ศาลยกฟ้อง แกนนำพันธมิตร คดีบุกสนามบินดอนเมือง ปี 51

อีกคดีหนึ่ง ศาลสั่งคุก 4 ปี อานนท์ นำภา โพสต์เฟซบุ๊กผิดมาตรา 112
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และนาวา สังข์ทอง
2024.01.17
กรุงเทพฯ
ศาลยกฟ้อง แกนนำพันธมิตร คดีบุกสนามบินดอนเมือง ปี 51 แกนนำแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เข้ารับฟังคำพิพากษาคดีบุกล้อมสนามบินดอนเมือง พร้อมกับอดีตผู้ร่วมชุมนุมที่เดินทางมาให้กำลังใจ วันที่ 17 มกราคม 2566
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง แนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 31 ราย คดีบุกล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง แต่สั่งปรับแกนนำบางคนฐานบุกรุกเป็นเงิน 2 หมื่นบาท ในวันเดียวกัน ศาลอาญาสั่งจำคุก นายอานนท์ นำภา เป็นเวลา 4 ปี จากคดีที่เกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ในฐานความผิดมาตรา 112

“พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1-5 จำเลย 7-13 และ จำเลยที่ 31 กระทำความผิดฐานบุกรุก และฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทหนักสุดคือความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ พิพากษาให้ลงโทษปรับ คนละ 20,000 บาท” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

โดยจำเลยต้องจ่ายค่าปรับประกอบด้วย จำเลยที่ 1 พล.ต. จำลอง ศรีเมือง 2 นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3 นายพิภพ ธงไชย 4 นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 5 นายสุริยะใส กตะศิลา 7 นายศิริชัย ไม้งาม 8 นายสำราญ รอดเพชร 9 นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 10 นายสาวิทย์ แก้วหวาน 11 นายสันธนะ ประยูรรัตน์ 12 นายชนะ ผาสุกสกุล 13 นายรัชต์ชยุตม์ หรืออมรเทพ ศิริโยธินภักดี และ 31 บริษัท เอเอสทีวี

“ส่วนข้อหาอื่นพยานและหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด” ศาล ระบุ

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก วันที่ 24 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2551 จำเลยร่วมกันโฆษณาชักชวนให้ประชาชนมาชุมนุมใหญ่ และปิดล้อมอาคารวีไอพี ท่าอากาศยานดอนเมือง และทำลายทรัพย์สินเสียหาย เป็นเงิน 6.27 แสนบาท เพื่อกดดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก

ปี 2553 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อหาต่อแกนนำ และผู้ร่วมชุมุนมพันธมิตร 98 ราย ในข้อหาความผิดฐานเป็นกบฎ, ก่อการร้ายฯ, บุกรุกฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่น กระทั่งอัยการมีคำสั่งส่งฟ้องคดีในปี 2556 อย่างไรก็ตาม กระบวนการมีการเลื่อนมาเรื่อยๆ กระทั่งมีการนัดฟังคำพิพากษา จำเลยชุดแรก 31 รายในวันที่ 17 มกราคม 2567 นี้ ส่วนอีก 67 ราย นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 มีนาคม 2567

หลังทราบคำพิพากษา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า พันธมิตรฯ เคารพคำตัดสินของศาล และผลคำตัดสินเป็นเครื่องยืนยันว่าพันธมิตรฯ ชุมนุมโดยสงบ

“การต่อสู้ของเราใช้เวลาปีนี้ปีที่ 16 เราอยากเรียกร้องให้ทุกคนเคารพกระบวนการยุติธรรม ศาลท่านยืนยันว่า การชุมนุมของพันธมิตร เป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่มีความรุนแรง ไม่มีอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกาย เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีหลักฐานที่วางแผนเพื่อก่อความรุนแรง เพียงแค่ปราศรัยไม่เป็นเหตุแห่งการกระทำผิด” นายปานเทพ กล่าว

ด้าน น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก หนึ่งในจำเลยที่ได้รับการยกฟ้องระบุว่า คำพิพากษานี้เป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีการต่ออีกในชั้นอุทธรณ์และฏีกา

ที่ศาลอาญา มีผู้สนับสนุน และอดีตผู้ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรหลายสิบคนเดินทางมาให้กำลังใจ อดีตแกนนำและจำเลยในคดี ท่ามกลางสื่อมวลชนจำนวนมากที่มารอรายงานข่าว

คดีชุมนุมพันธมิตร

ในปี 2548 ไทยได้ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นไม่เกิน 50% ในบริษัทโทรคมนาคมไทย ต่อมาครอบครัวชินวัตรได้ขายหุ้นของ บริษัท ชินคอร์ป เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เอไอเอส 49.59% ให้แก่บริษัท เทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ทำให้สังคมวิจารณ์ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่างหนักว่า บริหารราชการแผ่นดินเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจครอบครัว

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งนำโดยนายสนธิ และ พล.ต. จำลอง ชุมนุมเรียกร้องให้นายทักษิณ ลาออกจากตำแหน่ง กระทั่ง 20 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ได้รัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ทำให้นายทักษิณตัดสินใจลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ และต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคไทยรักไทยซึ่งนายทักษิณเป็นผู้ก่อตั้ง

ในการเลือกตั้งปลายปี 2550 พรรคพลังประชาชน ที่ตั้งขึ้นมาแทนไทยรักไทยสามารถชนะเลือกตั้ง ทำให้นายสมัคร สุนทรเวช ต่อด้วย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องเขยของนายทักษิณ ถูกเสนอชื่อเป็นเป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ จึงกลับมาชุมนุมอีกครั้งในปี 2551

ในปี 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้ายึดสถานที่ราชการ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ทำให้มีการยกเลิกเที่ยวบิน และมีนักท่องเที่ยวตกค้างจำนวนมาก กระทั่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน และให้นายสมชายพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ในปลายปี 2551 การชุมนุมจึงยุติ ตลอดการชุมนุมปี 2551 มีผู้บาดเจ็บจากการชุมนุม 737 ราย และ เสียชีวิต 8 ราย

ปี 2560 ศาลแพ่งสั่งให้แกนนำพันธมิตร 13 คน ชดใช้ค่าเสียหายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัดเป็นเงินกว่า 522 ล้านบาท จากคดีการบุกยึดท่าอากาศยาน 2 แห่ง ในปี 2562-2564 ศาลฎีกาสั่งจำคุกอดีตแกนนำพันธมิตรรวม 9 คน เป็นเวลา 8 เดือน จากคดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาล ซึ่งภายหลังจำเลยทั้งหมดได้รับพระราชทานอภัยโทษ

สำหรับประเด็นดังกล่าว ผศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เห็นว่า หากพิจารณาคดีดังกล่าวกับคดีทางการเมืองของกลุ่มอื่น ๆ จะพบว่ามีความต่างกันพอสมควร และทำให้เห็นว่านี่อาจเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดการประณีประนอมทางการเมือง เพราะกลุ่มอำนาจเก่ากลัวกระแสการเปลี่ยนแปลงจากพรรคก้าวไกล จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันโดยใช้พรรคเพื่อไทย และคุณทักษิณ ชินวัตร มาเป็นพันธมิตร

“ฉะนั้นเพื่อทำให้คนกลุ่มนี้ (พันธมิตร) เสียงเบาบางลง ก็ต้องให้คนกลุ่มนี้ไม่โดนคดีความที่จะเป็นชนักติดหลัง ทำให้ทุกคนสมประโยชน์กันหมด เพราะมีศัตรูร่วมกันคือ พรรคก้าวไกล ศัตรูของศัตรูคือมิตร” ผศ.ดร. โอฬาร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

240117-th-politic-activists-arnon.jpg

นายอานนท์ นำภา ระหว่างเดินทางจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อมาฟังคำพิพากษา ณ ศาลอาญา วันที่ 17 มกราคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)

ศาลสั่งคุก 4 ปี อานนท์ โพสต์เฟซบุ๊กผิด ม. 112

ในวันเดียวกัน ศาลอาญาพิพากษาจำคุก นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักกิจกรรมทางการเมือง เป็นเวลา 4 ปี จากคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายอานนท์ เป็นจำเลย เกี่ยวกับการเขียนข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว 3 ข้อความ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ที่เชื่อว่าเข้าข่ายผิดมาตรา 112 หมิ่นสถาบันกษัตริย์

“พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยมีพฤติการณ์ดูหมิ่นทำให้สถาบันเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม.14 (1) อนุมาตรา 3 เป็นความผิดกรรมเดียว ต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษมาตรา 112 เป็นบทที่หนักที่สุด พิพากษาจำคุก 4 ปี พร้อมกับให้นับโทษต่อจากคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

ในวันพุธนี้ นายอานนท์ ถูกพาตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาฟังคำพิพากษาที่ศาล ท่ามกลางการสังเกตการณ์ของผู้สนับสนุน และสื่อมวลชนในห้องพิจารณาคดี

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 26 กันยายน 2566 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุก นายอานนท์ เป็นเวลา 4 ปี จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 เพราะศาลเห็นว่าคำปราศรัยขัดมาตรา 112 ทำให้ปัจจุบัน นายอานนท์ถูกจำคุกมาแล้วเป็นเวลาร่วม 4 เดือน และยังเหลือโทษจำคุกจาก 2 คดี ร่วม 8 ปี

นายอานนท์ เป็นส่วนหนึ่งของการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฎาคม 2563 กระแสการชุมนุมดังกล่าว ทำให้เกิดการชุมนุมขึ้นหลายร้อยครั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดต่อเนื่องยาวนานร่วม 3 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,938 คน จาก 1,264 คดี ในนั้นเป็นคดีอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 262 คน ใน 287 คดี

จรณ์ ปรีชาวงศ์ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง