ครม. แพทองธาร เจอมรสุม ชาวบ้านขับไล่-ยื่นยุบพรรคร่วม

รมว. คลัง เตรียมแจกดิจิทัลวอลเล็ต 20 ก.ย. นี้ เริ่มกลุ่มเปราะบางก่อน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.09.09
กรุงเทพฯ
ครม. แพทองธาร เจอมรสุม ชาวบ้านขับไล่-ยื่นยุบพรรคร่วม น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2567
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

แม้จะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ต้องเจอมรสุมตั้งแต่สัปดาห์แรกแล้ว เมื่อประชาชนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ประกาศชุมนุมขับไล่รัฐบาล ขณะที่มีผู้ไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการที่แกนนำพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนการจัดตั้งรัฐบาลว่าเป็นการครอบงำพรรค และต้องถูกยุบพรรคหรือไม่ 

ประชาชนในนาม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กองทัพธรรม และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ประกาศว่า จะชุมนุมขับไล่รัฐบาลในวันที่ 17 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่ ครม. จะประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก

“ผมคิดว่า วันนี้ก็ยังเป็นการสานต่อภารกิจในการปฏิรูปประเทศ ภารกิจแรกในการปฏิรูปคือการตรวจสอบว่า รัฐบาลไม่ทุจริตคอร์รัปชัน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ซึ่งตอนรัฐบาลคุณเศรษฐา มันก็มีสิ่งที่บ่งชี้ว่าอาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง เราเคลื่อนไหวตามกรอบรัฐธรรมนูญ” นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท. กล่าว

ด้านนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในวันจันทร์นี้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการแจกให้กลุ่มเปราะบาง คือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) และกลุ่มผู้พิการ ซึ่งรวมแล้ว 14.5 ล้านคนก่อน 

“รัฐบาลจะโอนเงิน 10,000 ให้กลุ่มเปราะบางเป็นกลุ่มแรก น่าจะช่วงวันที่ 20 ก.ย.นี้ ทั้งนี้ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ จะต้องรอนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 กันยายนนี้” นายพิชัย กล่าวกับสื่อมวลชน

แถลงการณ์ร่วมของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่วางแผนจะเริ่มในวันที่ 17 ก.ย. นี้ระบุว่า กลุ่มจะตรวจสอบกรณีที่ นายทักษิณ ซึ่งต้องโทษจำคุกหนึ่งปี แต่กลับได้รับการควบคุมตัวในโรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ต้องถูกคุมตัวในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว และคัดค้านนโยบายคาสิโนถูกกฎหมาย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต และจะไม่ยอมให้มีการนิรโทษกรรมที่รวมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 

AP475454899052.jpg
กลุ่มประชาชนต่อต้าน "ระบอบทักษิณ" ขณะรวมตัวประท้วงรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 18 มกราคม 2557 (เอพี)

“เราเคลื่อนไหวในภาคประชาชนไม่มีนักการเมืองมาร่วมเคลื่อนไหวกับเรา เราทำอย่างนี้ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ให้นักการเมืองเขาเคลื่อนไหวไป เราก็เคลื่อนไหวภาคประชาชนไป เราไม่ได้เกี่ยวโยงกับพรรคการเมืองใด แต่ก็ยินดีถ้าพรรคการเมืองใดมาร่วมเวทีกับเรา” นายอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. ระบุ

ขอรัฐบาลเริ่มทำงานก่อน

ต่อการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส. แพทองธาร ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน หรือกล่าวถึงกรณีดังกล่าว ขณะเข้าทำงานที่อาคารชินวัตร 3 แต่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้ว่า ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น และรัฐบาลพร้อมจะนำไปปรับปรุง

“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ต้องอยู่ในกรอบ ขอให้ใช้ข้อมูลที่ไม่ได้เป็นวาทกรรมสาดใส่กัน หากเป็นข้อเท็จจริงที่ออกมา เราก็พร้อมปรับปรุง แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่การคาดเดา ตอนนี้มันมีการพิสูจน์ข่าวสารได้ ว่าใครพูดในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือใครปรุงแต่ง เราอย่าไปพูดที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง เราเอาความจริงมาพูดกัน” นายอนุทิน กล่าว

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบให้ น.ส. แพทองธาร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ด้วยคะแนนเห็นชอบถึง 319 เสียง การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสองวันก่อนหน้านั้น จากกรณีการเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน ซึ่งเคยถูกตัดสินจำคุกเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

ต่อมาวันที่ 4 กันยายน 2567 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ 35 คน ของ น.ส. แพทองธาร ซึ่งประกอบด้วยห้าพรรคการเมืองคือ เพื่อไทย, ภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ประชาชาติ, ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา และหนึ่งกลุ่มการเมืองคือ กลุ่มของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว. เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ประกาศตัวเป็นอิสระจากพรรค 

“รัฐบาลยังไม่ได้เริ่มทำงานเลย รัฐบาลยังไม่ได้แถลงนโยบายเลย การวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำถูกหรือทำผิด ขอให้รัฐบาลได้ทำหน้าที่ก่อน ตรงไหนไม่ดีก็วิพากษ์วิจารณ์มา เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูแล้วท่านนายกฯ เป็นคนรับฟัง และเป็นคนที่พร้อมที่จะทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนคนไทย เท่าที่ได้สัมผัสมาตลอด 2-3 สัปดาห์ และเชื่อว่าจะเป็นผู้บริหารที่ดี” อนุทิน กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ได้หารือร่วมกัน และกำหนดกรอบเวลาการประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาลระหว่าง 12-13 กันยายน 2567 โดยเบื้องต้นกำหนดให้ใช้เวลาการประชุมวันละ 14 ชั่วโมงครึ่ง หรือรวมสองวันประมาณ 29 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากการแถลงนโยบายจะนับว่า ครม. จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ

ยื่นยุบ 6 พรรคร่วมคุยทักษิณ 

นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอให้พิจารณายุบ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ และ พลังประชารัฐ เนื่องจาก แกนนำพรรคการเมืองที่กล่าวข้างต้นได้เดินทางเข้าพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักส่วนตัว ซึ่งนายทักษิณ ถือเป็นบุคคลภายนอกพรรคการเมือง อาจเข้าข่ายครอบงำพรรค

2024-06-28T091529Z_1402776901_RC27K8AKV37W_RTRMADP_3_THAILAND-POLITICS.JPG
อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร พร้อมด้วย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เข้าร่วมงาน THACCA SPLASH - Soft Power Forum 2024 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ วันที่ 28 มิถุนายน 2567 (อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)

“พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 28 ที่พรรคจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำ สั่งการ ทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินการไปได้อย่างอิสระ และประกอบมาตรา 29 โดยนายทักษิณ เป็นบุคคลภายนอกของพรรค การเข้าไปแทรกแซง หรือกระทำการใด ๆ จนเป็นที่สงสัยว่านายทักษิณเป็นเจ้าของพรรคเองหรือไม่ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือพรรคหรือไม่” นายนพรุจ กล่าว

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้นายกเศรษฐาพื้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนพบว่า มีแกนนำพรรคการเมืองตามคำร้องได้เดินทางไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าของนายทักษิณ ทำให้เกิดข้อครหาว่า นายทักษิณ ซึ่งเป็นบิดาของ น.ส. แพทองธาร มีส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี และครม. 

“ทุกอย่างที่ผ่านมาบ่งบอกว่าการกระทำของนายทักษิณส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุมพรรค โดยประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจว่านายทักษิณเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทย และรวมถึงการเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ในฐานะหัวหน้าพรรค ย่อมมีอิทธิพลเหนือ น.ส.แพทองธาร” นายนพรุจ กล่าวเพิ่มเติม

ต่อกรณีนี้ ผศ. นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ ครม. น.ส. แพทองธาร คือ การดำเนินคดีต่าง ๆ มากกว่าการทำรัฐประหาร

“โลกมันเปลี่ยนแล้ว การรัฐประหารโดยกองทัพ ผมว่าเขาไม่กล้าทำแล้ว เพราะมันจะถูกแบนจากนานาชาติ แล้วยังมีประชาชนออกมาต้าน แต่มันเกิดนิติสงคราม คือการใช้อำนาจของศาล องค์กรอิสระต่าง ๆ จึงฟันธงได้ว่า การรัฐประหารด้วยกองทัพจะไม่เกิด แต่การปลดนายกฯ แบบที่เกิดขึ้นกับคุณเศรษฐา ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอในสังคมไทย ตรงนี้ยังมีความน่ากลัวอยู่” ผศ. นพพร ระบุ

ทั้งนี้ หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 12-13 กันยายน น.ส. แพทองธาร มีกำหนดจะปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 16 กันยายน ที่จะถึงนี้ และจะมีประชุม ครม. นัดแรกอย่างเป็นทางการในวันถัดไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง