สภาอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก ส.ส.รัฐบาลค้านอภิปรายพาดพิงสถาบันฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.02.16
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
สภาอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก ส.ส.รัฐบาลค้านอภิปรายพาดพิงสถาบันฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนเริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยฝ่ายค้านกำหนดญัตติอภิปรายรัฐมนตรีรวม 10 คน ที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564
เอพี

ในวันอังคารนี้ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยฝ่ายค้านกำหนดญัตติอภิปรายรัฐมนตรีรวม 10 คน ในการอภิปราย 4 วัน และจะมีการลงมติในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดยฝ่ายค้านเริ่มอภิปรายด้วยประเด็นการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และบ่อนการพนันผิดกฎหมาย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เริ่มต้นในช่วงเช้า โดยมีญัตติอภิปรายโดยสรุปคือ 1. พล.อ.ประยุทธ์ ในประเด็นการบริหารงานล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ทุจริต โดยเฉพาะช่วงการระบาดของโควิด-19 และการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเกราะปิดบังความผิดพลาด 2. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในประเด็นทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล สร้างความร่ำรวยให้พวกตนเอง 3. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นบริหารงานล้มเหลว ใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ 4. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในประเด็นความผิดพลาดบกพร่อง ในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 5. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในประเด็นบริหารงานล้มเหลว บกพร่อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

6. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นไม่ซื่อสัตย์ แสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง และขาดคุณธรรมจริยธรรม 7. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในประเด็นปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมแรงงานข้ามชาติ จนเกิดผลกระทบเรื่องการระบาดของโควิด-19  8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในประเด็นขาดภาวะผู้นำ แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ปล่อยปละละเลย และทุจริต 9. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในประเด็นเห็นแก่ประโยชน์พวกพ้อง เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาด และสมคบกันทุจริต และ 10. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในประเด็นปกปิดความจริงในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล รวมถึงความไม่เหมาะสมในการตั้งภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง

เมื่อเริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านได้อ่านญัตติทั้งหมดต่อที่ประชุม ซึ่งมี ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลหลายคน ยกมือประท้วงโดยชี้ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการ ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ลุกขึ้นพูดต่อที่ประชุมก่อนเริ่มการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ต้องการให้ฝ่ายค้านไม่พูด และอ่านข้ามข้อความในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

“ท่านอ่านข้ามได้ไหมครับ ท่านอ่านข้ามในญัตติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งหมด ผมคิดว่าการประชุมในวันนี้จะราบรื่น และจะเป็นไปด้วยดี… ถ้าท่านทำได้ก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับการอภิรายในครั้งนี้” นายวิรัช กล่าว

โดยสิ่งที่นายวิรัช ระบุคือ ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีข้อความว่า “ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง”

ด้าน นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ชี้แจงว่า การเอ่ยถึงญัตติที่ได้ผ่านการวินิจฉัยโดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ไม่ถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และขัดข้อบังคับ

อย่างไรก็ตาม ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ระบุว่า สามารถอ่านญัตติได้ เนื่องจากผ่านการวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดข้อบังคับ นายสุทิน จึงได้เริ่มอภิปรายถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องการควบคุมโควิด-19

“โควิด การสกัดยับยั้งวันนี้ยังไม่ได้ผล เยียวยามีปัญหามาก วัคซีนสิ คือคำตอบ… ไทยวันนี้ยังไม่ได้ คำตอบชัดเจนก็คือได้ช้ากว่าเขาด้วย ผลิตเองก็ยังไม่ได้ เมื่อไหร่จะได้ก็ไม่รู้ ซื้อเขา วันนี้ประเทศไทยไม่สามารถซื้อวัคซีนได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้มัดจำเขา… ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจตรงกันหมด ประเทศไทย เป็นประเทศที่เศรษฐกิจน่าห่วง ต้องยอมรับว่า ท่านนายกฯ โชคดี มีโควิดอย่างเดียวท่านอ้างได้ทุกเรื่อง แต่เป็นโชคร้ายของประชาชน หลบบังด้วยข้ออ้างข้อนี้” นายสุทิน กล่าวในการอภิปราย

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาบ่อนการพนัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของการระบาดของโควิด-19

“ตลอดระยะเวลาที่ท่านบริหารประเทศมา ประเทศชาติบ้านเมืองเราไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ล้มเหลวไปหมด นายกฯ เรามีความรู้ความสามารถหรือเปล่า แค่บ่อนการพนันแค่เนี้ย หมดปัญญาแล้ว ถึงกลับกล้าพูดออกมาว่า 100 นายกก็ทำไม่ได้ ท่านมีพฤติการณ์ทุจริต ฉ้อฉล โดยการแต่งตั้งข้าราชการเข้าไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการสมคบคิดกับเจ้าของบ่อนการพนัน แล้วก็มีการปล่อยปะละเลยให้มีบ่อนการพนันจนเป็นเหตุให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด” พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ต่อประเด็นที่ถูกอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนเองในฐานะนายกรัฐมนตรีพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา และไม่เคยทุจริต

“เรื่องการบริหารสถานการณ์แก้ปัญหาโควิด หรือปัญหาบ่อนการพนัน การพนันออนไลน์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ ท่านกล่าวหาผม ผมเรียนว่า สิ่งที่ผมทำในฐานะนายกรัฐมนตรี ตรงกันข้ามสิ้นเชิง กับข้อกล่าวหาข้างต้น ผมทราบดีว่าการพนันเป็นสิ่งที่ควรกำจัดให้หมดสิ้นไป… ใครที่กล่าวหาว่าผมรับประโยชน์ บาทเดียวผมก็ไม่เกี่ยวข้อง เงินชั่ว ๆ ไม่รับ รับแต่สิทธิประโยชน์ของผมตามกฎหมายเท่านั้น… จะกล่าวอ้างว่าใครผิดใครถูกโน่น ไปกระบวนการยุติธรรมโน่น ไปฟ้องร้อง แล้วก็ต่อสู้คดีกันไป พูดในสภา มันก็พูดได้ตลอด ทุกเรื่อง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับ รัฐบาลโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยในครั้งนั้นมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และ 5 รัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 6 ราย ได้รับการไว้วางใจจากรัฐสภา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 49 เสียง และ งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 323 เสียง

นักวิชาการชี้การอภิปรายแทบไม่มีผลกับเสถียรภาพรัฐบาล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การอภิปรายไม้ไว้วางใจครั้งนี้ อาจไม่มีผลกับเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายหาหลักฐานในการชี้มูลความผิดยากในระบบกลไกสภา

“ประเด็นการอภิปรายครั้งนี้ หาหลักฐานยากมากในการที่จะบอกว่าฝ่ายรัฐบาลมีความผิดตามข้อกล่าวหา เช่น เป็นผู้มีอิทธิพล แสวงหาผลประโยชน์ให้พวกพ้อง หรือการทุจริต ประเด็นเหล่านี้หาหลักฐานยากในการชี้มูลความผิด หากหลักฐานไม่แข็งแรงพอ ก็ยากที่จะนำไปสู่การถอดถอน” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์

“จริง ๆ รัฐบาลชุดนี้อยู่รอดได้ด้วยความชอบธรรมประการหนึ่ง คือความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เข้ามาเกื้อหนุนการมีอำนาจของรัฐบาล ในลักษณะที่ว่าเป็นรัฐบาลที่ดีและไม่โกง ฉะนั้นเมื่อฝ่ายค้านจะเล่นประเด็นเรื่องการทุจริต หลักฐานจึงต้องชัดเจนมาก ฉะนั้นที่รัฐบาลมีท่าทีไม่ยินยอมให้แต่ละญัตติกล่าวอ้างถึงสถาบันฯ เพราะอาจส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และความนิยมทั้งหมดที่ประชาชนมีต่อรัฐบาล” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม

รุ้งยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง 5 หน่วยงานขอความเป็นธรรมให้ผู้ชุมนุม

ในวันเดียวกัน น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำกลุ่มราษฎร ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกขอความเป็นธรรมให้กับผู้ชุมนุมซึ่งถูกฝากขังในเรือนจำระหว่างรอการต่อสู้คดี ม.112 ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม โดยได้ยื่นจดหมายฉบับเดียวกันต่อ 5 หน่วยงานคือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ขอเรียกร้องให้มีการอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองทั้งหมด และขอเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนหน่วยงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม และคำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชนเท่านั้น” น.ส. ปนัสยา อ่านตอนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึก

การยื่นจดหมายครั้งนี้ สืบเนื่องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564  นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายอานนท์ นำภา, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาคดีตามความผิด 11 ข้อหา รวมถึง ม. 112 จากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง และศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งหมดจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ จนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง