องค์กรวิชาชีพสื่อร้องรัฐเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน

นายกฯ สั่งหน่วยงานฟ้องสื่อ-ประชาชนที่แพร่ข่าวปลอมหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
นนทรัฐ​ ไผ่เจริญ
2021.07.28
กรุงเทพฯ
องค์กรวิชาชีพสื่อร้องรัฐเลิกจำกัดเสรีภาพสื่อและประชาชน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉีดพ่นเจลล้างมือใส่ผู้สื่อข่าว เพื่อหลีกเลี่ยงคำถามเกี่ยวกับการปรับ ครม. ระหว่างแถลงข่าว ที่กรุงเทพฯ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2564
รัฐบาลไทย/เอเอฟพี

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมในวันพุธนี้ โดยได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อและประชาชน หลังจากที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายฟ้องร้องสื่อมวลชนและประชาชนที่เผยแพร่ข่าวปลอมหรือบิดเบือนข้อมูล

สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ระบุว่า การแสดงออกของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ

“ความพยายามของรัฐบาลที่ข่มขู่และดำเนินคดีกับประชาชน ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ วิพากษ์วิจารณ์การบริหารประเทศในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ย่อมเป็นการแสดงเจตนาที่ชัดเจนที่ต้องการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์

“การอ้างว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ ในการจัดการกับปัญหาสิ่งที่รัฐบาลเรียกว่า ข่าวปลอม หรือ Fake News นั้น เป็นการกล่าวอ้างที่ปราศจากความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวของรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชน อันเป็นผลมาจากการบริหารราชการที่ผิดพลาดของนายกรัฐมนตรีเองทั้งสิ้น... และการเสนอข่าวที่อาจคลาดเคลื่อนในบางครั้งไม่ใช่ความจงใจ” แถลงการณ์ระบุ

ในก่อนหน้านี้สองสัปดาห์ องค์กรวิชาชีพฯ รวมทั้งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เคยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่รัฐบาลเพิกเฉย และยังคงพยายามจะดำเนินแนวทางที่อาจกระทบต่อเสรีภาพสื่อต่อไป

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เขียนข้อความบนเฟซบุ๊กแฟนเพจส่วนตัว ในวันอังคารที่ผ่านมา ระบุตอนหนึ่งว่า “มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือการจงใจตัดต่อบิดเบือนคำพูดเพื่อสร้างความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ทั้งจากสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และผู้ใช้สื่อทั่วไป… ให้กระทรวง DES, ปอท. สตช. ดำเนินการในแนวปฏิบัติจากมาตรการนี้อย่างจริงจังและรวดเร็วยิ่งขึ้น ชัดเจน โปร่งใส เป็นธรรม ดำเนินคดีกับคนผิดได้จริง ๆ โดยเฉพาะผู้ปล่อยรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน คนดัง หรือเพจต่าง ๆ ไม่ใช่จับแค่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น”

ปัจจุบัน มีสื่อมวลชน ผู้มีชื่อเสียง และประชาชน การวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาลถึงประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่อ้างว่ารั่วออกมาจากทางราชการ ที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่ผิดพลาดหรือความไม่ปกติ ซึ่งหลายครั้งรัฐบาลมักเลือกที่จะแถลงว่า ข้อมูลที่เผยแพร่โดยสื่อหรือประชาชนเป็นข่าวปลอม แต่ไม่ได้มีการชี้แจงที่ชัดเจนถึงข้อมูลที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนเองก็เคยมีการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนผิดพลาดเช่นกัน เช่น การนำเสนอข่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ในประเทศไทยมีประสิทธิภาพต่ำ ของไทยพีบีเอส ซึ่งภายหลังไทยพีบีเอสได้แถลงขอโทษ และแก้ไขข้อมูลแล้ว หรือกรณีที่ผู้สื่อข่าวช่องสาม นำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำพูดของ นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่กล่าวถึงนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย ซึ่งภายหลังช่อง 3 ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง และขอโทษต่อความผิดพลาดเช่นกัน โดยทั้ง 2 กรณี เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2564

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม 2564 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ทำการปิด และดำเนินคดีกับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ 18 บัญชี ที่มีพฤติกรรมปล่อยข่าวปลอม โดยตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ เดือนมิถุนายน 2564 นายชัยวุฒิ เผยว่า ได้ขออำนาจศาลปิดบัญชีเฟซบุ๊ก 8 บัญชี โดยในนั้นมีบัญชีของ นายปวิน ชัชวาลพงษ์พันธ์ อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และนายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวรอยเตอร์ประจำประเทศไทย รวมอยู่ด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยอ้างว่า ทั้ง 8 บัญชีเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง หรือมีความผิดตาม ม.112

ด้านนายวีรยุทธ ธีระกมล นักวิจัยปริญญาเอก สาขาการสื่อสารศึกษา มหาวิทยาลัยลัฟบะระ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วยังเป็นการผลักภาระความเข้าใจผิดของประชาชนต่อข่าวสารมาให้กับสื่อมวลชน

“ที่ผ่านมารัฐเองที่เป็นผู้ให้ข้อมูลทั้งที่ถูกและผิด ขณะเดียวกัน คำสั่งและนโยบายต่าง ๆ ที่มาจากหลายส่วน ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้างทั้งความสับสนให้กับสื่อและประชาชน แต่เมื่อเกิดปัญหารัฐบาลกลับโยนภาระให้สื่อมวลชน และใช้คำสำคัญเรื่องข่าวปลอมได้อย่างผิดเพี้ยนไปอีก ต้องยอมรับข้อมูลของรัฐบาลเองก็เป็นปัญหา ไม่ใช่การทำงานของสื่อมวลชนทั้งหมด"

“การที่องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 6 องค์กรออกมาร่วมแถลงการ์และแสดงจุดยืนในครั้งนี้ ผมเห็นว่ามันก็หาได้ยากแล้ว เพราะที่ผ่านมาเราจะเห็นท่าทีที่ไม่ชัดเจนขององค์กรสื่อต่าง ๆ ขออนุญาตไม่พาดพิงสมาคมใดเดี่ยวๆ แต่ในภาพรวมเราก็หวังจะเห็นการโต้ตอบในลักษณะนี้ ส่วนอีกประการซึ่งสำคัญกว่ามาก คือผมเห็นว่าแถลงการณ์ดังกล่าวมันเปรียบเสมือนกับ ‘เสือกระดาษ’... แต่ในความเป็นจริง เราต่างรู้ดีว่ามันไม่สามารถกดดันฝ่ายรัฐบาลเลยแม้แต่น้อย”

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง