ครม. มีมติเลื่อนใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย
2023.02.14
กรุงเทพฯ
คณะรัฐมนตรีมีมติในวันอังคารนี้ ให้เลื่อนการบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22-25 ซึ่งกำหนดให้การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยต้องบันทึกภาพ และเสียง ทำให้นักสิทธิมนุษยชนรู้สึกผิดหวังกับมติดังกล่าว และชี้ว่าการเลื่อนครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการใช้กฎหมายนี้
น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อความพร้อมในการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น
“ครม.เห็นชอบ แก้ไขร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566” น.ส. รัชดา กล่าว
สำหรับ มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว, มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว, และมาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
“ขณะนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ 1. การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา และ 2. การเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในการใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง” น.ส. รัชดา ระบุ
ในวันเดียวกัน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม นักกิจกรรม และประชาชนหลายสิบชีวิต ได้รวมตัวกันข้างทำเนียบรัฐบาลเพื่อแสดงการคัดค้านการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ เพราะเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งหนังสือถึงนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้เลื่อนการใช้กฎหมายดังกล่าวไป และ ครม. มีวาระพิจารณาเรื่องนี้
นักสิทธมุษยชนแสดงความผิดหวัง
นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ต่อเรื่องนี้ว่า หวังว่าจะไม่เกิดกรณีการซ้อมทรมาน หรือบังคับสูญหาย ขณะที่กฎหมายนี้ถูกเลื่อนการบังคับใช้
“น่าเสียดายมากที่ตำรวจแสดงออกมาให้เห็นว่าไม่มีความพร้อม คิดว่าถ้าตำรวจเต็มใจที่จะใช้กฎหมายน่าจะรีบดำเนินการเรื่องนี้ และไม่คิดว่า ครม. จะเห็นด้วยกับการเลื่อนบังคับใช้ เลยต้องย้อนถามความเต็มใจในการใช้กฎหมายของรัฐบาลด้วย"
"สิ่งที่หวังคือ ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้คงไม่มีการเลื่อนอีกครั้ง อยากเรียกร้องให้รัฐบาลลงสัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เพราะสภาเห็นชอบให้ลงสัตยาบันมาหลายปีแล้ว (ตั้งแต่ 2560)” นางอังคณา กล่าว
ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุว่า เหตุผลที่รัฐบาลใช้ในการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
“ความพร้อมเรื่องกฎหมาย การซื้ออุปกรณ์ในการบันทึกเสียงและภาพ ควรจะทำเป็นเรื่องปกติตามหลักสากลอยู่แล้ว การให้เหตุผลว่าไม่พร้อม แสดงว่าคุณไม่ได้เตรียมพร้อม จึงย้อนกลับไปถามเจ้าหน้าที่ได้ว่าทำงานกันแบบไหน ฮิวแมนไรท์วอทช์หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า หลังเลือกตั้งจะเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเร็วที่สุด และรีบกลับมาบังคับใช้กฎหมายนี้” นายสุณัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ไม่มีใครไม่อยากใช้กฎหมายนี้ แต่เราอยากให้พร้อมแล้วใช้ เพราะหากใช้ไปแบบไม่พร้อม ความเสียหายจะตกอยู่กับทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ต้องสงสัย และกรณีนี้เราไม่อยากพูดแทนหน่วยงานอื่น ๆ” พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงผ่านทางเบนาร์นิวส์ ต่อข้อท้วงติงของนักสิทธิมนุษยชน
พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตุลาคม 65
พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้จริง 120 วันหลังจากนั้น ซึ่งตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2565 มีข่าวลือว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องการให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไป โดยอ้างเรื่องความไม่พร้อมด้านบุคลากร และอุปกรณ์
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 54 ที่รัฐสภาว่าตำรวจกำลังเร่งอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 1,484 สถานีทั่วประเทศ เพื่อให้พร้อมสำหรับการใช้กฎหมายดังกล่าว
โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผย จะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
สหประชาชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า