พูดคุยสันติสุข : ปลดหมายจับ ลดปิดล้อมและตั้งด่านช่วงรอมฎอน-สงกรานต์

ไทย-บีอาร์เอ็น พูดคุยครั้งแรกหลังหนึ่งปี ตามด้วยการหารือด้านเทคนิคในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
มุซลิซา มุสตาฟา, อิมาน มุตตาคิน ยูโซฟ และมารียัม อัฮหมัด
2024.02.07
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
พูดคุยสันติสุข : ปลดหมายจับ ลดปิดล้อมและตั้งด่านช่วงรอมฎอน-สงกรานต์ พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชาวมาเลเซีย (กลาง) ขนาบข้างนายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย (ซ้าย) และอุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ตัวแทนคณะพูดคุยฯ ฝ่ายบีอาร์เอ็น ขณะพูดคุยกับผู้สื่อข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567
เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์

คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และบีอาร์เอ็น ตกลงที่จะมีการประชุมในปลายเดือนนี้ และในเดือนมีนาคม เพื่อหารือแผนงานสู่สันติสุข "ฉบับปรับปรุง" เช่นเดียวกับการหยุดยิงระหว่างเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ ผู้อำนวยความสะดวกชาวมาเลเซียกล่าวในวันพุธนี้ ขณะที่การพูดคุยฯ เป็นเวลาสองวัน ในครั้งนี้เพิ่งเสร็จสิ้นลงในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ทั้งสองฝ่ายตกลงรับหลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (JCPP) เผยพร้อมปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่าน ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ โดยระบุว่า หากเหตุการณ์รุนแรงลดลงก็พร้อมที่จะเสนอให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 

ทั้งสองฝ่ายได้มีการพิจารณาในเรื่องของหลักการแผน JCPP ทั้ง 2 ฝ่ายได้เห็นชอบในหลักการ JCPP มี 3 ส่วนสำคัญคือ การยุติความรุนแรง การมีเวทีปรึกษาหารือ และการแสวงหาทางออกทางการเมือง อันนี้จะเป็นเรื่องที่เราเห็นชอบหลักการโดยรวมเราทั้ง 2 ฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพุดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ แถลงในวันพุธนี้

“โดยสรุป ทั้งสองฝ่ายพอใจกับผลของการพูดคุยฯ เป็นอย่างมาก” พล.อ. ซุลกิฟลี ไซนัล อบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยฯ ชาวมาเลเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวในภายหลัง "เนื่องจากในปีที่ผ่านมาการเจรจาหยุดชะงักไป.. เพราะประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป"

“คณะผู้พูดคุยฯ ได้นำเสนอแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) ฉบับปรับปรุงล่าสุด แต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมบางประการที่บีอาร์เอ็นนำเสนอ เพื่อรับประกันความโปร่งใส ซึ่งเอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายในที่สุด” พล.อ. ซุลกิฟลี กล่าว

แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม เป็นแนวทางที่คณะพูดคุยสันติสุขฯ ฝ่ายไทยใช้เป็นแนวทางในการพูดคุยมาตั้งแต่ปี 2566 โดยแนวทางหลัก 3 ข้อคือ 1.การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่ ข้อตกลงสันติสุขร่วมกัน

นายฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า หลังจากนี้ คณะทำงานฝ่ายเทคนิคของคณะพูดคุยฯ และบีอาร์เอ็น จะหารือในรายละเอียดของ JCPP จำนวน 2 ครั้ง ถ้าได้ข้อตกลงแล้วก็จะมีการลงนามรับรองแผน JCPP ร่วมกัน

ด้าน พล.ท. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 และ รองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (รอง ผอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ได้นำเสนอแนวทางยุติความรุนแรงร่วมกันกับบีอาร์เอ็น

ช่วงเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมต่อเนื่องด้วยฮารีรายอ แล้วก็วันสงกรานต์ของพี่น้องชาวพุทธ เราได้มีการเตรียมความพร้อมไว้หลายเรื่อง คือการลดจำนวน เรื่องการปิดล้อม เรื่องของด่านตรวจ ป้ายหมายจับ ก่อนหน้านี้เราก็ดำเนินการไปแล้วและจะดำเนินการต่อไปเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ ลดการหวาดระแวงซึ่งกันและกันพล.ท. ปราโมทย์ กล่าว

เดือนรอมฎอน เป็นเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ปีนี้เริ่มวันที่ 10 มีนาคม ส่วนเทศกาลสงกรานต์ มวันหยุดสามวัน เริ่มในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

“ตามหลักการแล้ว จะเริ่มหนึ่งสัปดาห์ก่อนรอมฎอน และคงอยู่จนถึงสิ้นเดือนเมษายน” พล.ท. ปราโมทย์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“แต่เรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับบีอาร์เอ็นที่จะลดความรุนแรงในพื้นที่ด้วย หลักการนี้จะสำเร็จได้ต้องมีความเต็มใจในการร่วมมือ”

ได้มีการเสนอแคมเปญว่า ถ้าในช่วงหลังจากนี้ไป หากคณะผู้แทนของบีอาร์เอ็นสามารถที่จะสื่อสารไปยังกองกำลังของเขาในพื้นที่ว่า เขาจะไม่ก่อเหตุความรุนแรงตามระยะเวลาที่ได้คุยกันไว้ เราก็พร้อมที่จะประกาศยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในพื้นที่ดังกล่าวพล.ท. ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง รอมฎอนสันติสุขเมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดย รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถเดินทางกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้ โดยไม่ถูกคุมตัวในช่วง 40 วันของห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน

ภายหลัง คณะพูดคุยฯ แถลงว่า การดำเนินการดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะสามารถลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566

แรงขับเคลื่อนสู่สันติภาพ

หลังจากการประชุมคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายที่มีขึ้นที่มาเลเซีย ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 ตัวแทนของบีอาร์เอ็นได้ขอหยุดพักการพูดคุยฯ ไว้ก่อน เพื่อรอให้การเลือกตั้งทั่วไปของไทยในเดือนพฤษภาคม 2566 ผ่านพ้น

ทั้งยังเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองร่วมสามเดือนหลังการเลือกตั้ง ก่อนที่นายเศรษฐา ทวีสิน จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยของเขาขึ้นเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐาได้แต่งตั้งนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย นับเป็นพลเรือนคนแรกที่รับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งนายฉัตรชัย ยืนยันว่าจะดำเนินการตามแผน JCPP ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566

07 MY-TH-negotiators2.jpg

อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ตัวแทนคณะพูดคุยฯ ฝ่ายบีอาร์เอ็น (กลาง) และคณะ เข้าร่วมในการแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังการประชุมสองวันกับคณะผู้แทนรัฐบาลไทย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 [เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์]

ด้าน นายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น ชี้ว่า การพูดคุยฯ ครั้งนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมาก

นี่เป็นการเริ่มต้นของการประชุมครั้งใหม่กับรัฐบาลใหม่ จึงอาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่ครั้งนี้รัฐบาลไทยดูเหมือนจะยินดีที่ทำความเข้าใจในหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เราหวังว่าจะนำไปสู่ความก้าวหน้า เราหวังว่าการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตย จะเป็นแรงขับเคลื่อนสันติภาพในชุมชนปาตานี และช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในปาตานีนายอานัส กล่าว

นายอานัส ได้กล่าวว่า การประชุมทางเทคนิคที่วางแผนจะมีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้และในเดือนมีนาคม หากยังไม่ได้ระบุวันที่แน่นอน ควรมุ่งเน้นไปที่การบรรลุสันติภาพที่ “แท้จริง สง่างาม และยั่งยืน”

“การหารือจะจัดให้มีขึ้นในปาตานี การยอมรับอัตลักษณ์ของชุมชนปาตานี ปัญหาทางเศรษฐกิจ และประเด็นการพัฒนา สิทธิมนุษยชน การศึกษา วัฒนธรรม และระบบความมั่นคง” นายอานัสกล่าว

ขณะที่การพูดคุยฯ มีขึ้นในประเทศมาเลเซีย คืนวันอังคารที่ผ่านมา ที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธยิง และวางระเบิดใส่ที่พักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ เป็นเหตุให้ จ.ส.ต. บินหลี เศรษฐสุข ผู้บังคับหมู่ป้องกันและปราบปราม สภ.รือเสาะ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่เสียชีวิต 

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย  

ด้าน น.ส. อัญชนา หีมมีหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ถึงผลการพูดคุยฯ ว่า การพูดคุยมีประเด็นที่นับเป็นความก้าวหน้า ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อสังเกต

การที่คณะพูดคุยฯ ระบุว่า จะเปิดให้ภาคประชาสังคม หรือประชาชนในพื้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมได้ นับเป็นเรื่องที่ดี เช่นเดียวกับบีอาร์เอ็นที่พร้อมให้กลุ่มอื่น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยน.ส. อัญชนา กล่าว สิ่งที่ยังไม่ชัดคือ รายละเอียดของ JCPP และการนิยามความรุนแรงของคนในการพูดคุย.. มีสิ่งที่นอกเหนือจากความรุนแรงทางกายภาพ คือ การบังคับใช้กฎหมาย ปิดล้อม การฟ้องปิดปาก ซึ่งคณะพูดคุยควรทำความเข้าใจสิ่งนี้ให้ตรงกับคนในพื้นที่

โมห์ด. มิซาน โมฮัมหมัด อัสลาม นักวิเคราะห์ความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ดูเหมือนว่าคู่เจรจากำลังทำตามแผนงานเพื่อนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาค

“แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยจริงจังกับคำมั่นสัญญา และนั่นหมายถึงมันกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดการปะทะ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน” อัสลาม กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในส่วนของบีอาร์เอ็น อัสลามกล่าวว่า ความเต็มใจเข้าร่วมในการพูดคุย แสดงว่าพวกเขาจริงจังกับการผลักดันสันติภาพ

“บางทีการได้รับเอกราชหรือการปกครองตนเองอาจยังห่างไกล แต่อย่างน้อยพวกเขาได้เริ่มก้าวแรกเพื่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง