ครม. มีมติ ให้ประวิตร มีอำนาจนายกฯ เต็มที่ ไม่ต้องปรึกษาประยุทธ์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2022.08.30
กรุงเทพฯ
ครม. มีมติ ให้ประวิตร มีอำนาจนายกฯ เต็มที่ ไม่ต้องปรึกษาประยุทธ์ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำสัปดาห์ หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งพักงาน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชั่วคราวเมื่อสัปดาห์ก่อน วันที่ 30 สิงหาคม 2565
รอยเตอร์

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติในวันอังคารนี้ให้อำนาจเต็มแก่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติราชการแทน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้สามารถโยกย้ายบุคลากร และอนุมัติงบประมาณ โดยไม่ต้องปรึกษา พลเอก ประยุทธ์ ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า พลเอก  ประวิตร มีอำนาจทุกเรื่อง แต่ไม่รวมถึงการยุบสภา

นายวิษณุ กล่าวกับสื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ว่า คำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีในปี 2563 กำหนดให้ ผู้รักษาราชการแทนต้องปรึกษานายกรัฐมนตรีในกรณีที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องบุคคล และงบประมาณ แต่มติในวันนี้มีการแก้ไขใหม่

“มีการออกคำสั่งตั้งแต่ปี 2563 ไว้แล้ว คนที่รักษาราชการแทนนายกฯ คุณสั่งอะไรได้หมดทุกอย่าง ยกเว้น ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือการบริหารงานบุคคล และในเรื่องงบประมาณ จะต้องปรึกษากับนายกรัฐมนตรีเสียก่อน วันนี้ก็ได้มีการเสนอปรับปรุงคำสั่งนั้น เพราะว่าเป็นไปไม่ได้ที่ พลเอก ประวิตร เมื่อท่านรักษาการแล้ว เวลาจะมีเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย หรือเรื่องงบประมาณ ท่านจะต้องไปปรึกษา พลเอก ประยุทธ์ซึ่งอยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติงาน ก็เลยต้องแก้คำสั่งในวันนี้ ตัดประโยคนี้ออกไปเพื่อให้มีอำนาจเต็ม มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 24 (สิงหาคม)” นายวิษณุ ระบุ

เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่า อำนาจดังกล่าวรวมถึง การสั่งยุบสภาด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่ใช่ ไม่เกี่ยว”

โดยในวันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม. ว่า มติในวันนี้มีการเรียงลำดับผู้รักษาราชการแทนนายรัฐมนตรีถัดจาก พลเอก ประวิตรด้วย โดยลำดับถัดมาคือ นายวิษณุ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, นายดอน ปรมัตถ์วินัย และนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ ตามลำดับ โดยถือว่า ครม. ชุดปัจจุบัน เป็น ครม. ปกติไม่ใช่ ครม. รักษาการ

“หากรองนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อไป เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี การจะสั่งการใดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล และการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีก่อน” นายอนุชา กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุม ครม. พลเอก ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางมาเข้าประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่เข้าประชุมในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านระบบวิดีโอ โดย พลเอก ประวิตรปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานการประชุมครั้งแรก นับตั้งแต่รับหน้าที่รักษาการ

ต่อการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน กล่าวกับสื่อมวลชนว่า “เราก็ต้องให้กำลังใจ (พลเอก ประยุทธ์) เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นรัฐบาลที่เกือบครบเทอมแล้ว ใครที่อยู่ในรัฐบาลเราก็อยากจะเห็นรัฐบาลครบเทอม การทำงานอะไรต่าง ๆ ก็มีความต่อเนื่อง หลังเลือกตั้งก็อีกเรื่องนึง เราก็ต้องช่วยกันทำให้การปฏิบัติงานของรัฐบาลชุดนี้มีความต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ ยังไม่ได้รับการประสานงานหรือติดต่อใด ๆ มา ว่าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี”

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พลเอก ประยุทธ์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เนื่องจากศาลได้รับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้านที่ให้วินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ ว่าครบ 8 ปีแล้วหรือไม่ เพราะ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 158 มิให้ดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ หนึ่ง นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 24 สิงหาคม 2565, สอง นับวาระตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บังคับใช้ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 6 เมษายน 2560 และสาม นับวาระตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เมื่อปี 2562 ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2570

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พลเอก ประยุทธ์ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ฝ่ายค้านยังคงเห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเชื่อว่า พลเอก ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งเกินที่กฎหมายกำหนดแล้ว เช่นเดียวกับภาคประชาชน ก็มีการชุมนุมเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ลาออก หรือยุบสภาเช่นกัน เนื่องจากเชื่อว่า ไม่มีความชอบธรรมจะอยู่ในตำแหน่งแล้ว

ด้าน นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า แม้จะยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นแผนยะยะยาวหาก พลเอก ประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่เริ่มมีสัญญาณบางอย่างถึงการพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายรัฐบาล

“คงพูดไม่ได้ขนาดนั้นว่ามีนัยทางการเมืองหรือไม่ เพราะเป็นแนวปฏิบัติที่ยังไงก็ต้องทำแบบนี้ แต่สัญญาณเริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่ารัฐบาลเองไม่ได้มีท่าทีเดือดเนื้อร้อนใจสักเท่าไหร่ในกรณีนี้ คือถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอาจเห็นคนข้าง ๆ พลเอก ประยุทธ์ ออกมาวิ่งเต้นหรือให้สัมภาษณ์อะไรบ้างแล้ว คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เป็นแผนระยะยาว หากประยุทธ์ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้”

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลในกรณีของ พลเอก ประยุทธ์เลยครับ แนวโน้มการยุบสภา กับการยื้อไปจนถึงการเลือกตั้งใหม่ มองจากตอนนี้ เปรียบเทียบกันแล้ว การยื้อโดยที่ยังมี พลเอก ประวิตรที่สามารถสั่งการได้ทุกอย่าง ก็อาจจะคุ้มค่ากว่าในทางการเมือง” นายปิยะพงษ์ ระบุ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง