ธนาธรชี้ตั้งคำถามเพื่อผลประโยชน์ชาติ กลับถูกฟ้อง ม.112
2021.01.21
กรุงเทพฯ
ในวันพฤหัสบดีนี้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ชี้แจงว่าการแถลงวิพากษ์-วิจารณ์การจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลไทย เป็นการตั้งคำถามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ไม่ได้มีเจตนาอื่น หลังจากที่เมื่อวานนี้ ตัวแทนรัฐบาลได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ นายธนาธร ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
ด้าน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การจัดซื้อวัคซีนของรัฐบาลเป็นไปตามกระบวนการ โดยคำนึงถึงประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองอย่างที่นายธนาธรกล่าวอ้าง
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นายธนาธร ได้แถลงผ่านการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คณะก้าวหน้า” วิพากษ์-วิจารณ์ ความล่าช้าในการเจรจาสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล ที่มีความล่าช้าและไม่ครอบคลุมต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ ขณะเดียวกันระบุว่า การจัดซื้อเป็นการหวังผลทางการเมือง ทำให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ส่งตัวแทนไปแจ้งความต่อ กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เอาผิดนายธนาธร ในข้อหา ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวานนี้
นายธนาธร อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรค ได้แถลงข่าว ณ ที่ทำการคณะก้าวหน้า ในวันพฤหัสบดี ระบุว่า ตนถูกยัดเยียดข้อหา แม้ว่าการแถลงของตนเองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นการตั้งคำถามโดยสุจริต
“จากการที่ผมได้ FB Live ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ข้อหาที่ยัดเยียดให้ผม คือ การกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 และการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112” นายธนาธร กล่าวต่อสื่อมวลชน
“การตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชน เราทำมาตลอด เรามีความเชื่อได้ว่า 3 สัญญาก้อนใหญ่ทั้งหมด ไม่ได้เจรจาอย่างเป็นเอกเทศ เพราะเอกสารทั้งหมดชี้ไปทางนั้น ไม่มีการคัดเลือก มีการเปรียบเทียบ ดังนั้น จึงต้องตั้งคำถาม ที่สำคัญที่สุด เมื่อพวกเราตั้งคำถามกับการที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนที่ครอบคลุมจำนวนประชากรได้น้อย และได้ฉีดช้า รัฐบาลมีการเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ผมโดน ถูกรัฐบาลฟ้องว่าทำผิดกฎหมายคอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112” นายธนาธร กล่าวเพิ่มเติม
นายธนาธร ระบุข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียเจรจาซื้อวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมประชากร 71 เปอร์เซ็นต์แล้ว และมีเป้าหมายจะเซ็นสัญญาให้ครอบคลุมประชากร 83 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 ขณะที่ไต้หวันซื้อแล้ว 42 เปอร์เซ็นต์ มีแผนให้ครอบคลุม 65 เปอร์เซ็นต์ปีนี้ ฟิลิปปินส์ 26.6 เปอร์เซ็นต์ มีแผนให้ครอบคลุม 68 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แต่ไทยกลับตกลงซื้อสำเร็จเพียง 21.5 เปอร์เซ็นต์ และมีแผนให้ครอบคลุมเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
ดีอีเอสแจ้งความหมิ่นสถาบัน
ในวันพุธ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส ได้ส่งตัวแทนไปแจ้งความที่ บก.ปอท. โดยชี้ว่า จะได้มีการตรวจสอบว่า มีใครเกี่ยวข้องกับการแถลงของนายธนาธรเมื่อวันจันทร์อีก ซึ่งหากทราบจะได้ดำเนินการฟ้องร้องกล่าวโทษด้วยเช่นกัน
ต่อข้อวิพากษ์-วิจารณ์ของนายธนาธรนั้น นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงต่อสื่อมวลชน ในวันพฤหัสบดีนี้ว่า รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชน มิใช่การหวังผลทางการเมืองตามที่นายธนาธรกล่าวอ้าง
“ความเร็วในการที่จะนำวัคซีนมาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย พร้อมกับความสามารถในการที่จะต้องมีความมั่นใจว่า วัคซีนที่มาฉีดให้นั้น เป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ และไม่เกิดผลข้างเคียง อันจะทำให้เกิดอันตรายกับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นเรื่องของความเร็วในการนำมาซึ่งวัคซีน รวมทั้งประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งแพทย์ในส่วนสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนเอง ก็ได้มีการพูดไปหลายท่าน ขอให้พี่น้องประชาชนได้มีความเข้าใจและมั่นใจว่า รัฐบาลไม่มีทางที่จะนำเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวกับสาธารณสุข” นายอนุชา กล่าว
“ปัจจุบัน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนจากบริษัท แอสตราเซเนกา จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เป็นผู้ที่เลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เพราะว่ามีความเหมาะสมในการที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี และจากการที่ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ก็สามารถที่จะผลิตวัคซีนได้ มีปริมาณ 200 ล้านโดสต่อปี เพราะฉะนั้นเหมาะ และสามารถที่จะให้มีเพียงพอกับประชากรไทย อย่างแน่นอน” นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ชี้แจงกรณีเดียวกัน เมื่อวันอังคารว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการผลิตวัคซีน 200 ล้านโดสต่อปี ตามที่แอสตราเซเนกาต้องการ ซึ่งแม้แต่องค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ
ไทยสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิดกว่า 60 ล้านโดส ถึงไทยล็อตแรก ก.พ. นี้
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้อมูลบนแฟนเพจ โดยสรุปว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ในปี 2564 โดยวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจะได้รับการฉีดก่อน 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป โดยหากเป็นไปตามข้อมูลนี้ จะทำให้ไทยจะมีวัคซีน รวมทั้งหมด 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคน หรือเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ซึ่งประชาชนต้องฉีดคนละ 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เมื่อวานได้มีการลงนามขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด -19 ของบริษัท แอสตราเซเนกา ส่วนที่ผลิตในประเทศอิตาลีแล้ว หลังจากทางบริษัทฯ ส่งเอกสารมาขอขึ้นทะเบียนในไทย เพื่อใช้ฉีดภาวะฉุกเฉิน โดยวัคซีนดังกล่าวจำนวน 50,000 โดสแรก จะถึงไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้
นักวิชาการชี้ การฟ้อง ม.112 กับธนาธรและผู้เห็นต่าง เป็นผลเสียกับรัฐบาล
ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการทำรัฐประหารในปี 2557
“การใช้ ม.112 กับคุณธนาธร หรือผู้เห็นต่างจากรัฐ มันสะท้อนให้เห็นถึงการใช้กฎหมายกำจัดคู่ต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งเราก็เห็นมาตั้งแต่เริ่มต้นพรรคอนาคตใหม่ ที่รัฐบาลใช้เป็นรูปแบบเดิม ซึ่งมันย้อนแย้งกับที่รัฐบาลเคยประกาศจะไม่ใช้ ม.112 และมันสะท้อนให้เห็นว่า การใช้งบประมาณของรัฐบาล เป็นสิ่งที่แตะต้องไม่ได้ ทั้งที่ความจริงมันควรถูกตั้งคำถาม และตรวจสอบได้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่มีปัญหา ถ้ารัฐบาลต้องการสร้างความโปร่งใส แต่คดีนี้ ไม่น่าจะกระทบกับการเคลื่อนไหวในระยะยาว” ดร.ฐิติพล กล่าว
ด้าน ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การที่รัฐพยายามใช้ ม.112 เป็นเครื่องมือทางการเมือง จะยิ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงออกถึงความต่อต้านจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น
“การนำ มาตรา 112 มาใช้เพื่อกดปราบคนที่เห็นต่างจากรัฐ หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐ หรือใครก็ตามที่เขาไม่อยากให้พูดถึง มันมีผลกระทบแน่ ๆ ต่อฝ่ายรัฐบาล ถึงแม้ช่วงโควิด การเคลื่อนไหวทางกายภาพจะทำไม่ได้ แต่เชื่อว่ามันจะสั่งสม และรอวันปะทุในสักวันหนึ่ง ขณะเดียวกัน องค์กรต่างประเทศ สื่อต่างประเทศ ก็จะหันมาเพ่งเล็งประเด็นนี้ หลังจากช่วงก่อนหน้านี้ ไม่มีการใช้ มาตรา 112” ผศ.สาวตรี กล่าวผ่านโทรศัพท์
ทั้งนี้ นอกจากนายธนาธรแล้ว นับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ระบุว่า มีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ผู้ร่วมชุมนุม ถูกฟ้องร้อง รวมถึงออกหมายเรียกจากความผิดตาม ม.112 แล้วถึง 55 ราย ใน 42 คดี