เพื่อไทย-ภูมิใจไทย แถลงจับมือตั้งรัฐบาล
2023.08.07
กรุงเทพ
ในวันจันทร์นี้ พรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย ประกาศจับมือร่วมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วม หลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เจอหนทางตันจนไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงข่าว ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยในตอนบ่านวันนี้ ยืนยันว่า เพื่อไทยและภูมิใจไทย ซึ่งมี สส. 212 เสียง แบ่งเป็นเพื่อไทย 141 เสียง ขณะที่ภูมิใจไทย 71 เสียง จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน และจะหารวมเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จ
“พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่เรายังคงต้องการเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ... 212 เสียง ของเพื่อไทยและภูมิใจไทย ถือว่าเป็นเสียงค่อนข้างมากถ้าเรารวมกันแบบนี้” นพ. ชลน่าน กล่าว
“การจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีข้อจำกัด เพราะมีการเลือกรัฐมนตรีในรัฐสภา ที่ต้องอาศัยเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาร่วมโหวตด้วย อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เราไม่สามารถจัดรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกลได้” นพ. ชลน่าน กล่าว
ขณะที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า ภูมิใจไทยมีเงื่อนไข 3 ข้อในการร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย ซึ่งเพื่อไทยยอมรับและมั่นใจว่าการประกาศครั้งนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับ สส. พรรคอื่น และ สว. ร่วมสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้
“เงื่อนไข 1. ไม่แตะต้อง ม.112 ทั้งเรื่องของการแก้ไข หรือการแตะต้องอะไรก็แล้วแต่ 2. ต้องไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย 3. หากรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ พรรคภูมิใจไทย ไม่มีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล” นายอนุทิน กล่าว
ในแถลงการณ์ร่วมของเพื่อไทย และภูมิใจไทย ระบุว่า รัฐบาลที่เกิดขึ้นจะเร่งดำเนินการวาระโดยสรุปดังนี้ 1. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและประชาธิปไตย 2. เร่งแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี และจัดให้มีการทำประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ 4. จัดตั้งรัฐบาลโปร่งใส และ 5. เปิดกว้างให้ สส. และ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้
นพ. ชลน่าน ระบุว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะมีขั้นตอน คือ 1. ประชุม ครม. พิจารณาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2. ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ 3. เลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และ 4. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเชื่อว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ในการแถลงข่าว ยังไม่ได้ระบุว่า รัฐบาลซึ่งนำโดย 2 พรรค จะมีพรรคใดร่วมด้วย จะมีการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างไร และมีเสียงสนับสนุนจาก สว. มากน้อยแค่ไหน แต่ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้เคยประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส. พรรคก้าวไกล กล่าวกับแสตนดาร์ดว่า พรรคเพื่อไทยคงมีปัญหาภายในพรรคที่ทำให้ต้องรีบตัดสินใจประกาศการร่วมมือกับเพื่อไทย เช่น เหตุผลภายในพรรคที่ทางก้าวไกลไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงได้ แต่มีความเข้าใจต่อพรรคเพื่อไทย
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ชี้ว่า การร่วมรัฐบาลระหว่างเพื่อไทยและภูมิใจไทย จะทำให้เพื่อไทยเสียคะแนนนิยมในช่วงแรก แต่หากแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำเร็จอาจทำให้พอได้คะแนนเสียงกลับมา
“เพื่อไทยมองยาวว่าเขาจะนำความสำเร็จในอดีตมาปรับใช้ เพราะการเป็นแกนนำรัฐบาลครั้งนี้ อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะทำให้เพื่อไทยจะเรียกคะแนนนิยมคืนมาได้ แต่เขาอาจจะถูกโจมตีจากอาจความเห็นของประชาชน เชื่อว่าอาจจะเกิดการต่อต้าน มีม็อบ แต่เขาอยู่ได้ในทางการเมือง ได้พาทักษิณ ชินวัตรกลับบ้านและสร้างคะแนนนิยมสำเร็จ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
ความวุ่นวายในการร่วมตั้งรัฐบาล
หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกลและเพื่อไทย จับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค สัญญาว่าจัดตั้งรัฐบาลโดยมี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน และเสนอชื่อนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
ต่อมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค กระทั่งในวันพุธที่แล้ว เพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย และยกเลิกข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันกับ 8 พรรค
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน