อภิปรายไม่ไว้วางใจ : ฝ่ายค้านชี้รัฐแก้ปัญหาโควิด-19 ล่าช้า-ใช้งบกลาโหมไม่โปร่งใส
2021.02.19
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ครั้งที่ 2 ของรัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พรรคฝ่ายค้านชี้ว่า การบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการจัดหาวัคซีนมีความล่าช้า รวมถึงการใช้งบกลาโหมไม่โปร่งใส และแม้รัฐบาลจะพยายามชี้แจง แต่นักวิชาการมองว่า เป็นการตอบไม่ตรงคำถาม และใช้การประท้วงขัดจังหวะบ่อยเกินไป อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า รัฐมนตรีทุกคนจะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร
การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 10 คน ประกอบด้วย 1. พล.อ.ประยุทธ์ 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย 4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงสาธารณสุข 5. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.กระทรวงพาณิชย์ 6. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมว.กระทรวงมหาดไทย 7. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.กระทรวงแรงงาน 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ 9. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเริ่มต้นขึ้นในวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 เสร็จสิ้นในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 และจะมีการลงมติ ในวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ในวันพุธชี้ว่า รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
“พลเอกประยุทธ์ และนายอนุทิน รู้อยู่แก่ใจว่า ฉีดวัคซีนช้าไปหนึ่งเดือน ประชาชนเสียหาย 2.5 แสนล้านบาท ทุก ๆ วันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งหายใจรดทิ้งไปวัน ๆ ประเทศชาติเสียหาย เป็นมูลค่า 8.3 พันล้านบาท ถ้าคิดเป็นชั่วโมง 347 ล้านบาท จนถึงวันนี้ฉีดวัคซีนล่าช้าไปกี่วัน กี่ชั่วโมงแล้ว และยังจะช้าไปถึงเมื่อไหร่” นายวิโรจน์ กล่าว
นายวิโรจน์ ระบุว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวปี 2563 ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท โดยศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทย ประเมินว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว 1.1-1.5 แสนล้านบาท ทำให้โรงแรม 3700 แห่ง เตรียมจะปิดกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินว่า จะมีแรงงาน 4.7 ล้านคนตกงาน ผลกระทบของความล่าช้าในการแก้ปัญหา ทำให้หนี้ครัวเรือน ปี 2563 มีมูลค่า 4.8 แสนบาทต่อครอบครัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 1.4 แสนบาทต่อครอบครัว และธนาคารโลก ประเมินว่า ประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน และอาจมีเด็กกลุ่มยากจนพิเศษเกือบ 1 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากผู้ปกครองตกงาน
ขณะที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันอังคาร ระบุว่า กระทรวงกลาโหมมีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน จึงสมควรที่จะไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์
“เฉพาะปี 2563 ที่ผ่านมาเพียงปีเดียว เอาที่ปรากฎเป็นข่าวมีพลทหารเสียชีวิตในค่ายทหารถึง 6 คน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในค่ายทหาร มีการสอบสวนนำไปสู่การลงโทษเฉพาะบุคคล แต่ไม่เคยมีนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาต้องมารับผิดชอบที่สูญเสียใจ มีแต่กองทัพไปเคลียร์กับญาติ ไม่ให้ติดใจเอาความ” นายพิจารณ์ กล่าว
นายพิจารณ์ ชี้ว่า รัฐมนตรีกลาโหมพยายามเร่งรัดการลงนามซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน แม้ในสถานการณ์โควิด-19 โดยใช้หลักฐานเป็นจดหมายที่ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร.) ส่งจดหมายไปหาทางการจีน เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563
“หากเราจำกันได้เรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ตั้งงบประมาณในปี 2563 แต่ไม่ได้เริ่มโครงการ โอนเงินไปช่วยโควิด คนที่เขาอยากได้เขาก็เต้น ยังไม่มีการผูกมัดงบประมาณใด ๆ 2 ปีนี่งบประมาณพับไปเลยนะ รัฐมนตรีกลาโหมจำเป็นต้องชงเรื่องนี้เข้า ครม. ใหม่นะครับ ถ้าอยากจัดซื้อในปี 65 ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะออกจดหมายไปให้มีการลงนาม ก่อนวันที่ 30 กันยายน… การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน” นายพิจารณ์ ระบุ
ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร อาจมีส่วนรู้เห็นกับการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ
“มีตั๋วในวงการตำรวจ ตั๋วที่มีแล้วจะได้ทุกอย่าง ตั๋วที่มีแล้ว อาจจะซื้อตำแหน่งได้ในราคาที่ถูกลงกว่าครึ่ง… หนังสือที่เขียนขึ้นโดยบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ เขียนให้แต่งตั้งนายตำรวจนอกหน่วยตัวเอง… มันคือสิ่งที่เรียกว่าตั๋วใช่ไหม” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ใช้หนังสือที่อ้างว่า เขียนโดย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ฝากให้ตำรวจบางคนเข้ารับตำแหน่งในบางหน่วยงาน โดยชี้ว่า การฝากตำรวจเข้าทำงานในหน่วยงานที่ตนไม่รับผิดชอบ อาจเป็นการใช้อำนาจแทรกแซง และยังใช้ข้อมูลจากอดีตนายตำรวจที่เคยระบุผ่านสื่อ และโซเชียลมีเดียว่า วงการตำรวจมีการซื้อตำแหน่งเป็นหลักฐาน
นอกจากนี้ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังมีหลายประเด็นที่พรรคร่วมฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีรัฐบาล เช่น การเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ การใช้อำนาจเพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษ การใช้ทรัพยากรของรัฐโจมตีประชาชนบนอินเทอร์เน็ต การใช้อำนาจรัฐมนตรีตั้งคนใกล้ชิดเข้าทำงานในตำแหน่งของรัฐ หรือการไม่รักษาคำพูดเรื่องการปฏิรูปกองทัพ ปล่อยให้มีการทุจริตโกงกินในกองทัพ แม้ว่าการกราดยิงโคราชผ่านมา 1 ปี แล้ว และยังมีทหารชั้นผู้น้อยเสียชีวิตในค่ายทหารไม่น้อยกว่า 6 ราย ตามสื่อรายงาน
นายกฯ ยืนยันรัฐบาลทำงานเต็มที่และโปร่งใส
พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันพุธ ชี้ว่า รัฐบาลได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และเตือนให้พรรคฝ่ายค้านหยุดพูดถึงประเด็นวัคซีนโควิด-19
“การบริหารจัดการเรื่องเศรษฐกิจและโควิดเนี่ยเรารู้นะครับถึงความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งภาคเอกชน ธุรกิจ คนมีรายได้น้อย… ผมกังวลว่า การพูดเรื่องวัคซีนมากๆ มันจะทำให้เกิดปัญหาในการที่เขาจะส่งมาหรือเขาไม่ส่งมา รัฐบาลไม่เคยชักช้า ไม่ใช่สั่งปุ๊บวันนี้ มันไม่ได้ การเจรจาการพูดคุย การลงนามสัญญาต่างๆ มันก็ต้องทยอยมา เราได้เริ่มตั้งแต่แรก ๆ แล้ว ไม่เคยนิ่งนอนใจ เราต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
นายอนุทิน ชี้ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564 ไทยจะนำเข้าวัคซีน 2 ล้านโดส จากบริษัท ซิโนแวค ประเทศจีน มูลค่า 1,228 ล้านบาท และอีก 26 ล้านโดส จากบริษัท แอสตราเซเนกา ประเทศอังกฤษ/สวีเดน มูลค่า 6,049 ล้านบาท จะถูกนำมาผลิตและฉีดได้ไม่เกินเดือนมิถุนายน 2564 ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็กำลังทดลองวัคซีนที่ผลิตเองภายในประเทศกับคน ซึ่งคาดว่าจะขึ้นทะเบียนและใช้จริงได้ภายในปี 2565
ขณะที่ ประเด็นปัญหาในกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ว่า “หลายเรื่องที่กล่าวมามันอยู่ที่กองทัพดำเนินการ ซึ่งผมได้ย้ำเสมอเรื่องของการป้องกันการกระทำทุจริต เพราะฉะนั้นก็คงต้องไปตรวจสอบดูก่อน… ผมยืนยันว่า ผมไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้… การจัดซื้ออาวุธ ไม่ว่าจะเรือดำน้ำ เป็นการจัดซื้อของกลาโหมเอง รัฐบาลก็ดูแลผู้มีรายได้น้อยอยู่แล้ว เพราะเป็นการจัดซื้อจัดหาจากรัฐบาลจีน”
ด้าน กรณีการซื้อขายตำแหน่งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นไปตามระเบียบปกติ และใช้ลำดับความอาวุโสเป็นสำคัญ
“การแต่งตั้งที่ผ่านมาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ตำรวจ 2547 และกฎ ก.ตร.ที่ให้ไว้ทุกประการ… ผมสั่งเองไม่ได้ทั้งหมดแต่เป็นหน้าที่ของกรรมการ ไม่ใช่ว่าผมนั่งหัวโต๊ะจะสั่งเองได้… สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบุคคลภายนอก รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมดต้องออกมาด้วยความเห็นชอบ เมื่อเสนอขึ้นมามีการตรวจสอบคัดกรองอย่างดี” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ในวันพฤหัสบดีนี้ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กก.3 บก.ปอท. ให้เอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์โจมตี และล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันอังคาร ซึ่งเป็นประเด็นสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นักวิชาการชี้ รัฐเลี่ยงตอบคำถาม และประท้วงมากไป แต่เชื่อว่า สภาจะลงมติไว้วางใจ
นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี นักวิจัยปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ไม่น่าจะมีผลกับรัฐบาลในระยะสั้น และเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นเนื่องจากพรรคฝ่ายรัฐบาลยังครองเสียงข้างมาก
“ปัจจุบัน ต่อให้ฝ่ายค้านมีหลักฐานที่ชัดเจน หรือรัฐบาลมีข้อบ่งชี้ว่ามีความผิด แต่สภาก็จะยังลงมติไว้วางใจต่อ เพราะการโหวตนี้เป็นเพียงพิธีกรรม เนื้อหาการอภิปรายต่างหากที่สำคัญ และประชาชนจะได้รับรู้และตัดสินใจในอนาคต แต่น่าเสียดายที่ถูกกินเวลาจากการประท้วงไปค่อนข้างมาก รัฐมนตรีเลี่ยงตอบคำถาม ยังไม่นับรวมถึงการฟ้องร้อง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่พูดพาดถึงสถาบันฯ ที่ทำให้สภากลายเป็นพื้นที่ของของความกลัว” นายพิทธิกรณ์ กล่าว
“การถูกแทรกแซงด้วยการประท้วง ฟุ่มเฟือย และสิ้นเปลืองเวลามาก เห็นชัดว่ารัฐบาลพยายามจะสร้างภาพให้ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองในระบบ นี่เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะจะทำให้ประชาชนเห็นว่า การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในรัฐสภา ซึ่งอาจเป็นการเอื้อให้อำนาจนอกระบบถูกนำมาใช้อีกได้ ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหาร หรือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม รัฐสภาควรพูดคุยกันอย่างจริงจังได้แล้วว่า พรรคแต่ละพรรค ควรจะมีโควตาในการประท้วงเท่าไหร่ ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นการใช้เวลาไปอย่างสิ้นเปลือง” นายพิทธิกรณ์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะเดียวกันในวันศุกร์นี้ กลุ่มราษฎรได้จัดชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา โดยใช้กิจกรรมชื่อ “ม็อบเฟส #2” มีการปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล และพาดพิงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ขณะที่กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ก็นัดรวมตัวประชาชนที่หน้ารัฐสภาเช่นกัน โดยจะจัดในวันเสาร์นี้ ซึ่งเป็นวันที่ ส.ส. จะต้องลงมติว่าจะไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหรือไม่
สำหรับ การอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สองในรอบ 7 ปี ของรัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในครั้งนั้นมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ 5 รัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ราย ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง และ งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 323 เสียง
ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานจำนวนสภาผู้แทนราษฎร ในรอบนี้มีจำนวน 487 คน โดยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล 279 คน และพรรคร่วมฝ่ายค้านมี 208 คน โดยประมาณ ซึ่งรัฐบาลยังคงมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งในสภาฯ