ม.สยาม ปฏิเสธเกี่ยวข้องคอร์สอบรม อส. ตำรวจให้คนจีน
2025.01.07
กรุงเทพฯ
มหาวิทยาลัยสยาม ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยไม่มีส่วนรู้เห็นในโครงการจัดอบรมอาสาสมัครตำรวจให้กับชาวจีน โดยระบุว่า ผู้บริหารคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการเองโดยพลการ ด้านนักวิชาการชี้ว่า รัฐบาลควรตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด เพื่อความโปร่งใส และป้องกันโอกาสที่จะทำให้เกิดอภิสิทธิ์ชนจากโครงการนี้
“การอบรมดังกล่าวเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยบุคคลภายนอกมี นายลีจาง ซึ่งเป็นอาจารย์ประจําของมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้อํานวยความสะดวก และไม่มีการขออนุญาตจากมหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ซึ่งในวันที่ 25 ธ.ค. 2567 มีการเปิดอบรมภายในมหาวิทยาลัยจริง แต่ไม่มีการขออนุญาต” นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าว
นายพรชัย เปิดเผย การจัดอบรมนอกสถานที่ในวันที่ 26-27 ธ.ค. 2567 ก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากมหาวิทยาลัยเช่นกัน
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจาก น.ส. ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. กรุงเทพฯ พรรคประชาชน ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเอ็กซ์ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งข้อมูลมาให้ว่า มีการจัดโครงการอบรมอาสาสมัครตำรวจให้กับชาวจีน โดยคิดค่าอบรมรายละ 38,000 บาท ซึ่งใช้ระยะเวลาอบรม 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 ธ.ค. 2567
เมื่อผ่านการอบรมจะได้รับใบรับรองซึ่งมีอายุ 2 ปี, หมวก, เสื้อยืด, เสื้อกั๊กตำรวจ, เสื้อสะท้อนแสง และบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ โดยโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 30 คน ในตารางกิจกรรมปรากฏตราสัญลักษณ์ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) และมหาวิทยาลัยสยาม ซึ่ง น.ส. ศศินันท์ ตั้งข้อสังเกตว่ารูปแบบการอบรมมีความน่าสงสัย
หลังการชี้แจงของ ม.สยาม ด้าน น.ส. ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้ว่า มหาวิทยาลัยสยามจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้ที่แอบอ้างมหาวิทยาลัยในการจัดอบรมดังกล่าว
“เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับผู้บริหารท่านนี้ หลังจากมหาวิทยาลัยยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีส่วนรู้เห็น และไม่มีการเก็บเงิน แต่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546” น.ส. ศุภมาส กล่าว
น.ส. ศุภมาส ระบุว่า หากมหาวิทยาลัยสยามไม่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ อว. จะเข้าไปกำกับดูแลและดำเนินคดีกับมหาวิทยาลัย เนื่องจากประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ
ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท. เกรียงศักดิ์ ช่วงวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 ยอมรับว่า ตนเองได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรในโครงการอบรมดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่า โครงการคิดค่าอบรมกับนักศึกษาที่เข้าร่วมเป็นเงิน 38,000 บาท
ต่อมา ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ซึ่งถูกใช้แอบอ้างในการอบรม ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการอบรมนี้ ขณะที่ พล.ต.ท. สยาม บุญสม ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ระบุว่า หน่วยงานกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงของกรณีที่เกิดขึ้นอยู่ โดยหากพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปเป็นวิทยากรให้กับโครงการดังกล่าวมีส่วนรู้เห็นอาจถูกลงโทษเช่นกัน
ขณะที่ น.ส. ศศินันท์ ในฐานะผู้เปิดประเด็นดังกล่าว เขียนข้อความบนเอ็กซ์ กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้กระจ่าง
“ใครเป็นเจ้าของโครงการ ตำรวจหรือมหาวิทยาลัย? และที่สำคัญคือการนำตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของตำรวจมาใช้ในอุปกรณ์ที่มีการแจกให้ผู้เข้าอบรม ใครเป็นคนดำเนินการ? นี่คือสิ่งที่สังคมกำลังรอคอยคำตอบ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะคลี่คลายไขคำตอบและคลายความกังวลให้กับสังคม ไม่ใช่นำไปสู่คำถามและความกังวลที่มากกว่าเดิม” น.ส. ศศินันท์ ระบุ
ต่อประเด็นนี้ ผศ. นพพร ขุนค้า อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า โครงการดังกล่าวมีความน่าสงสัย สังคมควรจับตามองเรื่องนี้ ขณะที่รัฐบาลก็มีหน้าที่ต้องสร้างความกระจ่างให้กับสังคม
“ภาครัฐต้องตรวจสอบ การจัดฝึกอบรมอะไรให้ชาวต่างชาติแบบนี้ ถ้ามาทำมาหากินสุจริตหรือคนไทยไปรังแกเขา เราก็ต้องคุ้มครอง แต่หลักสูตรอะไรที่หมิ่นเหม่แบบนี้ภาครัฐต้องเข้ามาสอดส่องดูแล ไม่ควรปล่อยปละละเลย ประเด็นที่ควรมองคือ เรื่องค่าตอบแทน กับการพยายามสร้างอภิสิทธิ์ชนให้กับชาวต่างชาติไนไทยบางกลุ่ม อยากให้สังคมให้ความสำคัญ” ผศ. นพพร กล่าว
ก่อนหน้านี้ในเดือน พ.ย. 2566 น.ส. ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เคยเปิดเผยว่ามีแนวคิดที่จะให้ตำรวจจีนเข้ามาร่วมลาดตระเวนในสถานที่ท่องเที่ยวของไทยเพื่อดูแลนักท่องเที่ยวจีน แต่หลังจากที่มีกระแสต่อต้านจากสังคม รัฐบาลได้ยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดจะดำเนินการเช่นนั้น
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน