สภาเลือกเศรษฐา เป็นนายกฯ คนที่ 30

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2023.08.22
กรุงเทพฯ
สภาเลือกเศรษฐา เป็นนายกฯ คนที่ 30 นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ทักทายผู้สนับสนุน ที่สำนักงานใหญ่พรรค ในกรุงเทพฯ หลังจากรัฐสภาโหวตให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป วันที่ 22 สิงหาคม 2566
อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย หลังจากที่การเมืองเจอทางตันเพราะวุฒิสมาชิกไม่ยินยอมรับรอง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีนโยบายแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์

รัฐสภาลงมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 482 คะแนน, ไม่เห็นด้วย 165 คะแนน, งดออกเสียง 81 คะแนน ทำให้นายเศรษฐา วัย 61 ปี อดีตผู้บริหารในเครือแสนสิริ และแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

“ผมนายเศรษฐา ทวีสิน รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ คนที่สามสิบของไทย ผมอยากจะขอขอบคุณประชาชนคนไทยทุกคน พรรคร่วมฯ, สส. และ สว. ทุกท่านที่ร่วมในการโหวตในวันนี้ ผมจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ลืมความเหน็ดเหนื่อย ยกระดับความเป็นอยู่พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน” นายเศรษฐา กล่าวในการแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย

การประชุมร่วมรัฐสภา เริ่มขึ้นในตอนเช้า โดย นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการเสนอผู้อื่นแข่ง หลังจากนั้น สส. และ สว. ได้ผลัดกันอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายเศรษฐาอย่างดุเดือด

สว. และ สส. ฝ่ายค้าน ได้ตั้งคำถามความซื่อสัตย์ของนายเศรษฐา รวมทั้งความชอบธรรมของการที่พรรคเพื่อไทยไปร่วมกับอดีตรัฐบาลที่มีความใกล้ชิดกับทหารที่ล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยนายเศรษฐา ซึ่งไม่ได้เป็น สส. ไม่ได้ร่วมประชุมด้วย

“ไม่สามารถเห็นชอบกับแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฝ่ายบริหารไปจากช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา” นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวในที่ประชุมรัฐสภา และระบุว่าทางออกที่ดีที่สุดคือ การรอให้ สว. หมดอายุในเวลาสิบเดือนข้างหน้าเพื่อเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากการที่ สว. ไม่โหวตให้นายพิธา

ด้าน นายวิวรรธน์ แสงสุริยะฉัตร สว. อภิปรายโจมตีนายเศรษฐา เกี่ยวกับข้อครหาเรื่องการซื้อขายที่ดินโดยเลี่ยงภาษี สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัท แสนสิริ

“ผมจะเอาประเทศมาเสี่ยงในการเลือกคนคนหนึ่งที่เราไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร มาปกครองประเทศ เอาประชาชนมาเป็นตัวประกัน เอาเศรษฐกิจเอาประเทศชาติเอาทุกอย่างมาเป็นประกัน แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประกันเหรอ ผมฟังแล้วผมก็ว่ามันไม่ถูกต้อง” นายวิวรรธน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวันชัย สอนศิริ สว. กล่าวว่า นายเศรษฐาเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นการสลายความขัดแย้ง

“พอเห็นรัฐบาล 314 เสียง จาก 11 พรรคการเมือง เป็นเรื่องที่ลงตัวเหมาะเจาะพอดี สลายสี สลายบุคคล เรามีทั้งเหลืองแดงอยู่ในนั้น มีทั้ง กปปส. และ นปช. มีทั้งพรรคการเมืองที่เป็นผู้นำ เป็นทหารก็ดี ร่วมกันเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ เป็นการสมานฉันท์ปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม” นายวันชัย กล่าวโดยระบุถึงกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ในอดีต

ก่อนจบการอภิปราย นายชลน่าน กลับสรุปว่า พรรคเพื่อไทยมีความจำเป็นที่ต้องประสานกับพรรคต่าง ๆ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมาก

“เพื่อไทยเข้ามาเพื่อสลายความขัดแย้ง” นายชลน่านกล่าว และระบุว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่อวตารตามลำดับได้เผชิญความความขัดแย้งมานานและมีแต่ความเสียหาย

“ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างดุลอำนาจและประนีประนอมอำนาจ และสร้างประโยชน์ให้ดีที่สุด ต้องคุ้มครอง สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”    

230822-th-prime-minister-voted-inside.jpg

นายเศรษฐา ทวีสิน ออกมาทักทายกลุ่มผู้สนับสนุนเป็นครั้งแรก หลังผลโหวตผ่านเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อ 22 สิงหาคม 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)

ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า นายเศรษฐายังมีอุปสรรคต้องฝ่าฟัน และเชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบเทอม

“คิดว่าอยู่ไม่ครบวาระ และจะมีปัญหาเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจในสภา ที่จะเป็นปัญหาหลัก เหมือนสมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ทุกอย่างต้องเกรงใจคนนั้นคนนี้ ทำให้ดำเนินนโยบายได้ไม่เต็มที่” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ โดยระบุถึงอดีตนายกรัฐมนตรีที่โดนรัฐประหารในปี 2534 

“และต้องอย่าลืมว่าการกลับมาของทักษิณ เป็นอีกจุดที่คนจำนวนหนึ่งรู้สึกไม่พอใจ แม้จะกลับมารับโทษ แต่เงื่อนไขการลดโทษก็เยอะ คือมีความเป็นอภิสิทธิ์ชนสูงมาก ชัดเจนว่ามีอะไรคอยช่วยอยู่เบื้องหลัง”

3 เดือนแห่งความวุ่นวาย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความทันที ส่งกำลังใจแก่ผู้สนับสนุนและขอเดินหน้าเป็นตัวแทนพลังใหม่ หลังรัฐสภาผ่านมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

"ท่ามกลางความสิ้นหวัง ความเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ ก้าวไกลภายใต้การนำของผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเป็นตัวแทนพลังใหม่ เป็นความหวัง เป็นที่หนึ่งในดวงใจของพี่น้องประชาชน ด้วยการทำงานทันสมัย มีประสิทธิภาพ ทั้งตรวจสอบการทำงานของผู้มีอำนาจ และทั้งเสนอแนะทางออกของประเทศในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า อภิปรายวาระที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย"

"เราจะเป็นสถาบันการเมืองที่พี่น้องประชาชนฝากความไว้วางใจเอาไว้ได้ ว่าเราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน และจะไม่มีวันทรยศหักหลังต่อความไว้วางใจที่พี่น้องให้มาอย่างแน่นอน"

ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลสามารถได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 โดยมี สส. 151 คน ประกาศจับมือร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย และอีก 6 พรรคการเมือง สามารถรวม สส. ได้ 312 เสียง โดยจะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน โดย สส. และ สว. ที่ไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงอ้างว่า ไม่เห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากก้าวไกล เสนอให้แก้ไข ม.112 ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงของชาติ

ตามรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธาไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล

เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่า ไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค

ในที่สุด เพื่อไทยสามารถประกาศจัดตั้งรัฐบาลกับภูมิใจไทย, พลังประชารัฐ, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติไทยพัฒนา, ประชาชาติ, ชาติพัฒนากล้า, เพื่อไทรวมพลัง, เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย และใหม่ มี สส. 314 เสียง โดยยืนยันว่า ในรัฐบาลจะไม่มีก้าวไกลรวมอยู่ด้วย ทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. บางส่วนในการเลือกนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง