พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประยุทธ์ และ 9 รัฐมนตรี
2021.01.25
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
ในวันจันทร์นี้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีรายอื่น รวม 10 ราย ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยพุ่งเป้าไปที่ประเด็นการทุจริตต่อหน้าที่ การบริหารราชการล้มเหลว และการขาดหลักนิติรัฐ-นิติธรรม โดยหวังจะให้เริ่มอภิปรายได้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 นี้
นายสมพงษ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับสื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่รัฐสภาว่า พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแก่ประธานสภาแล้ว โดยมี 6 พรรคร่วมลงชื่อ และอีก 2 พรรคจะร่วมอภิปราย
“วันนี้พรรคฝ่ายค้านร่วม 6 พรรค อันประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อชาติ แล้วก็พรรคพลังปวงชนไทย ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายคน ซึ่งได้มอบให้กับท่านประธานไปแล้ว อย่างไรก็ดี มีพรรคเข้ามาร่วมกับเราอีก 2 พรรค คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ แล้วก็พรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ขอยื่นต่อท่านประธาน… (ผู้ถูกอภิปราย) 10 คน (ฝ่ายค้าน) เรามี 208 คน ป่วยสักคนนึง ไม่สามารถที่จะมาเซ็นชื่อได้” นายสมพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายชวน ในฐานะผู้รับญัตติ ระบุว่า ควบคุมเสียงฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้หารือกันเป็นการภายใน กำหนดวันอภิปรายในเบื้องต้น ในช่วงวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ เป็นเบื้องต้น แต่น่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่่งเป็นสมัยประชุม
ในเรื่องนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ฝ่ายค้านไม่ควรโยงการจัดซื้อวัคซีนกับการเมือง
“วันนี้ การเจรจาการตกลงก็เป็นได้ด้วยดีไม่ใช่หรือ ถ้าเราประโคมข่าวไปเรื่อย ๆ ก็เกิดปัญหาความหวาดระแวง เขาก็ไม่อยากเข้ามาอยู่ในเรื่องการเมือง การเมืองก็ต้องระวัง การพูดจาบางอย่างให้เกิดผลกระทบ ซึ่งเราคาดว่า เราชี้แจงทำความเข้าใจกับเขาได้” พลเอกประยุทธ์ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว โดยระบุถึงการจัดซื้อวัคซีนจากสูตรของบริษัท แอสตราเซเนกา จากอังกฤษ และชิโนแวค จากจีน
ด้าน นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ฝ่ายค้านจะมีเสียง ส.ส. น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล แต่เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
“มีหลายประเด็น ทั้งเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ บริหารราชการที่ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลว เรื่องเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ขาดหลักนิติรัฐ นิติธรรม อยากให้ติดตามดู มีหมัดเด็ดแน่นอน หลักฐานค่อนข้างชัดเจน แม้เสียงในสภา อาจจะสู้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าพี่น้องประชาชนได้ฟัง ผมคิดว่าจะเรียกศรัทธาจากพี่น้องประชาชนได้ จากข้อมูลที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายในครั้งนี้” นายประเสริฐกล่าว
ทั้งนี้ รายชื่อ 10 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการบริหารงานล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ทุจริต โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในประเด็นทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล สร้างความร่ำรวยให้พวกตนเอง 3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นบริหารงานล้มเหลว ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ 4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นความผิดพลาดบกพร่อง ในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 5. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นบริหารงานล้มเหลว บกพร่อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 6. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นไม่ซื่อสัตย์ แสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง และขาดคุณธรรมจริยธรรม 7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในประเด็นปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมแรงงานข้ามชาติ จนเกิดผลกระทบเรื่องการระบาดของโควิด-19 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นขาดภาวะผู้นำ แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ปล่อยปละละเลย และทุจริต 9. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในประเด็นเห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาด และสมคบกันทุจริต และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นปกปิดความจริงในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงความไม่เหมาะสมในการตั้งภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง
สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ระหว่างที่มีการยื่นญัตติ ตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาไม่ได้ โดยเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จสิ้น จะมีการลงมติภายในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งหากรัฐมนตรีคนใดมี ส.ส. ออกเสียงไม่ไว้วางใจเกินครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ การเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจสามารถทำได้เพียงปีละ 1 ครั้ง โดยต้องใช้ ส.ส. ลงชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด
นักวิชาการชี้ ประยุทธ์-อนุทิน ควรถูกอภิปรายเรื่องโควิด-19 อย่างหนักหน่วง
นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประเด็นเรื่องการจัดการโควิด-19 เป็นประเด็นหลักสำคัญที่น่าหยิบยกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ โดยน่าจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน เป็นหลัก
“การระบาดระลอกสองในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้น่าจะเป็นประเด็นหลักที่ฝ่ายค้านอภิปราย 10 รายชื่อที่ปรากฏออกมา รัฐมนตรีที่ต้องรับหน้าเสื่อเต็ม ๆ คือ ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คาดว่า จะถูกอภิปรายถึงมากที่สุดอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่รองลงมาคาดว่าจะเป็น คุณอนุทิน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเจ้าภาพโดยตรงของปัญหาการจัดการโควิด-19 และหลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่า ข้อผิดพลาดหลายอย่างเกิดขึ้นจากกระทรวงสาธารณสุข” นายพิทธิกรณ์ กล่าวผ่านโทรศัพท์
“ประเด็นที่ญัตติไม่ได้ระบุตรงไปตรงมา คือการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก คาดว่า ฝ่ายค้านคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะแตะประเด็นนี้ ซึ่งทั้งสองประเด็นอาจถูกนำมาเชื่อมโยงกัน ในเรื่องการจัดการปัญหาต่าง ๆ ของรัฐบาล เพราะสิ่งที่ผู้ชุมนุมออกมาเรียกร้อง คือการบริการจัดการของรัฐบาลที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น แต่รัฐบาลคงพยายามยืนยันว่า ได้จัดการกับปัญหาต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องโควิด-19” นายพิทธิกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม และระบุว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะไม่มีผลกับรัฐบาลในระยะสั้น แต่เชื่อว่ากระทบความเชื่อมั่นในระยะยาวแน่นอน
เพนกวินนำชุมนุมหน้าสยามไบโอไซเอนซ์
ในวันเดียวกัน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน และ น.ส.เบนจา อะปัญ จากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรม ที่หน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระราม 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยได้ปราศรัยตั้งคำถามเกี่ยวกับการได้มาซึ่งความเป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นตัวแทนผลิต วัคซีนสูตรของบริษัท แอสตราเซเนกา ที่รัฐบาลไทยได้ตกลงทำสัญญารับซื้อวัคซีนโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชนไทย
“เรามาที่หน้าตึกนี้เหตุเพราะว่า ตึกนี้คือ รังของเครือข่ายทุนผูกขาดที่สร้างผลกระทบต่อคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้… ถามไปถึงรัฐมนตรีอนุทินด้วยที่เคยออกมาแถลงว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาทำวัคซีนตามกระบวนการปกติ ปกติคือการเอาบริษัทปูนไปเป็นนายหน้าล็อบบี้ให้กับสยามไบโอไซเอนซ์ ใช่หรือไม่ เพราะถ้าเป็นเอกชน เรียกว่า ฮั้วประมูล มีความผิดตามกฎหมาย” นายพริษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ให้ข้อมูลบนแฟนเพจโดยสรุปว่า ประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในปี 2564 โดยวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท จะถูกนำเข้าประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 นี้ ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ บุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุจะได้รับการฉีดก่อน 2 แสนโดส เดือนมีนาคมและเมษายน จะได้รับอีก 8 แสนโดส และ 1 ล้านโดส ตามลำดับ ขณะที่อีก 26 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลได้จองกับบริษัท แอสตราเซเนกา มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะมีการส่งมอบในเดือนพฤษภาคม และส่วนที่จัดหาเพิ่มเติมอีก 35 ล้านโดส ซึ่งยังไม่ระบุมูลค่าสัญญาซื้อขาย จะทยอยอนุมัติและส่งมอบต่อไป โดยหากเป็นไปตามข้อมูลนี้ จะทำให้รวมทั้งหมดไทยจะมีวัคซีน 63 ล้านโดส เพียงพอสำหรับประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคน ซึ่งต้องฉีด 2 โดส แต่ละโดสห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยรัฐบาลเปิดเผยภายหลังว่า บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด จะเป็นผู้นำนวัตกรรมของบริษัท แอสตราเซเนกา มาผลิตวัคซีนโดยจะมีกำลังผลิต 200 ล้านโดสต่อปี