ก้าวไกลมีมติไม่โหวตให้ตัวแทนพรรคเพื่อไทยเป็นนายก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.08.15
กรุงเทพ
ก้าวไกลมีมติไม่โหวตให้ตัวแทนพรรคเพื่อไทยเป็นนายก นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล พูดคุยกับสื่อมวลชนหลังจากการประชุมพรรคและมีข้อสรุปว่าจะไม่สนับสนุนตัวแทนพรรคเพื่อไทยเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 15 สิงหาคม 2566
พรรคก้าวไกล

ในวันอังคารนี้ พรรคก้าวไกลได้แถลงมติการประชุมพรรคว่า สส. ของพรรคจะไม่สนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน ตัวแทนพรรคเพื่อไทย นายกรัฐมนตรีเนื่องพรรคร่วมรัฐบาลเกือบทั้งหมดมาจากรัฐบาลเดิม 

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวกับสื่อมวลชนหลังการประชุม สส. ก้าวไกลว่า พรรคมีมติเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม หรือ 21 สิงหาคม 2566 นี้แล้ว 

“ที่ประชุม สส. ของพรรคก้าวไกล มีมติว่า สส. ของพรรคก้าวไกลจะไม่โหวตให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้วที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เพราะพรรคก้าวไกลต้องการแสดงท่าทีว่าเราไม่ต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล ในลักษณะที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้” นายชัยธวัช กล่าว 

นายชัยธวัช ระบุเหตุผลโดยละเอียดว่า 1. การตั้งรัฐบาลครั้งนี้มีพรรครัฐบาลขั้วเดิมเกือบทั้งหมด ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ต้องการพลิกขั้วรัฐบาล, 2. ถ้าก้าวไกลโหวตให้แคนดิดเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทย จะไม่ใช่การปิดสวิตช์ สว. แต่เป็นการทำตามความต้องการ สว. และพรรครัฐบาลเดิมที่ต้องการปิดสวิตช์ก้าวไกล และ 3. การตั้งรัฐบาลที่เกรงใจอำนาจ จะไม่สามารถผลักดันวาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชน 

ด้าน นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เพื่อไทยจะเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเชื่อว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภามากกว่า 375 เสียง โดยมติของก้าวไกลเป็นสิทธิที่กระทำได้ และเพื่ิอไทยได้ประเมินไว้ก่อนแล้ว 

“เราไม่มีท่าทีใดจริง ๆ เพราะเราถือเป็นวิถีทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างมีความคิดความเห็น เป็นของพรรคของตนเอง เราก็เคารพการตัดสินใจของแต่ละพรรค ในมิติทางการเมือง พรรคเพื่อไทยเราสามารถทำการเมืองได้กับทุกพรรค ทุกมิติ จะมีความขัดแย้งแตกแยกกันหรือไม่ ขอตอบด้วยความจริงใจว่าไม่มี”​ นพ. ชลน่าน กล่าว 

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พรรคที่ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยจะถูกนำมาพิจารณาในการได้ตำแหน่งในรัฐบาล 

“ถ้าใครโหวตให้เราก็ขอบคุณ ก็อยู่ในสมการเราจะไปพิจาณา แต่ไม่มีข้อตกลงอะไร ถ้าไม่โหวตให้จะอยู่นอกสมการ ก่อนโหวตน่าจะมีความชัดเจน” นายภูมิธรรม กล่าว 

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปิดเผยว่า จะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดบ้าง จะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างไร และจะได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. หรือไม่ 

ต่อมติของพรรคก้าวไกล ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหนือความคาดหมาย และยังไม่มั่นใจว่านายเศรษฐาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ 

“จากข้อมูล และการดิสเครดิตที่เกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ที่คุณเศรษฐาอาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ฉากทัศน์ต่อไปคือภูมิใจไทยอาจได้รับส้มหล่นในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จากนี้ คือจุดเริ่มต้นความขัดแย้งของเพื่อไทยและก้าวไกลอย่างเป็นทางการ อาจนับการแยกขั้ว รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ทางประวัติศาสตร์ เป็นจุดเริ่มต้นของพรรคที่จะแย่งชิงพรรคการเมืองอันดับหนึ่งของไทยในอนาคต” ดร. เอียชา กล่าว 

ความวุ่นวายการตั้งรัฐบาล 

หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จบสิ้นลงไม่นานนัก ก้าวไกลได้จับมือกับเพื่อไทย และพรรคอื่น ๆ รวมทั้งหมด 8 พรรค โดยได้ลงนามในเอ็มโอยู และสัญญาว่าจัดตั้งรัฐบาลด้วยกัน และเสนอชื่อนายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประสบอุปสรรคเพราะตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย 

ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล 

ต่อมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค 

ในที่สุด เพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีก้าวไกลรวมอยู่ด้วย โดยได้รวบรวมพรรคภูมิใจไทย, ชาติพัฒนากล้า, เพื่อไทยรวมพลัง, ประชาชาติ, เสรีรวมไทย, พลังสังคมใหม่, ท้องที่ไทย และชาติไทยพัฒนา เข้ามาเป็นพวก มีเสียงสนับสนุน 238 เสียง 

โดยต่อมา นายไผ่ ลิกค์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ก็ประกาศว่า สส. 40 คนของพรรค พร้อมที่จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพื่อไทยโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการ 

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง