นักข่าวร้องศาลยกเลิกข้อกำหนดรัฐ ดำเนินคดี-ตัดเน็ตสื่อ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ
2021.08.02
กรุงเทพฯ
ตัวแทนสื่อออนไลน์รวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในวันจันทร์นี้ เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซึ่งระบุว่า จะดำเนินคดี และตัดอินเทอร์เน็ตของผู้ที่เผยแพร่ข่าว ซึ่งอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว หรือข่าวปลอม เนื่องจากเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการพยายามลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน รวมถึงเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาปิดกั้นสื่อ ขณะที่นักวิชาการชี้ รัฐควรเร่งแก้ไขปัญหาโควิด-19 แทนที่จะปิดปากสื่อ
ตัวแทนจากสำนักข่าว The Reporters, Voice TV, The Standard, ประชาไท และอื่น ๆ รวม 12 คน พร้อมด้วยทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางไปยังศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ในเวลา 10.00 น. เพื่อยื่นฟ้องศาลในคดีเลขที่ พ.3618/2564 ขอให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 29) รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉิน
นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวหลังยื่นฟ้องต่อศาลว่า โจทก์ทั้ง 12 คนยื่นฟ้องครั้งนี้เพื่อให้ศาลเพิกถอนข้อกำหนดที่ 29 เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อหลักกฎหมาย
“กำหนดในลักษณะที่ว่า ห้ามมิให้นำเข้าในข้อความที่อาจทำให้ประชาชน เกิดความหวาดกลัว ซึ่งการกำหนดแบบนี้ ทางเรามองว่า มันขัดต่อหลักของกฎหมายอาญา เพราะกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอนไม่คลุมเครือ หรือกำกวม การกำหนดแบบนี้ อาจทำให้ตีความได้ว่า แม้นำเข้าความจริง หรือนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง ก็อาจเป็นความผิดตามข้อกำหนดฉบับนี้ และผิดพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้"
"การกำหนดให้ปิดกั้นการให้บริการอินเทอร์เน็ต เรื่องนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” นายนรเศรษฐ์ กล่าว
ด้าน น.ส. ฐปณีย์ เอียดศรีไชย จาก The Reporters กล่าวว่า สื่อมวลชนเข้าใจดีถึงหลักการการตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร แต่ข้อกำหนดของรัฐบาลกระทบต่อเสรีภาพของประชาชน
“เรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง เราไม่หวาดกลัวต่อข้อกำหนดนี้ด้วยซ้ำ แต่เราออกมาเพื่อจะร่วมกันปกป้อง สิทธิของทุกคนมากกว่า ไม่อยากเห็นบรรยากาศที่คนไปขอความช่วยเหลือจากใครแล้วไม่มีใครสนใจ ยิ่งมาปิดกั้นไม่ให้สื่อนำเสนออีก เขาจะไปร้องขอความช่วยเหลือจากที่ไหน… ในภาวะสถานการณ์แบบนี้ รัฐควรให้ประชาชนได้มีพื้นที่ในการร้องขอความช่วยเหลือ รักษาชีวิตของตัวเอง” น.ส. ฐปณีย์ กล่าว
ในวันเดียวกัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า ข้อกำหนดดังกล่าวมิได้ต้องการใช้จัดการกับสื่อมวลชนอาชีพ และรัฐพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นสื่อมวลชน
“เจตนาสำคัญ (ของข้อกำหนด) เพื่อดำเนินการกับผู้ที่ทำตัวเสมือนเป็นสื่อมวลชน หรือสื่อเทียม ไร้สังกัด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และไม่มีองค์กรกำกับตรวจสอบการทำหน้าที่ที่ชัดเจน ซึ่งมักนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ผิดจากข้อเท็จจริง ผ่านบัญชีผู้ใช้งานในเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่พบว่ามีเจตนาตั้งใจบิดเบือนเพื่อหวังผลบางอย่าง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด จนเกิดความหวาดกลัวหรือตื่นตระหนก เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวทางของรัฐบาล ผมจึงขอเชิญผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน หารือในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป” นายชัยวุฒิ กล่าว
การยื่นฟ้องครั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 29) ที่ห้ามการเผยแพร่ข้อมูลที่สร้างความหวาดกลัว หรือบิดเบือนข่าวสาร ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งรัฐบาลอาจสั่งให้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ดำเนินการจัดการระงับการให้บริการ รวมถึงส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินคดี หากเห็นว่าเข้าข่ายความผิด
ก่อนหน้านั้น องค์กรวิชาชีพสื่อ, กลุ่มอาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องค์กรสื่ออื่น ๆ รวมถึงสำนักข่าวหลายแห่งได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อกำหนด และมาตรการที่อาจเป็นการละเมิดเสรีภาพสื่อและประชาชน ด้วยเช่นกัน
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนได้จัดกิจกรรม คาร์ม็อบ โดยขับรถบนท้องถนนในกรุงเทพฯ เพื่อกดดันให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออก เนื่องจากการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ล้มเหลว โดยนอกจากมีกิจกรรมในกรุงเทพฯ ในอีก 30 จังหวัด เช่น ขอนแก่น, เชียงใหม่, อุบลราชธานี, กาญจนบุรี, สุราษฏร์ธานี และยะลา ก็จัดกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน
ต่อมาในวันจันทร์ มีการชุมนุมที่หน้า ตชด. ภาคที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชน 3 รายที่ถูกควบคุมตัวจากการร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในกรุงเทพฯ แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังจัดการกับผู้ชุมนุม และควบคุมตัวกลุ่มประชาชนในนาม “ทะลุฟ้า” ได้อีก 32 ราย ในนั้นรวมนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดินด้วย ตามการเปิดเผยของ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
นักวิชาการแนะ รัฐควรเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 มากกว่าปิดสื่อ
ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ชี้ว่า ข้อกำหนดของรัฐในการควบคุมสื่อไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน
“รัฐอยากจะควบคุมความจริง ให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากรัฐเท่านั้น ซึ่งเหมือนยุคสงครามเย็น สะท้อนให้เห็นว่า รัฐไทยยังคงมองว่าประชาชนด้อยการศึกษาไม่สามารถแยกแยะข่าวและข้อเท็จจริงได้ ตอนนี้โควิดระบาดรุนแรง สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำตอนนี้คือ การกฎหมายให้เอกชนและท้องถิ่นจัดหาวัคซีน จัดการงบสาธารณสุขได้เอง เพื่อให้ชุมชนดูแลตัวเองได้เร็วที่สุด รัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานของราคาวัคซีน และอุปกรณ์การตรวจด้วย เพื่อให้เกิดการตรวจเชิงรุกได้เร็วและทั่วถึงมากขึ้น” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม
และในวันจันทร์นี้ ศบค. เปิดเผยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,970 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 178 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 208,875 ราย ฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้ว 17,866,526 โดส ในนั้นเป็นผู้ที่ฉีดครบสองเข็ม 3,911,439 ราย
ขณะที่ นายซอลีฮีน วันแอเลาะ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า ในสถานการณ์นี้ สื่อต้องทบทวนตัวเองเกี่ยวกับความเหมาะสม และบทบาทในการนำเสนอข่าวด้วยเช่นกัน
“ไม่เห็นด้วยกับการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออก แต่สื่อเองก็ต้องกลับไปตั้งคำถามกับการทำงานของตัวเองเช่นกัน ว่าได้ไปละเมิดใครบ้างหรือเปล่า หรือสร้างข่าวปลอมบ้างไหม เพราะถ้าเกิดขึ้นจริง รัฐบาลก็มีสิทธิที่จะระงับหรือสั่งให้หยุดการเผยแพร่ได้ มีสื่อหลายสำนักเลยที่นำเสนอข่าวด้านเดียว คือ วิจารณ์รัฐบาล ตรงนี้ผมเห็นว่ามันก็ไม่ยุติธรรมกับคนทำงาน แต่รัฐบาลก็ต้องมีความจริงใจที่จะฟังเสียงของผู้ชุมนุมบ้าง ความโกรธและโมโหของม็อบต่าง ๆ อาจจะลดลง” นายซอลีฮีน กล่าว
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน