ตำรวจขอเลื่อนใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
2023.01.11
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
นักสิทธิมนุษยชนเห็นว่า การที่ผู้บัญชาการตำรวจมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย แสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยตำรวจระบุเหตุผลว่าไม่มีงบประมาณจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ ขณะสอบสวนหรือจับกุม และบุคลากรขาดความรู้และทักษะ
สืบเนื่องจากบนอินเทอร์เน็ตมีการเผยแพร่หนังสือ ลงวันที่ 6 มกราคม 2566 ของ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ส่งถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่อง “ปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565” เสนอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป จากเดิมที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกประหลาดใจกับกรณีที่เกิดขึ้น
“หนังสือแสดงให้เห็นว่า ตำรวจไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนี้ และหากรัฐบาลเห็นให้ขยายเวลาออกไปก็เท่ากับว่าไม่มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งที่พยายามยืนยันมาตลอดว่า พยายามผลักดันเรื่องนี้ และรัฐบาลเองก็ควรลงสัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เพราะสภาเห็นชอบให้ลงสัตยาบันมาหลายปีแล้ว (2560)” นางอังคณา กล่าว
“มันไม่น่าจะมีเหตุผลที่รับฟังได้ ในการขอเลื่อนการใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาสหประชาชาติก็เคยอบรมด้านการป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายให้กับเจ้าหน้าที่ฟังมาหลายครั้งแล้ว"
"หรือถ้ายังไม่เข้าใจจริง ๆ ก็สามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายได้ และอ้างว่า ไม่มีงบจัดหาอุปกรณ์บันทึกภาพขณะสอบสวน ก็ใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพไปก่อนได้” นางอังคณา ระบุ
ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ระบุเหตุผลในการขอให้ชะลอการใช้กฎหมาย 3 ข้อว่า 1. ไม่มีงบประมาณ 3.47 พันล้านบาทสำหรับจัดซื้อกล้องบันทึกภาพขณะสอบสวนหรือจับกุม 2. บุคลากรกว่า 2.5 แสนนาย ขาดความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ และ 3. ความไม่ชัดเจนและคุมเครือของบทบัญญัติของกฎหมาย และยังไม่มีระเบียบแนวทางปฏิบัติเป็นมาตรฐานกลาง
“หากมีการบังคับให้พระราชบัญญัติดังกล่าวตามกำหนดเวลาเดิมในขณะที่หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง อาจก่อให้เกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง”หนังสือดังกล่าว ระบุ
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า “ถ้าติดกล้องบันทึกภาพและเสียงระหว่างการจับกุมอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลดีต่อทั้งผู้จับและผู้ถูกจับ ถ้าซื้อกล้องใหม่ไม่ได้ก็ใช้กล้องมือถือถ่ายได้ ถ้าไม่มีมือถือก็ยังควบคุมตัวผู้ต้องหา สอบสวนได้อยู่ดี แต่ถ้าถูกร้องเรียน ผู้จับกุมก็จะขาดหลักฐานสำคัญในการยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองว่าไม่ได้ซ้อมหรือทำร้ายผู้ต้องหา”
พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วันหลังจากนั้น ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2565 มีข่าวลือว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องการให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไป โดยอ้างเรื่องความไม่พร้อมด้านบุคลากร และอุปกรณ์
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ได้เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 54 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ว่า ตำรวจกำลังเร่งอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 1,484 สถานีทั่วประเทศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้กฎหมายดังกล่าว
เป็นผลดี หากบันทึกภาพระหว่างสอบสวน
ต่อเรื่องนี้ พ.ต.ท. ทรงศักดิ์ ธิติธารวัฒน์ ข้าราชการเกษียณ อดีตรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร จังหวัดพะเยา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ขออย่าให้มองตำรวจในแง่ร้าย แต่เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นผลดีกับเจ้าหน้าที่เองเช่นกัน
“เรื่องงบประมาณไม่พอสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์อาจจะเป็นปัญหาจริงก็ได้ ตำรวจส่วนมากคงไม่มีใครอยากซ้อมประชาชนหรอก ยกเว้นอยู่ในยุคเผด็จการ หรือประเทศเผด็จการ"
"เชื่อว่าการบันทึกภาพระหว่างสอบสวนย่อมเป็นผลดีอยู่แล้ว เพราะจะช่วยคุ้มครองสิทธิของประชาชน ถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องมีการสอบสวนต่อหน้าทนายความ ผมเชื่อว่าตำรวจพร้อมที่จะทำตามกฎหมายอยู่แล้ว” พ.ต.ท. ทรงศักดิ์ กล่าว
ด้าน อ.วรชาติ อาวิพันธ์ นักวิชาการอาคันตุกะ สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ให้ความเห็นกับเบนาร์นิวส์ว่า การขอให้ชะลอการใช้กฎหมายอาจเกิดจากความไม่พร้อมของ สตช. จริง ๆ แต่ สตช.ก็ไม่ได้แสดงออกถึงการให้ความสำคัญต่อกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้แสดงความพยายามให้เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสำคัญ และเร่งด่วนพอที่จะต้องสั่งการให้บุคลากรของตนเองมีความพร้อม จึงเกิดคำถามใหญ่ว่าที่ผ่านมาสำนักงานฯ ได้เคยจัดอบรมหรือยัง ตรงนี้ไม่ปรากฏเลย" อ.วรชาติ กล่าว "การอ้างเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้บุคลากรไม่พร้อม อันนี้แสดงถึงความไม่พยายาม”
พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย นั้น ภาคประชาสังคมเป็นฝ่ายเสนอให้รัฐบาลจัดทำและบังคับใช้มาอย่างยาวนาน โดยในปี 2562 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยนำกฎหมายนี้มาพิจารณาแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านความเห็นชอบบังคับใช้จริงได้ กระทั่งในปี 2564 สภาผู้แทนราษฎร และปี 2565 วุฒิสภา ให้ความเห็นชอบทำให้กฎหมายสามารถบังคับใช้จริง
โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
สหประชาชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า