พิธา ยืนยันโอนหุ้นไอทีวีแล้ว ไม่กังวลเรื่องสู้คดี
2023.06.06
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ชี้แจงในวันอังคารนี้ว่า ตนเองได้โอนหุ้นไอทีวีแล้ว และยืนยันว่า ไม่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการถูกร้องเรื่องคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเด็นถือหุ้นบริษัทสื่อมวลชน
สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) การถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชนว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบัน กกต. ยังไม่ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ล่าสุด นายพิธา ชี้แจงบนเฟซบุ๊กเพจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า มีความพยายามทำให้กรณีการถือหุ้นไอทีวีของตนเองมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ตนจึงโอนหุ้น และพร้อมที่ต่อสู้เรื่องนี้
“ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้นไอทีวีนั้น บริษัท ไอทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใด ๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ไอทีวี จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด"
"กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันกับทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใด ๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด” นายพิธา กล่าว
นายพิธา เป็นบุตรชายของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ นักธุรกิจ และอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อนายพงษ์ศักดิ์เสียชีวิตใน ปี 2549 นายพิธาจึงต้องเป็นผู้ดูแลธุรกิจ และหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่บิดาเคยครอบครอง โดยในจำนวนนั้นมีหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน อยู่ด้วย
นายพิธา ชี้ว่า มีความพยายามทำให้ บริษัท ไอทีวี กลับมามีสถานะเป็นบริษัทสื่อมวลชนอีกครั้ง เนื่องจากพบว่า ในการส่งงบการเงินของบริษัทในปี 2563-2564 ไอทีวี ระบุประเภท สินค้า/บริการว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” แต่ในปีบัญชี 2565 กลับระบุประเภทสินค้า/บริการว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” แม้ไม่ปรากฏรายได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งนายพิธามองว่าเป็นความพิรุธ
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนาม บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550
โดยจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นบริษัท เนื่องจาก คดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินอยู่
ในวันเดียวกัน นายเรืองไกร ในฐานะผู้ร้อง ได้เข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีของนายพิธา กับ กกต. และกล่าวกับสื่อมวลชนว่า “คุณพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไอทีวีมา 16 ปี อันนั้นหลักฐานมันปรากฏชัดและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แล้วถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้นปรากฏอยู่ ณ 26 เมษา 66”
ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกรได้ยื่นเอกสารของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่ระบุว่า นายพิธา ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด 42,000 หุ้น เพื่อให้ กกต. ตรวจสอบว่ากรณีนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) เรื่องคุณสมบัติ ส.ส. หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ในวันนี้
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล โบกมือให้กับผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่เดินทางมาให้กำลังใจ หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (สุรินทร์ พิณสุวรรณ/เบนาร์นิวส์)
ในประเด็นเดียวกัน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กเพจว่า การที่นายพิธาออกมาเปิดเผยว่า ได้โอนหรือขายหุ้นไปแล้ว ไม่น่าจะมีประโยชน์ต่อกรณีที่ถูกร้อง
“ตามมาตรา 98(3) หากผิด ก็ยังคงผิด เนื่องจากเป็นคุณสมบัติที่นับในวันสมัคร โดยพรรคก้าวไกล สมัครบัญชีรายชื่อ วันที่ 4 เมษายน ซึ่งก่อนวันขายหุ้น พิธา ไม่น่าขาดคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากกระบวนการลงมติเลือกยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็อาจมีการตีความจากฝ่ายตรงข้าม ว่า ต้องนับคุณสมบัติตั้งแต่วันเสนอชื่อ 4 เมษายน 2566"
"การขายหุ้นหลังจากสมัคร จึงไม่น่าจะเกิดประโยชน์ในรูปคดี เพราะผิดก็ยังคงผิด หากไม่ผิด ก็คือไม่ผิด แต่การขายทำให้คล้ายว่า เรายอมรับว่าน่าจะผิด เลยขายทิ้งก่อนเลือกนายก ฯ” นายสมชัย ระบุในวันอังคาร
ด้าน ดร. ธัชชนก สัตยวินิจ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ระบุว่า เรื่องหุ้นไอทีวีมีหลากหลายความเห็น แต่ในทางกฎหมาย ยังนับว่ามีช่องให้ต่อสู้เยอะพอสมควร
“ถ้าพิธาและพรรคร่วมรัฐบาล สามารถเจรจากับผู้มีอำนาจหลัก ๆ ของชาติได้ เชื่อว่ากรณีหุ้นไอทีวี แทบจะไม่มีผลใด ๆ เลย เรื่องนี้ต้องพูดกันเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของกระบวนการยุติธรรม”
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า นายธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่านิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่นายธนาธรจะได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ก็ตาม