พรรคร่วมพร้อมโหวต อุ๊งอิ๊งค์ ชิงนายกฯ 16 ส.ค. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.08.15
กรุงเทพฯ
พรรคร่วมพร้อมโหวต อุ๊งอิ๊งค์ ชิงนายกฯ 16 ส.ค. นี้ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้สมัครนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีรักษาการ และตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล แสดงความยินดีภายหลังการแถลงข่าวประกาศผู้สมัครนายกรัฐมนตรี ก่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในกรุงเทพมหานคร วันที่ 15 สิงหาคม 2567
ชาลินี ถิระศุภะ/รอยเตอร์

พรรคร่วมรัฐบาลแถลงร่วมกันว่าจะเสนอชื่อ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 นี้ เพื่อแทนที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเพิ่งสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีในวันพุธ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงจากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

“แน่นอนประเทศต้องไปต่อ วันนี้เรามีความพร้อมที่จะผลักดันประเทศต่อ ดิฉันมีความมั่นใจในพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาลทุก ๆ พรรคที่จะช่วยกัน นำพาประเทศของเราให้หลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ เรามารวมตัวกันวันนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่าเรามีความตั้งใจ มุ่งมั่น พร้อมเพรียงกันในการผลักดันประเทศให้ไปต่อ” น.ส. แพทองธาร กล่าวต่อสื่อมวลชน 

การแถลงของ น.ส. แพทองธาร เกิดขึ้นหลังจากที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้ประชุม และแถลงร่วมกันในเวลา 17.00 น. ของวันพฤหัสบดี โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็นผู้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ประชุมพรรคร่วมรัฐบาลมีมติร่วมกันในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแล้ว 

“พวกเราทุกคนในนามของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลวันนี้มีจุดยืนเดียวกัน หลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้มีการประชุมกรรมการบริหารพรรคได้มีมติเสนอชื่อ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย” 

“เราพร้อมใจกันที่จะให้พรรคเพื่อไทยในฐานะที่จะเป็นพรรคแกนนำร่วมรัฐบาล เป็นผู้ที่จะเสนอผู้ที่เหมาะสมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยได้ให้พรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคได้รับทราบว่า จะมีการนำเสนอชื่อท่านแพทองธาร ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เราพร้อมให้ความสนับสนุน ร่วมมืออย่างเต็มที่” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว

ด้าน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า “พรรคพลังประชารัฐมีความมั่นใจในความรู้ความสามารถ ก็เลยจะต้องสนับสนุนให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เช่นเดียวกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค” 

พร้อมเป็นนายกคนที่ 31

และเมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบิดาจะให้คำปรึกษาในการทำหน้าที่หรือไม่ ซึ่ง น.ส. แพทองธาร ระบุว่า ต้องมีการให้คำปรึกษาแน่นอนในฐานะครอบครัวที่สนิทกันมาก

“ดิฉันปรึกษาครอบครัวทุกเรื่อง แน่นอนว่าทุกคนอยากให้ประเทศต้องไปต่อ เราก็ยินดี และตั้งใจ เราเข้าใจกัน และเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกันเสมอ เรา (นายทักษิณ-น.ส.แพทองธาร) ให้คำปรึกษากันทุกเรื่องอยู่แล้ว” น.ส. แพทองธาร กล่าว

Inside 1.jpg
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลูกสาว พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยิ้มทักทายสื่อก่อนการแถลงข่าวประกาศตัวเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในกรุงเทพฯ วันที่ 15 สิงหาคม 2567 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องมาจากบัญชีของพรรคการเมืองที่มีเสียงไม่น้อยกว่า 5% ของเสียงในสภาทั้งหมด คือ 25 เสียง จากการเลือกตั้งในปี 2566 ซึ่งจะทำให้เหลือผู้ที่มีโอกาสได้เป็นนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม พรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน พรรคภูมิใจไทย, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์

ในการเลือกนายกรัฐมนตรีวันศุกร์นี้ จะมี สส. ทั้งหมด 493 คน เป็น สส. พรรครัฐบาล 312 เสียง ซึ่งมีแกนนำเป็นพรรคเพื่อไทย และภูมิใจไทย ส่วนฝ่ายค้าน 179 เสียง ซึ่งมีแกนนำเป็นพรรคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ โดยนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด คือ 248 เสียงในปัจจุบัน 

หลังจากได้นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีจะมีหน้าที่ทูลเกล้าเสนอชื่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากนั้น ครม. จึงสามารถเริ่มงานได้ โดย ครม. ทั้งหมดไม่รวมนายกรัฐมนตรีต้องมีไม่เกิน 35 คน

ด้าน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชช.) แถลงว่า พรรคประชาชนจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในวันศุกร์นี้ 

“เราจะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยไม่มีส่วนร่วมในการโหวตสนับสนุนคุณชัยเกษม เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะต้องร่วมกันเสนอชื่อ และคาดว่าจะได้มีการตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้พรรคประชาชนจะไม่สามารถเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในนามพรรคตนเองได้ แต่ผมมีความพร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร” 

สว. - พรรคประชาชน ค้านศาลรัฐธรรมนูญ 

ในวันพุธ ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่า นายเศรษฐาสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี เพราะขัดจริยธรรมจากกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีฯ ทั้งที่รู้ว่าคุณสมบัติไม่เหมาะสม เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกตัดสินจำคุกจากคดีติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาล

การสิ้นสภาพนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่า นายเศรษฐากระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงจากการแต่งตั้งนายพิชิตซึ่งเคยถูกตัดสินจำคุก 

คดีของนายพิชิตเป็นการพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งสื่อมวลชนเรียกว่า “คดีถุงขนม” เมื่อปี 2551 ระหว่างทำหน้าที่ทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก โดยศาลตัดสินให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอาญา และสภาทนายความลบชื่อนายพิชิตออกจากบัญชี

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเราชื่นชมในการทำงานของท่านนายกฯ เศรษฐา แล้วก็เสียดายที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดฝันเอาไว้ แน่นอนว่า ท่านนายกฯ เศรษฐา เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ดิฉันเคารพ รัก นับถือตั้งแต่ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี และท่านเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน” น.ส. แพทองธาร แสดงความรู้สึกถึงการที่นายเศรษฐา ถูกวินิจฉัยให้สิ้นสภาพนายกรัฐมนตรี 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทำให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสภาพตามไปด้วย และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่งทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี โดย ครม. รักษาการมีอำนาจในการใช้งบประมาณ และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเช่นเดียวกับ ครม. ปกติ 

ด้าน พรรคประชาชนได้แถลงการณ์แสดงความกังวล และไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

“พรรคประชาชนยืนยันว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองควรมีจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต อย่างไรก็ตาม เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน - ดังนั้น ตราบใดที่การกระทำนั้นไม่ได้เป็นการทุจริตอย่างโจ่งแจ้งตามที่มีบทลงโทษตามกฎหมายครอบคลุมไว้ชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องของจริยธรรมจึงควรเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์พรรคประชาชน ระบุ

Inside 2.jpg
นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โบกมือหลังการแถลงข่าวที่ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร วันที่ 14 สิงหาคม 2567 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ขณะเดียวกัน น.ส. นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้แสดงความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีสิ้นสภาพว่า เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติในระบอบประชาธิปไตย

“การที่พรรคการเมืองใหญ่ถูกยุบ และนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ภายใต้กระบวนการตรวจสอบขององค์กรอิสระที่มิได้มาจากประชาชน มิใช่กระบวนการทางรัฐสภา อีกทั้งมิใช่ กระบวนการในศาลสถิตยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล และไม่ควรจะถือ เป็นเรื่องปกติในสังคมไทย หากยังถือว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” น.ส. นันทนา กล่าว

ในวันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ป.ป.ช. จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าจะเอาผิดนายเศรษฐาในประเด็นจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งหากมีความผิดอาจทำให้นายเศรษฐาถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต

ว่าที่ นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ 

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า มีแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนได้เดินทางไปรวมตัวที่ บ้านจันทร์ส่องหล้าของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอิทธิพลของพรรคเพื่อไทย 

เช้าวันพฤหัสบดี แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันว่าจะสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการเสนอชื่อ นายชัยเกษม ซึ่งเป็นอดีตอัยการสูงสุดให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่ในการประชุม ครม. รักษาการ และมีการแถลงร่วมกันว่าจะเสนอชื่อ น.ส. แพทองธาร แทน

น.ส. แพทองธาร ปัจจุบัน อายุ 37 ปี เป็นบุตรสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการจัดการโรงแรมนานาชาติ (International Hotel Management) จากมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ (Surrey University) ประเทศอังกฤษ 

อุ๊งอิ๊งค์เคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทธุรกิจในเครือ รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เริ่มทำงานในพรรคเพื่อไทยด้วยตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2564 

หลังจากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่ และทำกิจกรรมร่วมกับพรรคมาตลอด และในช่วงต้นปี 2566 ก็ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงร่วมกับพรรคอย่างสม่ำเสมอจนถูกคาดหมายว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่ง 5 เมษายน 2566 เพื่อไทยประกาศให้ น.ส. แพทองธาร เป็น 1 ใน 3 ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายเศรษฐา และนายชัยเกษม นิติสิริ และต่อมาถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ผศ.ดร. ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ชี้ว่า การตัดสินใจของพรรคร่วมรัฐบาลครั้งนี้นับเป็นการรักษาอำนาจในรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย

“พรรคร่วมรัฐบาลก็คงอยากไปต่อ ขั้วรัฐบาลก็คงยังเป็นขั้วเดิม และมีเพื่อไทยเป็นแกนนำ นายใหญ่ (นายทักษิณ) คงไม่มีทางยอมให้พรรคอื่นเป็นนายกฯ แต่ถึงแม้นายกฯ เป็นนายน้อย คุณอุ๊งอิ๊งค์ นโยบายอะไรที่สังคมไม่สบายใจก็คงสิ้นผลไปกับรัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลใหม่มาก็แถลงนโยบายใหม่ จะมีการปรับจูนยังไงก็เป็นสิทธิของรัฐบาลใหม่” ผศ.ดร. ธนพร กล่าว

ผศ.ดร. ธนพร ระบุว่าไม่เชื่อว่าจะมีรัฐประหารในเร็ว ๆ นี้ “ยังมองว่าการเมืองไทยไม่น่าไปถึงทางตัน เพราะนายกฯ ท่านเก่าออกไป ก็สรรหาท่านใหม่ ประชาชนเบื่อหน่ายจริง ๆ ก็ยุบสภาให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ รัฐประหารคงไม่เข้ามา” 

หาก น.ส. แพทองธารได้รับเลือก จะถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองของประเทศไทย ถัดจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งมีศักดิ์เป็นอา ที่เคยรับตำแหน่งเมื่อปี 2554 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง