ทักษิณอยู่บ้านต่อ หลังได้ประกันคดี ม. 112

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และจรณ์ ปรีชาวงศ์
2024.02.19
กรุงเทพฯ
ทักษิณอยู่บ้านต่อ หลังได้ประกันคดี ม. 112 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า พร้อมด้วยลูกสาว นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หลังจากได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลตำรวจ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
Thai News Pix/เบนาร์นิวส์

สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) แถลงในวันจันทร์นี้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่เพิ่งได้รับการพักโทษเมื่อวันอาทิตย์ ได้รับประกันตัวระหว่างการสอบสวน หลังวางหลักทรัพย์ 5 แสนบาท โดยนัดเข้าพบอัยการอีกครั้ง 10 เมษายน 2567 ด้านนักวิชาการมองว่ากรณีนายทักษิณเป็นความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำเรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง

“นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดเห็นว่า คดีมีประเด็นให้สอบสวนเพิ่มเติมตามหนังสือที่ทางคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีร้องขอความเป็นธรรม อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและมอบหมายให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมตามคำสั่งของอัยการสูงสุด และตามหนังสือขอความเป็นธรรม” นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษก อสส. กล่าว

“เนื่องจากคดีนี้อัยการสูงสุด มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมและยังไม่มีความเห็นทางคดี จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีหลักประกันเป็นเงินสด 500,000 บาท พร้อมนัดหมายให้เข้ามาฟังคำสั่งทางคดีในวันที่ 10 เมษายนนี้ ในเวลา 09.00 น.” นายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติม

ในเช้าวันเดียวกัน นายทักษิณ ได้เดินทางไปยัง อสส. เพื่อรายงานตัวต่ออัยการ แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

คดีนี้สืบเนื่องจาก นายทักษิณ ถูกแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 อสส. รับฟ้องคดีของนายทักษิณในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ

อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ได้ให้ทนายความทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อ อสส. ให้ปล่อยตัวนายทักษิณชั่วคราว ระหว่างการต่อสู้คดี เนื่องจากที่ผ่านมา นายทักษิณยังไม่มีโอกาสรวบรวมหลักฐานสำหรับคดีเพราะอยู่ในต่างประเทศ

การแถลงข่าวดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายทักษิณได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน จากการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ ณ โรงพยาบาลตำรวจ เพราะนายทักษิณเป็นหนึ่งในบุคคลที่คณะอนุกรรมการพักโทษอนุมัติให้ได้พักโทษตาม พ.ร.บ. ราชทัณฑ์มาตรา 52 

การกลับบ้านของนายทักษิณ เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และมีผู้สนับสนุนจำนวนมากมารอต้อนรับที่หน้าบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” ของนายทักษิณ ที่ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด โดย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะบุตรสาวของนายทักษิณ เปิดเผยว่า การกลับบ้านของนายทักษิณ สร้างความยินดีให้กับครอบครัวมาก

“หลังไม่ได้เจออากาศและแดดข้างนอกมา 180 วัน และไม่ได้กลับบ้านหลังนี้มา 17 ปี … พ่อก็ออกนั่งข้างนอกแบบนี้ นั่งอยู่สักพักเลย” น.ส. แพทองธาร เขียนข้อความบนอินสตาแกรมส่วนตัว พร้อมรูปนายทักษิณนั่งอยู่ริมสระว่างน้ำในบ้านพัก

นายทักษิณ เดินทางกลับบ้านด้วยรถยนต์ตู้ส่วนบุคคลพร้อมกับครอบครัว มีเฝือกดามที่คอ และเฝือกที่แขนด้านขวา มีสภาพอิดโรย ไม่มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หรือพูดคุยกับประชาชนที่รอต้อนรับ

ก่อนหน้านี้ นายทักษิณถูกพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 8 ปี ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษจากในหลวง ร. 10 เหลือจำคุก 1 ปี การจำคุกดังกล่าวสืบเนื่องจากคดีทุจริต 3 คดีที่เกิดขึ้นขณะเป็นนายกรัฐมนตรี 

หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศกว่า 16 ปี นายทักษิณได้กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ถูกควบคุมตัวทันที แต่ไม่เคยนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว เพราะกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า นายทักษิณมีปัญหาสุขภาพ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล กรณีที่เกิดขึ้นทำให้กรมราชทัณฑ์ถูกวิจารณ์อย่างหนัก

“การกลับมาของนายทักษิณถือเป็นทั้งโอกาส และวิกฤต หากรับโทษจะสร้างโอกาสในการปรองดอง แต่ทักษิณไม่ได้รับโทษ ตอกย้ำความแตกแยกของกระบวนการยุติธรรม ทักษิณพักโทษที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ก็จะมีนักการเมืองไปหา บอกว่าไม่แทรกแซงการเมืองคือ ไม่น่าเชื่อถือ เพราะทักษิณยังมีอิทธิพลทางการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองเพื่อไทย” นายพิชิต ไชยมงคล เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าว

ด้าน นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นถึงการพักโทษนายทักษิณว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม

“ใครก็ตามที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐประหารหรือถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ควรจะได้รับความยุติธรรม แต่เราไม่ควรใช้วิธีการที่ไปตอกย้ำกระบวนการยุติธรรมที่สองมาตรฐาน การปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกัน เราอาจจะเรียกว่าเป็นระบบนิติรัฐแบบอภิสิทธิ์ชน เพราะสุดท้ายก็ทำให้สังคมตั้งคำถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่” นายชัยธวัช กล่าว

ขณะเดียวกัน ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า 17 ปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งของกลุ่มชนชั้นนำเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางการเมือง โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้

"ถ้าในมุมมองของคนในตระกูลชินวัตรและคนใกล้ชิด ก็มองได้ว่าเป็นกระบวนการที่ยุติธรรมแล้ว แต่ในมุมของคนอีกฝั่งหนึ่งก็จะมองว่ากระบวนการเหล่านี้มันมีวาระซ่อนแนะนำอยู่ค่อนข้างมาก ถึงแม้คุณทักษิณ ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลยสักมาตราเดียว แต่ดูเหมือนกระบวนการทั้งหมดเนี่ย มันถูกทำขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อคุณทักษิณ อันนี้กระบวนการยุติธรรมต้องแบกรับสิ่งนี้เอาเอง" ผศ.ดร. โอฬาร ระบุ

"การกลับมาของคุณทักษิณถูกมองว่าเป็นการพูดคุยกันระหว่างชนชั้นนำที่รู้สึกว่าตัวเองพ่ายแพ้ในสนามการเมือง หลังจากการเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นจะต้องขอความเมตตาจากคุณทักษิณ เราอาจมองว่านี่คือความปกติของการเมืองก็ได้ แต่ทั้งหมดมันมีราคาต้องจ่าย" ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวเพิ่มเติม

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งการเมืองไทยระลอกใหม่จนถึงปัจจุบัน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอย่างน้อย 5,027 คดี ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2567 มีอย่างน้อย 288 คดี 

ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องถูกคุมขังด้วยคดีทางการเมืองอย่างน้อย 40 คน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน ซึ่งไม่เคยมีพฤติกรรมหลบหนี ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว ระหว่างการต่อสู้คดีมาตรา 112 เช่น นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

รุจน์ ชื่นบาน และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง