ฉัตรชัย บางชวด ตั้งเป้าได้ข้อตกลงสันติสุขชายแดนใต้สิ้นปี 67

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.01.10
กรุงเทพฯ
ฉัตรชัย บางชวด ตั้งเป้าได้ข้อตกลงสันติสุขชายแดนใต้สิ้นปี 67
กองทัพภาคที่ 4

นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้คนใหม่ เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า คณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทยหวังที่จะมีข้อตกลงสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในสิ้นปี 2567 โดยยืนยันว่า พร้อมพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อสร้างความเชื่อใจ

ด้าน องค์กรสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมายื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐยุติการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสันติ

คาดหวังที่ทุกส่วนจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ ที่จะนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่ สุดท้ายคณะเราในชั้นต้นก็มีความคาดหวังว่า ถ้าแผนมันถูกดำเนินการใน 10 เดือนนี้ ทำครบทุกขบวนการทุกขั้นตอน เราคาดหวังว่าจะมีข้อตกลงสันติสุขในธันวา 67 หรืออย่างน้อยต้นปีหน้า ก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการ และสภาวะแวดล้อมเงื่อนไขต่าง ๆนายฉัตรชัย กล่าว

นายฉัตรชัย เปิดเผยหลังการพบกับ ตันศรี ดาโต๊ะ ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชาวมาเลเซีย ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก หลังนายฉัตรชัยรับตำแหน่งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ

ท่านตันศรี (ซุลกิฟลี) ต้องไปประสานกับทางฝ่ายขบวนการว่า มีความพร้อมไหมอย่างไร ท่านตันศรีก็รับไปดำเนินการ ท่านบอกว่า มกราอาจจะฉุกละหุกไปนิดนึง แต่ถ้าต้นกุมภาก็มีความเป็นไปได้ที่คณะเราจะได้ไปพูดคุยที่มาเลเซีย เราอยากจะมีการรับรองแผนฉบับนี้ ในเดือนเมษายน 67” นายฉัตรชัย ระบุ

แผนเบื้องต้นของคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย คือ กำหนดแนวทางในการทำงาน และขั้นตอนการพูดคุยกับฝ่ายตัวแทนบีอาร์เอ็น และเดินทางไปพูดคุยที่ประเทศมาเลเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ และดำเนินการจัดทำ แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ร่วมกัน ซึ่งแนวทางคือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ ลดการเผชิญหน้า การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และการแสวงหาทางออกทางการเมือง ก่อนที่จะมีข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน

บีอาร์เอ็นก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราใช้เวลามาหลายปี ในช่วงที่ผ่านมา สร้างความไว้วางใจเพื่อให้ทางกระบวนการ เราจะคุยทุกกลุ่ม รวมทั้งพี่น้องในพื้นที่ด้วยที่อาจจะมีความเห็นต่าง และยังไม่กล้าแสดงความเห็นในเวทีหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ระบุ

 416638328_873340994527719_6222790120930575325_n-2.jpg

นักกิจกรรมชายแดนใต้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์หน้าสถานีตำรวจภูธรสายบุรี จังหวัดปัตตานี หลังนักกิจกรรมจำนวน 9 คน ถูกหมายเรียกคดีมาตรา 116 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 (เบนาร์นิวส์)

ข้อกังวลต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข

ต่อประเด็นดังกล่าว อาจารย์งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ข้อตกลงสันติสุขที่หวังจะให้เสร็จสิ้นในปีนี้ยังเร็วเกินไป

“เขาตั้งเป้าจะลดความรุนแรง แต่มันก็เป็นแบบนี้มานานแล้ว สถานการณ์ในตอนนี้ที่ฝ่ายความมั่นคงยังใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อฟ้องปิดปาก มันไม่ส่งผลในเชิงบวกเลย แนวทางที่ว่านี้ยังเร็วเกินไป" อ.งามศุกร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

อ.งามศุกร์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเราเห็นความพยายามจะหารือกับสาธารณะของคณะพูดคุยฯ แต่ก็เป็นแค่กระบวนการหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ทำอย่างจริงจังเพียงพอ และยังไม่ถึงประชาชนในพื้นที่

“เราเห็นการพูดถึงกระบวนการสันติภาพ แต่มันเป็นสันติภาพในเชิงลบ ไม่มีการพูดถึงเรื่องความเป็นธรรมของคนในพื้นที่” อ.งามศุกร์ กล่าวทิ้งท้าย

เหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอก จากคลังแสงของกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547 ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่

ปี 2556 รัฐบาลพยายามหาทางแก้ไขปัญหา โดยเริ่มใช้การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นทางออก แต่หลายครั้งกระบวนการก็หยุดชะงัก และไม่ต่อเนื่อง ต้นปี 2566 รัฐบาลมาเลเซียได้ตั้ง ตันศรี ดาโต๊ะ ซุลกิฟลี เป็นหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกฯ ประสานงานการพูดคุยระหว่างฝ่ายรัฐบาลไทย และบีอาร์เอ็นในฐานะตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ

ต่อมา ธันวาคม 2566 ฝ่ายไทยตั้ง นายฉัตรชัย รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย นับเป็นพลเรือนคนแรกที่รับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งนายฉัตรชัย ยืนยันว่าจะดำเนินการตามแผน JCPP ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566

ในวันเดียวกัน สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (CAP) ได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการดำเนินคดี ข้อหายุยงปลุกปั่น อั้งยี่ ซ่องโจร และฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ต่อนักกิจกรรม 9 คน ที่ร่วมจัดงานแต่งกายชุดมลายู (Melayu Raya 2022) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565

เราจัดกิจกรรมโดยไม่มีอะไรแอบแฝง แม้ครั้งแรกจะมีคำถาม เรื่องของธงที่พี่น้องนำมาร่วมกิจกรรม รวมถึงเพลง และคำกล่าวต่าง ๆ ที่อาจทำให้หน่วยงานความมั่นคงเกิดความกังวล แต่ที่ผ่านมาก็ได้พูดคุย หารือ ชี้แจง ทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่มาตลอด และเขาก็อนุญาตให้เราจัดครั้งต่อไปได้ ซึ่งการจัดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2566 ก็ผ่านไปด้วยดี แต่แล้วทำไมผู้ที่จัดกิจกรรมจึงโดนหมายเรียก ถูกดำเนินคดีในเวลาต่อมานายมะยุ เจ๊ะนะ หนึ่งในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีกล่าว

สำหรับประเด็นนี้ หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ระบุว่า “ประเด็นเรื่องชุดมาลายูอาจจะเป็นการเข้าใจผิด ไม่ได้มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นสิ่งสวยงาม เป็นอัตลักษณ์วัฒนธรรม ส่วนเรื่องการกระทำผิดบางส่วนนั้น ก็เป็นเรื่องที่กองทัพภาค 4 แต่ทั้งหมด มีการพูดคุยกันภายในด้วย เพื่อหาจุดที่ลงตัวที่เหมาะสม แต่เรื่องขบวนการทางกฎหมายก็ต้องว่ากันไป” 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 เอง 

ประเด็นที่เกิดขึ้น ทำให้ต้นสัปดาห์นี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมกว่า 30 องค์กร ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงสหประชาชาติ (UN) ให้ช่วยตรวจสอบกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนในหลายคดีว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่

การแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนาน ไม่สามารถแยกส่วนแบบที่คุณฉัตรชัยพูดได้ กระบวนการสันติภาพจะสำเร็จไม่ได้ถ้าทหารยังใช้กฎหมายดำเนินคดีกับประชาชนที่ทำกิจกรรมโดยสันติ นับเป็นเรื่องที่ขัดกับจุดประสงค์ JCPP ที่ต้องการลดการเผชิญหน้าด้วย เพราะนับเป็นการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายดำเนินคดีกับภาคประชาสังคม ที่ควรถูกนำมามีส่วนร่วมในการพูดคุยฯน.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

อย่างไรก็ตาม น.ส. พรเพ็ญ ชี้ว่า การพบกันระหว่างนายฉัตรชัยที่เพิ่งรับตำแหน่ง กับผู้อำนวยความสะดวกฯ ก็นับว่าเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับกระบวนการพูดคุยฯ มากขึ้น

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ และมารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง