สภาล่ม พ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส. ต้องกลับมาใช้สูตรหาร 100

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2022.08.15
กรุงเทพฯ
สภาล่ม พ.ร.บ. เลือกตั้ง ส.ส. ต้องกลับมาใช้สูตรหาร 100 ผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวครั้งใหญ่ ชูสัญลักษณ์สามนิ้วเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการปฏิรูปประชาธิปไตย ขณะเดินผ่านพระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563
เอพี

ในวันจันทร์นี้ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ผ่านการลงคะแนนโดยรัฐสภา เพราะองค์ประชุมไม่ครบ และเลยระยะเวลาที่ต้องผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา ส่งผลให้การเลือกตั้งในปีหน้านั้นต้องใช้สูตรคำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะทำให้พรรคเล็กมีโอกาสได้ที่นั่งน้อยลง แตกต่างไปจากการเลือกตั้งคราวก่อนนั้น

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งคราวหน้า นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าพรรคใหญ่ ๆ เช่น พรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคเพื่อไทย อาจจะสามารถกวาดที่นั่งได้เป็นจำนวนมาก

ในเช้าวันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เริ่มการประชุมร่วมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลังจากเห็นว่าองค์ประชุมใกล้ครบ คือ มี ส.ว. อย่างน้อย 165 คน และ ส.ส. 200 คน จากจำนวนเต็ม 750 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อจะลงมติกลับมีองค์ประชุมไม่ครบ จึงได้ขอปิดการประชุม ทำให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่…) พ.ศ. … ในวาระที่สอง มีอันตกไป เพราะไม่สามารถผ่านการพิจารณาได้ทันกำหนดเวลา 180 วัน หลังจากกฎหมายถูกเสนอเข้าสภา

สาระของการแก้ไข พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่ตกไปมีอยู่ว่า ให้แก้สูตรคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เป็นจำนวนคะแนนเสียงเลือกตั้งในส่วนของบัญชีรายชื่อทั้งหมดในประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วนำมาหารด้วย 500 จึงจะได้จำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน จากเดิมที่หารด้วย 100 ซึ่งมีนักวิเคราะห์กล่าวว่าจะทำให้พรรคเล็กมีแนวโน้มได้คะแนนมากขึ้น ช่วยให้พรรคแกนนำร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐสามารถรวบรวมพรรคเล็กตัดหน้าคู่แข่งเพื่อตั้งรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เช่นคราวการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กล่าวกับสื่อมวลชนในวันจันทร์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. จะใช้สูตรหาร 100 ตามญัตติที่รัฐบาล และ กกต. เสนอ ซึ่งจะมีเวลา 25 วันในการทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหลายจะต้องพิจารณาให้เสร็จใน 180 วัน ถ้าไม่เสร็จก็ต้องใช้ร่างที่ได้เสนอไป ซึ่งตอนเข้าสภามีมติให้ใช้ร่างรัฐบาลเป็นหลัก ตัวนี้ก็จะเป็นฉบับหลักที่จะนำขึ้นทูลเกล้าต่อไป มีเวลา 25 วัน ฉะนั้น บริหารจัดการได้ตามนี้” นายวิษณุ กล่าว

ด้าน นายสมคิด เชื้อคง ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้คะแนนเสียงแบบแลนด์สไลด์ด้วยการชูลูกสาวนายทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับสูตรหาร 100

“พรรคเพื่อไทยได้พูดตลอดว่า เราไม่ร่วมสังฆกรรม และเราไม่เห็นด้วยกับขบวนการที่จะเอาหาร 500 ในบัญชีรายชื่อ ที่มันขัดทั้งหลักการ ขัดทั้งรัฐธรรมนูญ ก็ยืนยันว่าเราจะต้องกลับไปร่างเดิม ร่างของ ครม. (คณะรัฐมนตรี) เราพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ปิดบัง และยับยั้งกฎหมายฉบับนี้” นายสมคิด กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ. ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งเป็นผู้เสนอสูตรหาร 500 ไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์ในวันนี้ และยืนยันว่าตนเองจะรวบรวมรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ให้ครบ 75 คน เพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าสูตรหาร 100 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ภายในวันศุกร์ที่จะถึง

สำหรับนักวิเคราะห์การเมืองแล้ว เชื่อว่าการใช้สูตรหาร 100 จะทำให้การเลือกตั้งตรงไปตรงมา ทำให้พรรคใหญ่ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ได้

“การใช้สูตรหาร 100 จะทำให้การเลือกตั้งตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์กับพรรคใหญ่มากกว่า อาจเกิดแลนด์สไลด์ได้ ข้อดีคือมันเข้าใจง่าย แต่คะแนนเสียงตกน้ำไปค่อนข้างเยอะ เพราะผู้ที่ได้อันดับสองแบบแบ่งเขต ต่อให้คะแนนสูสีแค่ไหนก็สูญเปล่า” ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“ส่วนสูตรหาร 500 อาจทำให้เกิดกลยุทธ์พรรคสำรอง พรรคเครือข่ายเพื่อไม่ให้ถูกเพดาน ส.ส. พึงมีจำกัดไว้ คนที่ได้ประโยชน์จากสูตรหาร 500 คือ พรรคระดับกลาง ไม่ใช่พรรคใหญ่ เพราะแม้จะเกิดเหตุการณ์แลนสไลด์ ก็จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์” ดร. ณัฐกร อธิบาย

สูตรหาร 100 คือ การนำคะแนนเสียงเลือกตั้งบัญชีรายชื่อทั้งหมดในประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย 100 จะได้จำนวนคะแนนเสียงต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนลงคะแนนเสียงบัญชีรายชื่อทั้งหมดในประเทศ 1,000,000 เสียง เมื่อนำมาหารด้วย 100 เท่ากับว่าพรรคที่ได้คะแนนเสียงบัญชีรายชื่ออย่างน้อย 10,000 เสียง ก็จะได้ ส.ส. 1 คน ถ้าพรรค ก. ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 100,000 เสียง จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 10 คน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 รัฐสภามีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปรับรูปแบบการเลือกตั้งไปใช้บัตร 2 ใบ สำหรับ ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยให้เพิ่มจำนวน ส.ส. เขต จาก 350 คนเป็น 400 คน และลด ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 150 คนเหลือ 100 คน และเปลี่ยนวิธีคำนวณสัดส่วน ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรัฐสภาได้บรรจุวาระเพื่อพิจารณาการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565  

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส.ส. ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเคยยื่นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 2563 ซึ่งสามารถผ่านความเห็นชอบในวาระ 1 และ 2 มาได้ แต่เมื่อถึงวาระที่ 3 ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาออกเสียงไม่เห็นชอบทำให้ร่างทั้งหมดตกไป ในเดือนมิถุนายน 2564 จึงมีการยื่นญัตติใหม่ 13 ร่าง แต่ผ่านความเห็นชอบวาระที่ 1 เพียง 1 ร่าง ที่นำมาสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งในครั้งนี้

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง