงสัญลักษณ์เพื่อเปิดทางให้เรากลับมาพิจารณา เหตุผลของการดำรงอยู่ของหน่วยงาน กอ.รมน.” นายรอมฎอน กล่าว

“งบประมาณบูรณาการดับไฟใต้ไม่ตอบโจทย์การสร้างสันติภาพ ขอตัดงบ 23% เพื่อยืนยันว่า การดับไฟใต้ การสร้างสันติภาพต้องการกรอบวิธีคิดแบบใหม่วิธีคิดที่มองประชาชนด้วยความเคารพยอมรับกับความแตกต่างหลากหลายเปิดพื้นที่การหาทางออกในทางการเมือง ไม่ใช่การปราบปรามกดดันวิธีคิดแบบนั้นเราทดลองมาแล้ว 20 ปี” นายรอมฎอน กล่าวเพิ่มเติม

ตลอดช่วงปี 2548-2566 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ 4.92 แสนล้านบาท แต่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

ร.อ.ท. ธนเดช เพ็งสุข สส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ระบุว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหม 1.98 แสนล้านบาท ถูกใช้ไม่จำเป็นหลายประเด็น เช่น การที่กองทัพบกจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ หรือการจัดซื้อรถโดยสาร ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ

“การจัดการงบประมาณของกองทัพบกไม่ได้สะท้อนวิกฤตอะไรเลย คำที่ว่าเราจะลดขนาดกองทัพ แต่ท่านกำลังเสริมกองทัพให้โตยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกองทัพบก มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่งบประมาณกระทรวงกลาโหมต้องทำการปรับลด อย่างน้อย 5%” ร.อ.ท. ธนเดช กล่าว

สำหรับร่างงบประมาณ ปี 2567 ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ว่า มีความผิดปกติในการจัดสรรงบประมาณปีนี้ ความล่าช้าทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีที่ควรจะได้บริการจากรัฐก็ได้รับล่าช้าไปด้วย

“การบริหารงบประมาณ ยังเป็นวิธีการทำงานภายใต้กลไกราชการคือ เสนอไป เพื่อรู้ว่าเดี๋ยวก็ถูกตัดงบ พอถูกตัดไป ก็จะกลับมาอีหรอบเดิม และหลาย ๆ กระทรวงเป็นแบบนี้ ใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อน ไม่มีการบูรณาการ ไม่มีการพิจารณาขอบเขตอำนาจหน้าที่ตัวเอง” ดร. โอฬาร กล่าว

ส่วนประเด็นงบประมาณด้านความมั่นคง ดร. โอฬาร ชี้ว่า งบต่าง ๆ ของกระทรวงกลาโหมนั้นต้องสามารถอธิบายกับสังคมได้

“กรณีการจัดงบของกลาโหมนั้น งบลับสมควรมี แต่ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ ไม่ใช่อธิบายไม่ได้เลย ทุกปีเรามีงบลับมากขึ้น แต่ผลทางปฏิบัติมันไม่เกิดมรรคเกิดผล เช่น งบแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ เทงบลับลงไป เราน่าจะเห็นสันติภาพมากกว่านี้ในรอบ 20 ปี แต่เราไม่เห็นเลย แสดงว่ามันล้มเหลวแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัยมาก” ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง