เพื่อไทยได้อีก 6 พรรคร่วมรัฐบาล
2023.08.09
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ พรรคเพื่อไทย แถลงข่าวดึง 6 พรรคเล็กร่วมรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว และขอร้องให้ สส. พรรคก้าวไกล ยกมือสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี โดยยอมขอโทษในสิ่งที่เพื่อไทยเคยทำให้ก้าวไกลไม่สบายใจหลังฉีกเอ็มโอยูพันธมิตร 8 พรรคเดิม
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวในการแถลงข่าวที่รัฐสภาว่า ได้ตกลงร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า, เพื่อไทยรวมพลัง, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่ และท้องที่ไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้พรรคภูมิใจไทยที่มี สส. 71 คนมาร่วมรัฐบาลแล้ว
“ต้องสลายขั้วการเมือง ดึงความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย โดยจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ และมีนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย เพื่อนำรัฐธรรมนูญออกจากวิกฤต นำประชาชนให้พ้นทุกข์ โดยถือเป็นวาระประเทศที่สำคัญอย่างสูงสุด” นพ.ชลน่าน กล่าว
ทั้งนี้ มีพรรคในพันธมิตรเดิม 3 พรรค ที่แยกทางจากพรรคเพื่อไทย คือ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม
ในขณะนี้ พันธมิตรใหม่มีเสียง 228 เสียง โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้จะพูดคุยกับพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมี สส. 10 ที่นั่ง แต่ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้เคยประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน
“พรรคที่จะเป็นนายกฯ คือ พรรคที่ 1 และพรรคที่ 2 มีความชอบธรรม ในภารกิจในครั้งนี้จึงสนับสนุนส่งเสริมให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการรวมเสียงให้ได้ 375 ขึ้นไปเพื่อจะให้ได้นายกฯ เมื่อได้นายกฯ ก็จะนำไปสู่การสรรหา ครม. และนำไปสู่การแก้ปัญหาให้ประเทศ” พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ หนึ่งในพันมิตรเดิมที่ยังคงอยู่กล่าวในการแถลงข่าวเดียวกัน
เพื่อไทยพร้อมขอโทษ-ขอเสียงก้าวไกล
การประกาศจับมือกับอดีตคู่ปรับทางการเมืองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้กองเชียร์ของพรรคก้าวไกลแสดงความขุ่นเคืองและประท้วงพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรง
เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนครบ นายภูมิธรรม กล่าวกับสื่อมวลชนว่าพร้อมเจรจากับก้าวไกล และขอร้องให้ยกมือสนับสนุนนายกรัฐมนตรีของเพื่อไทย
“สำหรับพรรคก้าวไกล เราอยากให้เขาร่วมในการแสดงเจตจำนงในการโหวตครั้งนี้ด้วย ไม่ว่าอะไรที่เคยเป็นปัญหาที่อาจจะมีส่วนกับพรรคเพื่อไทยหรือกับตน เรายินดีที่จะไปขอโทษ ขอขมา และยินดีที่จะไปแสดงความต้องการความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับทางออกวิกฤตของประเทศชาติ” นายภูมิธรรมกล่าว
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้กล่าวตอบนายภูมิธรรมผ่านกับสื่อมวลชนว่า ก้าวไกลต้องการให้เพื่อไทยยึดการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคเดิม
“จุดยืนก้าวไกลก็ คือ อย่าปล่อยให้อำนาจ สว. ในการเลือกนายกผ่านมาตรา 272 มาแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาลให้เป็นอื่นใดนอกเหนือจากผลลัพธ์ที่ควรจะเป็นตามครรลองปกติ ตามครรลองประชาธิปไตย คือ รัฐบาล 8 พรรค (เดิม) 310 กว่าเสียง… เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วก็ต้องมีอำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลไปขับเคลื่อนนโยบาย” นายพริษฐ์ กล่าว
จากนั้น ในตอนบ่ายวันเดียวกัน นายภูมิธรรม และ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ได้เดินเท้าไปยังตึกไทยซัมมิท เพื่อเจรจากับแกนนำพรรคก้าวไกล เพื่อขอเสียงสนับสนุนด้วย
“เรามาคุยกันมากกว่าว่าตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ไหนบ้าง เพื่อทำความเข้าใจแต่ละฝ่ายทั้งสองฝ่ายว่า เราทำงานกันถึงขั้นไหนแล้ว ในเรื่องผลคำตอบหรือผลสรุปอะไร อิ๊งค์ว่าต้องขอรออีกนิดนึง วันนี้ยังไม่พร้อมที่จะให้คำตอบใด ๆ” น.ส. แพทองธาร กล่าว “เราจะคุยกันว่าบางทีกองเชียร์ของทั้งสองพรรคทะเลาะกัน แต่เราไม่เคยทะเลาะกัน เราสองพรรคไม่เคยทะเลาะกัน คุยด้วยเหตุและผลเสมอ”
ภายหลังหารือร่วมกับแกนนำพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางออกจากอาคารไทยซัมมิท โดยมีสื่อมวลชนดักรถนายพิธาที่ทางออกของอาคาร นายพิธา เปิดเผยเพียงสั้น ๆ ว่า เป็นการรับฟังซึ่งกันและกัน และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยกมือโหวตให้นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่
ด้าน ดร. ธัชชนก สัตยวินิจ คณะรัฐศาสตร์เเละนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เชื่อว่าเพื่อไทยจะสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
“ด้วยเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง เราแทบไม่เห็นพรรคที่ปฏิเสธขั้วตรงข้ามแบบชัดเจน ยกเว้นก้าวไกล ดังนั้นเราประเมินได้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าหากพรรคร่วมรัฐบาลมีฝ่ายรัฐบาลเดิมก็ยากที่จะมีพรรคก้าวไกล ครั้งนี้เพื่อไทยคงไม่ยอมเป็นฝ่ายค้านง่าย ๆ ขณะที่เราก็เห็นว่า พรรคอย่างภูมิใจไทยหรือชาติไทยพัฒนา ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับใครก็ได้เพื่อเป็นรัฐบาล ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่เหนือความคาดหมาย” ดร. ธัชชนก กล่าว
“ในเวลาเดียวกัน เราเห็นว่าหลายพรรคไม่อยากร่วมงานกับ พลเอก ประวิตร และพลเอก ประยุทธ์ ก็เสื่อมความนิยมลงไป การวางมือของ พลเอก ประยุทธ์ อาจทำให้เราอนุมานได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติมีอนาคตไม่ยาวมากนัก ขณะที่ สว. สาย พลเอก ประยุทธ์ มีการเสียงแตกในการโหวตนายกรัฐมนตรี” ดร. ธัชชนก กล่าวเพิ่มเติม
ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเพื่อไทยจะเชิญอดีตพรรคคู่ปรับ เช่น พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ หรือไม่
ความวุ่นวายของการตั้งรัฐบาล
หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกล, เพื่อไทย, ประชาชาติ, ไทยสร้างไทย, เพื่อไทรวมพลัง, เสรีรวมไทย, เป็นธรรม, และพลังสังคมใหม่ รวม 8 พรรค สัญญาว่าจัดตั้งรัฐบาลโดยมี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน และเสนอชื่อนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธา ยังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
จากนั้น เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค กระทั่งในวันพุธที่แล้ว เพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย และยกเลิกข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันกับ 8 พรรค
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน