ศาลออกหมายจับยิ่งลักษณ์คดีฮั้วโรดโชว์

ป.ป.ช. ชี้มูลยิ่งลักษณ์ฮั้วโครงการกับมติชนและสยามสปอร์ต
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2022.04.19
กรุงเทพฯ
ศาลออกหมายจับยิ่งลักษณ์คดีฮั้วโรดโชว์ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดกับสื่อเมื่อเดินทางมาถึงศาลฎีกา กรุงเทพฯ ในการพิจารณาคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้ออกหมายจับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังจากประทับรับฟ้องคดีที่นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาว่าได้อนุมัติโครงการจัดโรดโชว์โดยเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ 9 ปีที่แล้ว

ในคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ฟ้องร้องนางสาวยิ่งลักษณ์ และจำเลยอื่น ๆ รวม 6 ราย เพราะนางสาวยิ่งลักษณ์ และพวก “ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตโดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง ‘โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020’ อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชน” เหตุเกิดในปี พ.ศ. 2556

โครงการดังกล่าวมีมูลค่า 240 ล้านบาทนี้ มีการอนุมัติให้กลุ่มเอกชน โดยมีผู้มีอำนาจ คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยที่ 1, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยที่ 2 และ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตกเป็นจำเลยที่ 3

ส่วนฝ่ายเอกชนที่ตกเป็นจำเลยเพราะได้รับการเอื้อประโยชน์ คือ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 4, บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 5, นายระวิ โหลทอง กรรมการบริษัท สยามสปอร์ตฯ จำเลยที่ 6

“ศาลประทับรับฟ้องในข้อหาอื่น นอกจากข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 จำเลยที่ 1 ตั้งทนายความเข้ามาสู้คดี แต่จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือร้องขอเลื่อนคดี จึงให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง และ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 33 วรรคสาม” เอกสารเผยแพร่จากศาล ระบุ

ศาลระบุว่า โจทก์ได้กล่าวหาจำเลยว่าได้กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542, ต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542

ในขณะที่จำเลย 5 รายมาศาลตามนัดพิจารณาคดี แต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่มาศาล มีเพียงเอกสารแต่งตั้ง นายนพดล หลาวทอง เป็นทนายความเท่านั้น จึงออกหมายจับนางสาวยิ่งลักษณ์ และให้ ป.ป.ช. ดำเนินการติดตามตัวมาให้รับฟังคดีภายใน 3 เดือน

ทั้งนี้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้หลบหนีออกนอกประเทศ ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินคดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 และต่อมาในเดือนกันยายน ศาลฯ ตัดสินจำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยให้เหตุผลว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ รับรู้การทุจริตในการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) แต่ไม่ดำเนินการยับยั้ง จึงถือเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ

ล่าสุด เมื่อเดือนกุมพันธ์ 2565 นี้ อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ในคดีย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงคนก่อน คือ นายถวิล เปลี่ยนศรี โดยมิชอบ (ม.157) เหตุเกิดในปี พ.ศ. 2554  นอกจากนั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ โดน ป.ป.ช. สอบสวนในข้อกล่าวหาอื่น ๆ อีก อย่างน้อย 13 กรณี ตามรายงานของสื่อท้องถิ่น

สำหรับจำเลยในคดีฮั้วการประมูลโครงการโรดโชว์อีก 5 รายนั้น ในวันนี้ ศาลฯ อ่านอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้า (รวมทั้งตัวแทนของนาวสาวยิ่งลักษณ์) ได้ฟัง โดยจำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอทำหนังสือขยายระยะเวลาคำให้การ โดยศาลอนุญาต และนัดตรวจพยานหลักฐานโจทก์และจำเลย ในวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2565 เวลา 9.30 น.

อย่างไรก็ตาม ศาลฯ อนุญาตให้นายระวิ โหลทอง ไม่ต้องเดินทางมาฟังการพิจารณาและตรวจพยานเนื่องจากมีอายุ 80 ปี และมีโรคประจำตัว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง