ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตีความประยุทธ์อยู่เกินแปดปี
2022.08.17
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และขอให้มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้ นายแพทย์ชลน่าน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สมาชิกพรรคร่วมฝ่ายค้านได้เข้าชื่อรวมกัน 171 รายชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ผ่านทางประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของนายกรัฐมนตรีหลังจากดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2557 และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดิน
“ผมมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่ใช้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เข้ามาเป็นองค์ประกอบในการวินิจฉัย และข้อเท็จจริงจะมีผลมาก เพราะสิ่งที่เจตนารมณ์เขียนไว้คือว่า อยู่ยาว ผูกขาดอำนาจ เกิดวิกฤตการเมือง สามเรื่องนี้มันจะเป็นเรื่องที่ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบขึ้นมาดู” นายแพทย์ชลน่าน กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา
“ถ้าเกิดการอยู่ยาว เกิดกระแสต่อต้าน ขัดแย้ง แล้วทำให้บ้านเมืองเราไปไม่ได้ มันก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่จะประกอบการวินิจฉัย” นายแพทย์ชลน่าน กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับหนังสือ และระบุว่า หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อว่าครบหรือไม่ ลายมือชื่อตรงกันหรือไม่ โดยอาจตรวจสอบเสร็จในเวลาประมาณ 1-2 วัน เมื่อครบถ้วนก็จะได้ส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้เลย
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากผู้สื่อข่าวในกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตน ในก่อนหน้านี้ โดยระบุเพียงว่า “ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน่น”
กลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตรังสิต เรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วันที่ 10 สิงหาคม 2565 (อาทิตย์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์)
เส้นทางสู่ทำเนียบ
ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หลังจากนำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
จากนั้น ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2562
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ มีความเป็นไปได้ใน 3 แนวทาง คือ หนึ่ง ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการแต่งตั้งเมื่อปี 2557 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 23 สิงหาคม 2565, สอง ให้นับวาระตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ เมื่อปี 2560 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 8 มิถุนายน 2570 และสาม ให้นับวาระการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งจะทำให้ครบวาระในวันที่ 5 เมษายน 2568
นอกจากฝ่ายค้านแล้ว ก่อนหน้านี้ ได้มีกลุ่มบุคคลได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้เช่นกัน
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ต.ท. กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกมาระบุว่า เบื้องต้นทางผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติรับคำร้อง และได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าน่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน และมีคำวินิจฉัยออกมาได้ภายในสัปดาห์นี้
และเมื่อวานนี้ กลุ่มอาจารย์นิติศาสตร์จำนวน 51 คน จาก 15 มหาวิทยาลัย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสนอความเห็นในการพิจารณาวาระ 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยอ้างมาตรา 158 วรรค 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560 ว่า นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ ...
“ข้าพเจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้นำเสนอความเห็นทางกฎหมายในเรื่องนี้ต่อท่านประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ด้วยความตั้งใจเพียงประการเดียวคือ ให้ประเทศไทยยึดถือหลักการปกครองโดยกฎหมายให้มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา เพราะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองนั้น ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากฝ่ายตุลาการ... จะต้องเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจ ที่ฝ่ายตุลาการต้องใช้อำนาจตุลาการในการควบคุม ซึ่งในกรณีนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี” จดหมายระบุ
ด้าน นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะยังได้ดำรงตำแหน่งต่อหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“หลายคนคงรู้กันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาให้ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกวาระ โดยเฉพาะเรื่อง ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งได้ 5 ปี ฉะนั้นผมไม่คิดว่ากรณีนี้จะทำให้ประยุทธ์ต้องหมดวาระลงง่าย ๆ” นายปิยะพงษ์ ระบุ
“การที่ศาลจะตีความให้ประยุทธ์หมดวาระในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ เอาเข้าจริง ๆ เป็นสถานการณ์ที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นยากมาก” นายปิยะพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์