เพื่อไทยแถลงสลัดก้าวไกลตั้งรัฐบาล
2023.08.02
กรุงเทพ
นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอแยกตัวจากการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคก้าวไกล เพราะนโยบายการแก้ไขกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ของพรรคก้าวไกลเป็นอุปสรรคต่อการหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและจากสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มเติม ในการโหวตนายกรัฐมนตรี
นพ. ชลน่าน แถลง ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ เพื่อไทยยังไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนได้เกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา
“พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกลขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน ขอยืนยันชัดเจนว่าเราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม” นพ. ชลน่าน กล่าว
ในตอนหนึ่ง นายชลน่าน กล่าวว่า “พบว่านโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกรณี”
ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะได้เสียง สส. สนับสนุนเกิน 250 เสียง แต่ยังไม่ระบุว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดบ้าง ซึ่งเพื่อไทยจะแถลงความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาลในช่วงบ่ายวันที่ 3 สิงหาคม 2566
“(คะแนนเสียง สส.) ก็เกินครึ่ง (ของสภาผู้แทนราษฎร) สามารถบริหารประเทศได้ คาดว่าจะสามารถแถลงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รายละเอียดทั้งหมด รอดูพรุ่งนี้ได้เลย ส่วนวันเวลา และสถานที่รอดูอีกครั้ง” นายภูมิธรรม กล่าว
เพื่อไทย ได้ระบุว่า รัฐบาลเพื่อไทยมีภารกิจหลัก 2 ข้อคือ 1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยถ้าแก้ไขเสร็จสิ้นจะจัดให้มีการเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน และ 2. เพื่อไทยและพรรคร่วมจะผลักดันนโยบายต่าง ๆ เช่น สมรสเท่าเทียม สุราก้าวหน้า ปฏิรูประบบราชการ และกองทัพ รวมถึงกระบวนการยุติธรรม
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่ายืนยันว่า มีการยกเลิกเอ็มโอยูของ 8 พรรค ที่ตกลงจะตั้งรัฐบาลร่วมกันไปโดยปริยาย
“เอ็มโอยูไม่มีอีกแล้ว... เหตุผลที่แท้จริงก็อย่างที่พรรคก้าวไกลเคยชี้แจงไปหลายครั้งว่าเรื่อง 112 เป็นเพียงแค่ข้ออ้าง ฝ่ายการเมืองจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่า ไม่ได้ต้องการที่จะเห็นพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล แล้วก็หลาย ๆ พรรค... พูดชัดเจนครับว่าไม่ต้องการที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวทางการทำงานการเมืองไม่ตรงกับพรรคก้าวไกล” นายชัยธวัชกล่าวกับสื่อมวลชน
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลแสดงความไม่พอใจประท้วงที่พรรคเพื่อไทยประกาศสลัดพรรคก้าวไกลจากกลุ่มพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ วันที่ 2 สิงหาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
ในวันเดียวกัน หน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ใช้รถเครื่องเสียงปราศรัยเรียกร้องให้เพื่อไทยและก้าวไกล จับมือกันร่วมรัฐบาลต่อไปเพราะเป็นการเคารพเสียงประชาชน
“เราอยากให้เพื่อไทยกับก้าวไกล ต้องไม่ไปแต่งงานกับเผด็จการ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ เราขอให้เขา เป็นโสดกันสัก 8 เดือนเพื่อให้ สว. มันตาย ทำได้ไหม ทั้งที่จริง ๆ มันควรตายไปตั้งนานแล้ว” นายชาติชาย แกดำ แกนนำการชุมนุม กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยนั้น เป็นเรื่องสิ่งที่คาดการณ์ไว้ และเชื่อว่าเพื่อไทยจะหาเสียงได้ครบ 375 เสียง
“ต้องยอมรับว่าไม่เซอร์ไพรส์ แม้แกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนจะออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่กรรมการบริหารของพรรค การตัดสินใจในวันนี้ มาจากกรรมการบริหารของพรรค ซึ่งพูดให้ถึงที่สุดคือเขาก็หวังว่านโยบายจะถูกใจประชาชนหลังจากการตั้งรัฐบาล และพร้อมรับเสียงก่นด่าในช่วงนี้” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“หาได้ครบ 375 เสียงแน่นอน และเป็นไปได้มากว่าจะมาร่วมทั้งฝั่งของอนุทินและประวิตร ซึ่งถ้าได้สองคนนี้มา เสียง สว. ก็ไม่ยากแล้ว และแน่นอนว่าต้องมีตำแหน่งทางการเมืองตอบแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วย เงื่อนไขสองข้อที่ทำให้เพื่อไทยมั่นใจว่าการตัดสินใจในครั้งนี้จะเป็นผลดีคือหนึ่ง การพาทักษิณกลับบ้านให้สำเร็จ และสองคือทำทุกนโยบายที่จะสร้างความนิยมให้สำเร็จทั้งหมด” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนผู้สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างนายกฤติน ลิขิตปริญญา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่ารู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น
“หลังฟังแถลง ก็รู้สึกว่าเพื่อไทยทอดทิ้งคำพูดตัวเองว่าจะไม่แยกจากกันกับก้าวไกล หลอกประชาชน รู้สึกว่าเราโดนโกหก เราเคยวาดกันเอาไว้ว่าชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย คือการที่เพื่อไทยขึ้นเป็นรัฐบาล แต่ผมไม่ได้ฝันแบบนั้นอีกแล้วครับ” นายกฤติน พนักงานบริษัทเอกชนในสมุทรปราการ กล่าว
ความวุ่นวายการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย-ก้าวไกล
หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกลและเพื่อไทย จับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค จัดตั้งรัฐบาลโดยมี สส. 312 คน จาก สส. ทั้งหมด 500 คน เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ สว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ในการเลือกนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาออกเสียงเห็นชอบให้นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของรัฐสภาที่มีทั้งหมดในปัจจุบัน ทำให้นายพิธายังไม่ผ่านความเห็นชอบได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมา ก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้เพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล
ต่อมา เพื่อไทยได้เชิญพรรคภูมิใจไทย, รวมไทยสร้างชาติ, ชาติพัฒนากล้า, พลังประชารัฐ และชาติไทยพัฒนา มาหารือ ณ ที่ทำการพรรค เพื่อหาแนวทางจัดตั้งรัฐบาล และหลังการพูดทั้ง 5 พรรคได้แสดงจุดยืนว่าไม่พร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแก้ไข ม.112 ซึ่งหมายถึงพรรคก้าวไกล สร้างความตึงเครียดระหว่างสองพรรค
แต่เดิมการเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาครั้งที่ 3 ถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม แต่ถูกเลื่อนออกไปก่อน เพื่อรอฟังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องให้วินิจฉัยว่า การที่รัฐสภาไม่ให้มีการเสนอชื่อ นายพิธาชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 กรกฎาคม เพราะเห็นว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ เป็นการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
อย่างไรก็ตาม รัฐสภาได้มีจดหมายข่าวระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจมีคำวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวในวันที่ 3 สิงหาคม และรัฐสภาอาจสามารถจัดประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ซึ่งเพื่อไทยยืนยันว่า หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์นี้จริง ก็เชื่อว่านายเศรษฐา จะได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน