ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงคะแนน 15-16 ก.พ. นี้

รัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชน เรื่องธุรกิจสีเทา และการทุจริตคอร์รัปชัน
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.02.13
กรุงเทพฯ
ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงคะแนน 15-16 ก.พ. นี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หาเสียงในฐานะผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ที่กรุงเทพฯ วันที่ 9 มกราคม 2566
รอยเตอร์

พรรคเพื่อไทย และก้าวไกล เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า มีการเตรียมพร้อมสำหรับการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงคะแนนเสียงต่อ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีความล้มเหลวในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้มีธุรกิจสีเทากว้างขวาง รวมทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน โดยจะมีการอภิปรายในวันพุธและพฤหัสบดีนี้

การอภิปรายครั้งนี้จะมีขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งเกือบสามเดือน ซึ่งเป็นการใช้จังหวะในการเปิดเผยข้อบกพร่องของอีกฝ่าย ซึ่ง นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากพรรครัฐบาลไม่ร่วมการอภิปรายจนทำให้สภาไม่สามารถอภิปรายได้ก่อนหมดสมัยประชุม 28 กุมภาพันธ์นี้ ฝ่ายค้านจะดำเนินการอภิปรายนอกสภาทันที

“รัฐบาลต้องตอบคำถามให้กับพี่น้องประชาชนในหลายเรื่องที่ไม่มีความชัดเจน เช่น กรณีธุรกิจสีเทา ภัยด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี การทุจริตคอร์รัปชัน จะถูกหยิบยกขึ้นมา ทั้งนี้ขอตั้งชื่อการอภิปรายครั้งนี้ว่า ยุทธการกระชากหน้ากากคนดี มาจากที่สื่อมวลชนตั้งชื่อรัฐบาลหน้ากากคนดี เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้ว่า หน้ากากคนดีที่แท้จริงเป็นอย่างไร” นพ. ชลน่าน กล่าวในการแถลงข่าวในวันนี้

ทั้งนี้ การดำเนินการอภิปรายทั่วไปอาศัยอำนาจของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ซึ่งฝ่ายค้านจะใช้เวลาอภิปราย 24 ชั่วโมง และฝ่ายรัฐบาลจะใช้เวลาชี้แจงการอภิปราย 6 ชั่วโมง มี ส.ส. ฝ่ายค้าน อภิปราย 35 คน การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายในสมัยอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ซึ่งครบ 4 ปี

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มีแนวคิดในฝ่ายรัฐบาลจะไม่ร่วมประชุมสภา เพื่อไม่ให้มีการอภิปรายทั่วไปในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้จริง

“การไม่เข้าร่วมองค์ประชุม ความจริงก็มีแนวคิดนี้จริง ได้มาประสานงานกับผม ผมก็ได้ยืนยันไปแล้วว่าการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 นั้นเป็นข้อเสนอแนะของฝ่ายค้านที่จะสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ แต่การที่ฝ่ายบริหารหรือพรรคใดพรรคหนึ่งจะไม่ร่วมให้ครบองค์ประชุม คิดว่าจะมีผลเสียหาย 1. ถือว่าเป็นการหนีการตรวจสอบของฝ่ายค้าน 2. เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายรัฐบาลต้องทำให้องค์ประชุมครบ 3. ถ้าฝ่ายค้านเห็นว่าการไม่ครบองค์ประชุมจากฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านอาจหาสาเหตุอภิปรายนอกสภา ผมคิดว่าฝ่ายรัฐบาลยิ่งเสียหาย” นายชินวรณ์ กล่าว

ต่อการที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล อาจไม่ยอมเข้าร่วมการอภิปราย นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุว่า หากฝ่ายรัฐบาลพยายามทำให้การอภิปรายดำเนินการได้ไม่สำเร็จ ฝ่ายค้านก็พร้อมอภิปรายนอกสภา

“การล้มองค์ประชุม หากเกิดขึ้น จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่รัฐบาลนี้ได้ข้อหาหนีการตรวจสอบ ปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน เบื้องต้น ถ้าสภาล่มในสัปดาห์นี้ จะมีนัดในสัปดาห์ถัดไป แต่ถ้าปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พรรคฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายนอกสภาทันที” นายสุทิน กล่าว

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ระบุว่า พรรคฯ เตรียมผู้อภิปราย 10 คน โดยจะอภิปรายในชื่อ “เช็กบิลปรสิต ปิดสวิตช์ 3ป.” มีเนื้อหาระบุถึง ความล้มเหลวและการทุจริตในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะในวงการตำรวจ ทหาร พลังงาน คมนาคม โดยเชื่อว่า การอภิปรายจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ในช่วง 4 ปีของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมาประเด็นสิทธิเสรีภาพเป็นประเด็นสำคัญ และอยากเห็นพรรคการเมืองต่าง ๆ ประกาศจุดยืนเรื่องนี้ก่อนหมดสมัยประชุม หรือมีการเลือกตั้งใหม่

“ปัจจุบัน ใกล้จะมีการประกาศวันเลือกตั้งแล้ว เราอยากจะเห็นการประกาศต่อสาธารณะของพรรคการเมืองต่าง ๆ ถึงคำมั่นสัญญาเรื่องสิทธิมนุษยชนที่พรรคนั้น ๆ จะทำ หากได้เป็นรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เห็น การเลือกตั้งจะมีผลเปลี่ยนแปลงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง” นายสุณัยกล่าว

“ตราบเท่าที่ขั้วเดิมปัจจุบันสืบอำนาจต่อไปได้ การปฏิบัติกับเยาวชนหรือผู้ชุมนุมก็คงไม่เปลี่ยน ถ้าพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันซึ่งที่มีท่าทีเปิดกว้างด้านสิทธิมนุษยชนกว่าได้เป็นรัฐบาล ก็น่าจะช่วยเยาวชนที่ถูกรัฐกระทำได้ สถานการณ์การแสดงออกก็น่าจะดีขึ้น” นายสุณัย กล่าวเพิ่มเติม

การอภิปรายที่จะมีขึ้นในวันพุธนี้ เป็นการอภิปรายทั่วไป ซึ่งใช้อำนาจของ ม.152 ของรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส. หนึ่งในสิบของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าชื่อร่วมกันเพื่อเสนออภิปรายได้ โดยจะเป็นการอภิปราย แบบไม่มีการลงคะแนนเสียง เพื่อให้ฝ่ายค้านซักถามข้อเท็จจริง และเสนอแนะเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ซึ่งแตกต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่จะเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้ง และมีการลงคะแนนของ ส.ส. ว่าจะสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนดังกล่าว ดำรงตำแหน่งต่อไปได้หรือไม่ โดยรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2565 และ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถได้รับคะแนนไว้วางใจ 256 ต่อไม่ไว้วางใจ 206 คะแนน ในการอภิปรายครั้งนั้น

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง